ยล ‘อัสตานา’ คาซัคสถาน เมืองแห่งแลนด์มาร์ก
เมื่อพูดถึง “คาซัคสถาน” มักต้องกำกับด้วยคำว่า ประเทศใหญ่สุดในเอเชียกลาง ไม่รู้ด้วยเหตุนี้หรือไม่สังเกตว่าเมืองหลวงกรุงอัสตานาจึงมีการสร้างอาคารที่ได้ชื่อว่า “ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง” หลายแห่ง World Pulse ไปทุกทีก็ได้เจอสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมน่าตื่นเต้นตระการตาไปเสียทุกครั้ง
เริ่มต้นจากเมื่อสี่ปีก่อน World Pulse ได้ไปเยือนกรุงอัสตานาครั้งแรก ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.2562 ในงานประชุมนักเขียนเอเชีย (The First Forum of Asian Countries’ Writers) ที่คาซัคสถานจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเมืองหลวงยังใช้ชื่อว่า “นูร์ซุลตัน” เพื่อเป็นเกียรติแด่ “นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ” ประธานาธิบดีคนแรกของรัฐเอกราชคาซัคสถานหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เจ้าภาพได้นำคณะสื่อมวลชนนานาชาติไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในเมืองหลวงหลายแห่งรวมถึงมัสยิดใหญ่ (Grand Mosque)
ล่วงเข้าเดือน พ.ย.2565 World Pulse มีโอกาสไปเยือนอัสตานาอีกครั้งตอนไปทำข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดี อ่านโปรแกรมเยี่ยมเยือนพบว่ามีการไปเยี่ยมชมมัสยิดใหญ่ด้วย ในใจก็นึกว่า ที่นี่เคยไปมาแล้ว แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นมัสยิดใหญ่แห่งใหม่ ใหญ่กว่าเดิม!!! เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน ส.ค.2565 เป็นมัสยิดใหญ่สุดแห่งเอเชียกลางและใหญ่ติดอันดับท็อปเท็นของโลก พื้นที่รวม 68,062 ตารางเมตร รองรับประชาชนละหมาดได้พร้อมกัน 2.35 แสนคน มีหออะซานสี่เสา ความสูง 130 เมตรโดมใหญ่ยาว 83.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 62 เมตรการตกแต่งภายในใช้พรมทอมือทำจากขนแกะแท้ใหญ่ที่สุดในโลก โมเสกแก้วทำมือ 25 ล้านชิ้น จารึกพระนามอัลเลาะห์ 99 พระนาม ประตูทางเข้าแกะสลักจากไม้เนื้อแข็งแอฟริกา ถือเป็นประตูไม้สูงที่สุดบานหนึ่งของโลก มัสยิดแห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งปฏิบัติศาสนกิจ แต่ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์หรือสนามเด็กเล่น เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของชีวิต (Grand Mosque ภาพโดย Katsuhiro Asagiri)
(บรรยากาศภายนอก)
เดือน ต.ค.ปีนี้ World Pulse ได้ไปเยือนอัสตานาอีกครั้งในงานการประชุมเลขาธิการสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาดั้งเดิมครั้งที่ 21 เมื่อไปงานประชุมเกี่ยวกับศาสนาก็ต้องไปเยี่ยมชมสถานที่เกี่ยวกับศาสนา มัสยิดใหญ่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่คณะผู้สื่อข่าวนานาชาติต้องไป หลายคนเคยมาแล้ว หลายคนเพิ่งมาเป็นครั้งแรก สำหรับ World Pulse คราวก่อนไปตอนหิมะตก คราวนี้ไปช่วงฤดูใบไม้ร่วง ความงดงามแตกต่างกัน ปีนี้ศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ของมัสยิดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ตอกย้ำภาพพื้นที่ชีวิตนอกเหนือจากการเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ
พูดถึงศาสนาแม้ประชากรส่วนใหญ่ 70% ของคาซัคสถานจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่คาซัคสถานมีความหลากหลายในด้านศรัทธาและความเชื่อ คาซัคสถานเป็นรัฐโลกย์วิสัยที่มีถึงเกือบ 18 ศาสนาเด่น ได้รับการรับรองเสรีภาพทางความเชื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ สังคมพหุวัฒนธรรมของคาซัคสถานมีประชากร 19.8 ล้านคน มีศาสนสถาน 3,200 แห่ง สมาคมศาสนาราว 4,000 สมาคม นอกจากมัสยิดใหญ่แล้วกรุงอัสตานายังเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญ (Assumption Cathedral) โบสถ์ออร์โธดอกซ์ใหญ่สุดในเอเชียกลาง (อีกแล้ว) งามตระหง่านด้วยความสูง 68 เมตร ประกอบด้วยห้องนมัสการสามห้อง ห้องหลักสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติการเสด็จสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระแม่มารีย์ผู้บริสุทธิ์ ห้องนมัสการด้านขวา สร้างเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญซิริลและเมโทเดียส ส่วนห้องซ้ายถวายเกียรติแด่อัครทูตไมเคิลและองค์อื่นๆ ห้องนมัสการด้านล่างอุทิศแด่ผู้พลีชีพและผู้สารภาพใหม่แห่งคาซัคสถาน
(อาสนวิหารอัสสัมชัญ ภาพโดย Katsuhiro Asagiri)
อาสนวิหารอัสสัมชัญไม่ใช่ของใหม่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 รองรับประชาชนได้ถึง 4,000 คนที่อลังการมากคือภาพวาดฝาผนังสไตล์ศตวรรษที่ 18 ที่เรียกว่า “มอสโกบาโรก” (Moscow baroque) พื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร
ตัวอาสนวิหารยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรม โรงเรียนสอนศาสนาวันอาทิตย์ และศูนย์เยาวชนออร์โธดอกซ์ และที่น่าประทับใจคือแม้ยิ่งใหญ่เพียงใด อาสนวิหารอัสสัมชัญกลับรายล้อมไปด้วยอพาร์ตเมนต์สะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกันของผู้คนกับศาสนาในประเทศคาซัคสถาน (บรรยากาศภายนอกอาสนวิหารอัสสัมชัญ)
ทั้งมัสยิดใหญ่และอาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสถาปัตยกรรมงดงามระดับแลนด์มาร์กมากมายในอัสตานา บนภูมิประเทศดั้งเดิมแบบทุ่งหญ้าสเตปป์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ยิ่งขับให้อาคารต่างๆ โดดเด่นมากขึ้น บวกกับผังเมืองที่สะอาดเป็นระเบียบทางเท้ากว้างน่าเดิน อัสตานาจึงเป็นเมืองที่ไปเยือนเพื่อตื่นตากับแลนด์มาร์กแห่งเอเชียกลางได้หลายครั้งไม่รู้เบื่อ