สงครามอิสราเอล-ฮามาส นองเลือดยิ่งกว่าครั้งไหน
สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเข้าสู่ “ระยะที่ 2” เมื่อหลายวันก่อนตามคำประกาศของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู พร้อมเตือนว่า “สงครามอันยากลำบากและยาวนาน” กำลังรออยู่ข้างหน้า นักวิเคราะห์มองว่า สงครามครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งใดในอดีต
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน หลังจากกองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ระดมพลครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ได้เข้าสู่ “สงครามระยะที่ 2” ต่อสู้กับฮามาสในฉนวนกาซา ไอดีเอฟโจมตีทางอากาศอย่างหนักเสริมการปฏิบัติการทางบกที่รุกเข้าไปในกาซา
การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเริ่มต้นขึ้นเพื่อตอบโต้ที่กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ “ฮามาส” ที่สหรัฐและสหภาพยุโรปจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายบุกเข้ามาโจมตีทางภาคใต้ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.คร่าชีวิตประชาชนกว่า 1,300 คน จับเป็นตัวประกันอีกกว่า 240 คน ไอดีเอฟใช้ยุทธศาสตร์ตอบโต้เต็มกำลังอย่างที่ทำมายาวนาน เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 9,000 คน ตามข้อมูลหน่วยงานสาธารณสุขกาซาที่ดำเนินการโดยฮามาส
ช่วงหกวันแรกของสงครามกองทัพอิสราเอลเผยเองว่า ทิ้งระเบิดลงกาซา 6,000 ลูก พื้นที่ถูกปิดล้อมแห่งนี้มีขนาดเท่ากับเมืองฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ ไม่กี่วันก่อนกองกำลังทางบกได้เคลื่อนเข้าไปในกาซา
ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารและนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การรุกภาคพื้นดินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอิสราเอลหากต้องการบรรลุเป้าหมายกำจัดฮามาสซึ่งควบคุมฉนวนกาซาให้สิ้นซาก อย่างไรก็ตามถ้าถึงขั้นต้องบุกยืดเยื้อจะยิ่งนองเลือดและสร้างความเสียหายไม่ใช่แค่ผู้คนในกาซาแต่ยังรวมถึงกองทัพอิสราเอลด้วย
เรารู้พวกเขากำลังรอเราอยู่
การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในเมือง อย่างที่กองทัพสหรัฐเรียนรู้ในอิรัก สร้างความท้าทายถึงแก่ชีวิตให้ทหารอย่างที่ไม่เกิดขึ้นกับการโจมตีทางอากาศ
“การสู้รบในเมือง ตายเยอะกว่า นี่คือความจริงทางประวัติศาสตร์ อิรักแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตั้งรับได้เปรียบแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ในเมืองแบบอสมมาตร ในประวัติศาสตร์โลกหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายกองกำลังอาวุธเบาสามารถใช้ภูมิทัศน์เมืองชะลอไว้ในตอนแรก จากนั้นจึงใช้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วคาดเดาไม่ถูก”จิม เว็บบ์ อดีตทหารราบนาวิกโยธินสหรัฐกล่าวและว่า ในกรณีกาซาฝ่ายตั้งรับคือฮามาสซึ่งได้เปรียบเกือบทุกอย่างในการสู้รบภาคพื้นดิน
“ธรรมชาติของเมืองทำให้ผู้โจมตีเข้าไปในทิศทางที่คาดเดาได้ ทั้งยังหมายความว่าการต่อสู้เกิดขึ้นในระยะประชิด การใช้อาวุธสนับสนุน เช่น รถถัง ปืนใหญ่ หรือกำลังทางอากาศทำได้ยากมาก ต่อให้ไม่มีพลเรือนอยู่ในพื้นที่เลยก็ตาม กาซาเต็มไปด้วยพลเรือน และฮามาสสามารถกลมกลืนเข้าไปได้ ผมไม่อิจฉากับงานที่ไอดีเอฟอาจถูกขอให้ทำ” เว็บบ์อธิบาย
