‘ไบเดน’ พบ ‘สี จิ้นผิง’ วงเจรจาที่โลกรอฟัง!
“โจ ไบเดน” และ “สี จิ้นผิง” จะพบกันครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี นอกรอบการประชุมผู้นำเอเปคในวันที่ 15 พ.ย. นี้ เชื่อว่าจะพูดคุยกันทั้งเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส
กลายเป็นการประชุมที่คึกคักขึ้นมาทันที สำหรับเวทีสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อมีข่าวออกมาอย่างเป็นทางการว่า ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐอเมริกา และ ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน จะพบกันครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งปี โดยทั้งคู่จะพบกันนอกรอบการประชุมผู้นำเอเปคในวันที่ 15 พ.ย. นี้ ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนประเด็นการพูดคุยเชื่อกันว่าครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และน่าจะรวมถึงประเด็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส หรือแม้แต่กรณีรัสเซียกับยูเครน
ในขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นางสาวเหมาหนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงว่า ผู้นำของจีนและสหรัฐจะสื่อสารกันในเชิงลึกว่าด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ ประเด็นทั่วไป รวมไปถึงทิศทางที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐ ตลอดจนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพโลกและพัฒนาการต่างๆ
พร้อมกันนี้โฆษกรัฐบาลจีนยังย้ำด้วยว่า จีนไม่ได้กลัวการแข่งขัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐว่า เป็นการแข่งขัน ทั้งยังได้กล่าวเตือนสหรัฐด้วยว่า ควรเคารพข้อกังวลที่สมเหตุสมผลและสิทธิอันชอบธรรมของจีน แทนการย้ำถึงข้อกังวลของตนเองฝ่ายเดียวพร้อมๆ กับทำอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีน
ส่วนทางด้าน นางสาวแครีน ณ็อง ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะหารือกันในประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค และประเด็นโลก รวมถึงหนทางการจัดการการแข่งขันอย่างรับผิดชอบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การพบกันระหว่าง ไบเดน กับ สี จิ้นผิง ในวันที่ 15 พ.ย. โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่เย็นชาต่อกันอย่างหนัก ในขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า อย่าคาดหวังว่าการหารือร่วมกันครั้งนี้จะได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนเรียกได้ว่าถึงจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่การเปิดฉากสงครามการค้าต่อด้วยสงครามเทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดูเหมือนสหรัฐกำลังยั่วยุจีนอยู่ในเรื่องของไต้หวัน ซึ่งกรณีไต้หวันนับเป็นหนึ่งใน “เส้นแดง” ต้องห้ามของจีน ยิ่งไต้หวันกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในเดือน ม.ค. นี้ เชื่อว่ากรณีนี้อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมนอกรอบครั้งนี้
หากจำกันได้ในปีที่ผ่านมา ทั้งคู่ได้พบปะกันครั้งแรกในฐานะผู้นำประเทศในการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซีย ณ เกาะบาหลี ซึ่งเป้าหมายในการประชุมครั้งนั้นก็เพื่อพยายามพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนให้กลับมาดีขึ้น แต่ความพยายามดังกล่าวถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง หลังสหรัฐเปิดเผยว่าได้ตรวจพบบอลลูนสอดแนมของจีนเหนือน่านฟ้าของสหรัฐในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นการพบปะกันของ 2 มหาอำนาจผู้นำในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกเฝ้าจับตาดูอีกครั้งว่าจะมีอะไรที่ช่วยให้ชาวโลกคลายกังวลลงได้บ้าง!