ทหารอิสราเอลจะรับมือไม่ได้กับถนนตรอกซอยที่ไม่คุ้นเคย กองเศษซากตึก และเครือข่ายอุโมงค์ของฮามาส ที่ไอดีเอฟเรียกว่า “กาซาเมโทร” ลึกลงไปใต้ดินหลายร้อยฟุต เป็นที่เก็บอาวุธ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ตั้งศูนย์บัญชาการและควบคุมที่ตรวจจับไม่ได้จากเบื้องบน และเป็นไปได้ว่าตัวประกันหลายคนที่ฮามาสลักพาตัวมาจากอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค.อยู่ที่นี่
“เรารู้พวกเขากำลังรอเราอยู่ กาซาบนดินเลวร้ายแค่ไหน ใต้ดินเลวร้ายยิ่งกว่า” ทหารอิสราเอลนายหนึ่งกล่าวกับซีเอ็นบีซีโดยไม่เปิดเผยชื่อ
มีแต่จะนองเลือด
ฮุสเซน ไอบิส นักวิชาการอาวุโส สถาบันรัฐอ่าวอาหรับในวอชิงตันกล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่าฮามาสจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่เขาสงสัยว่าการลากอิสราเอลเข้ารุกรานทางบกยืดเยื้อคือเป้าหมายที่แท้จริงของฮามาส
“ผมว่าพวกเขามีแผนสร้างความเสียหายให้อิสราเอลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ระหว่างการรุกภาคพื้นดิน และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มต่างๆ ของฮามาสอยู่รอดได้ ถ้าอิสราเอลสู้รบกลางเมืองกาซายาวนาน ฮามาสก็สามารถปฏิบัติการกองโจรได้” ไอบิชกล่าว แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะฮามาสเสียหายมากแต่เสี่ยงสูงมากว่าฮามาสจะได้เปรียบเมื่อเวลาผ่านไป
“ฮามาสหวังว่าจะสามารถเด็ดหัวทหารอิสราเอลได้ทีละคนในที่สุดในกลุ่มเล็กๆ ฆ่าและจับตัวพวกเขา ทำให้อิสราเอลตกเลือดอย่างน่าสยดสยอง”
ซีเอ็นบีซีขอความเห็นไปที่ไอดีเอฟยังไม่ได้รับคำตอบ
ด้านเดฟ เดส โรชส์ อาจารย์ศูนย์เอเชียตะวันออกใกล้เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติในกรุงวอชิงตันดีซี ระบุ “ในแง่เกมกลยุทธ์ของอิสราเอล ผมว่ามันยากมาก มันจะไม่เหมือนสงครามปี 67” นักวิชาการรายนี้อ้างถึงสงครามหกวันในปี 1967 ที่อิสราเอลกำราบสามชาติอาหรับเพื่อนบ้านได้อย่างรวดเร็ว แถมได้ดินแดนสี่เท่าของพื้นที่ดั้งเดิม
“ไม่เหมือน มันจะยาวและจะนองเลือด”เดส โรชส์ ย้ำ
ร้อยเอกนายหนึ่งแห่งไอดีเอฟเผยว่า กองทัพอิสราเอลรู้ความเสี่ยงทุกอย่างและเตรียมการไว้แล้ว
“เราพร้อมที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรงถ้าเราเข้าไป แม้ว่าทหารอาจเสียชีวิต แน่นอนเราถูกฝึกมาสำหรับสถานการณ์แบบนี้”
ขณะเดียวกันเดส โรชส์ เชื่อว่า การทำลายขีดความสามารถทางทหารของฮามาสจำเป็นที่ไอดีเอฟต้องเข้าไปควบคุมภาคพื้นดินยึดครองจุดต่อจุด วางแผนทำลายอุโมงค์ยาวกว่า 483 กิโลเมตรที่สร้างมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
แต่นักวิเคราะห์ความขัดแย้งเตือนว่า การขจัดฮามาสในฐานะกองกำลังทางทหารอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นความท้าทายของอิสราเอล หลังจากนั้นคือชาวปาเลสไตน์ราว 2.3 ล้านคนที่ติดอยู่ในกาซาจะอยู่อย่างไร สหประชาชาติถึงกับเรียกว่าหายนะด้านมนุษยธรรม
“เมื่อคุณทำลายกาซา ทำลายฮามาส สมมุติว่าคุณทำได้ คุณจะมีประชาชนแร้นแค้นกว่า 2 ล้านคน ถ้าคุณไม่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น คุณก็จะเจอปัญหานี้อีกใน 5 หรือ 10 ปี” เดส โรชส์กล่าว