ทูตอิสราเอลชวนคิด 'สงครามเกิดขึ้นได้อย่างไร'
สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกให้หยุดยิงในฉนวนกาซาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลงไปกว่าเดิม
ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดสนทนากลุ่มย่อยกับสื่อมวลชนไทยเมื่อวันก่อน โดยให้เหตุผลว่า เป็นเวลานานกว่า 5 สัปดาห์แล้วตั้งแต่เกิดการโจมตีหฤโหดต่อประชาชนอิสราเอลที่นอนหลับอยู่บนเตียง ถ้าอ่านข่าวจากสื่อต่างประเทศ ดูเหมือนผู้คนทั่วโลกจะลืมไปแล้วว่า ทำไมสงครามจึงเกิดขึ้น ลืมว่าเกิดอะไรขึ้นในอิสราเอลในวันอันโหดร้ายนั้น
“ก่อนอื่นขอบอกก่อนนะคะ ดิฉันจะเปิดคลิปให้คุณดู เป็นคลิปสั้นๆ 1-2 นาที หรืออาจจะไม่ถึง แต่บางคลิปยากที่จะดู ก็เลยขออนุญาตถามก่อนว่าจะให้เปิดมั้ยคะ ถ้าทนดูไม่ได้ก็ขอให้ปิดตา แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับมนุษย์เมื่อห้าสัปดาห์ก่อน ไม่ใช่ภาพยนตร์ ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้น” ทูตซากิฟออกตัว
หลังคลิปจบได้มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า อิสราเอลมีประชากร 10 ล้านคน เป็นประเทศเล็กมากพื้นที่ราว 22,000 ตารางกิโลเมตร อิสราเอลออกจากกาซาตั้งแต่ปี 2005 แต่ในวันที่ 7 พ.ค. ผู้ก่อการร้าย 3,000 คนจากกาซาบุกเข้ามาในอิสราเอลทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
“ลองจินตนาการดูว่าถ้าเกิดกับประเทศไทยที่ใหญ่กว่าอิสราเอลมากจะเป็นอย่างไร ผู้ก่อการร้าย 3,000 คนบุกเข้ามาในพื้นที่เล็กๆ เรียกว่าคิบบุตซ์”
ทูตยอมรับว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในปี 1948 อิสราเอลโดนโจมตีหลายครั้ง แต่ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน โจมตีโดยไม่มีการยั่วยุ โจมตีโดยที่ประชาชนยังนอนหลับใหลหลังจากเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญทางศาสนา เวลา 6.30 น. วันที่ 7 ต.ค. เสียงไซเรนเตือนภัยดังขึ้นทั้งประเทศ ประชาชนต้องเข้าห้องหลบภัย ซึ่งบ้านเรือนและอพาร์ทเมนท์จะต้องมีห้องหลบภัยไว้ ล็อกจากข้างในไม่ได้เพื่อให้คนข้างนอกเข้ามาช่วยเหลือได้ แต่เหตุการณ์วันนั้นทุกคนรู้ว่า “แตกต่าง” จากครั้งอื่นๆ เป็นการโจมตีพลเรือนอย่างป่าเถื่อน ผู้ก่อการร้ายเข้ามาฆ่าพลเรือนในห้องหลบภัยที่ปิดล็อกจากภายในไม่ได้ ฆ่าพ่อแม่ต่อหน้าลูก ฆ่าลูกต่อหน้าพ่อแม่ ผู้หญิงถูกข่มขืนต่อหน้าต่อตา
“ไม่อยากเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น นี่คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ทูตย้ำพร้อมสรุปตัวเลขจากทางการอิสราเอล จำนวนผู้เสียชีวิต 1,400 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 239 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 35 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บ 7,260 คน หากเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตในวันนั้น ประชากรอิสราเอล 10 ล้านคน เสียชีวิตวันเดียว 1,400 คน เท่ากับประเทศไทยประชากร 70 ล้านคน เสียชีวิตวันเดียว 10,000 คน หนักหนาที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์โฮโลคอสต์ (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) ซึ่งโลกไม่ควรลืมเรื่องนี้
การโจมตีครั้งนี้นำไปสู่การตอบโต้ของอิสราเอลในฉนวนกาซา เรียกเสียงประณามจากประชาคมโลก และการเดินขบวนเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ ในโอกาสนี้มีการตะโกนคำขวัญ “จากแม่น้ำถึงทะเล ปาเลสไตน์จะได้รับการปลดปล่อย” (From the river to the sea, Palestine will be free) ทูตซากิฟอธิบายเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวถึงความหมายของคำขวัญดังกล่าวว่า ประเทศอิสราเอลมีพรมแดนด้านหนึ่งติดแม่น้ำจอร์แดน อีกด้านหนึ่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้น “จากแม่น้ำถึงทะเล ปาเลสไตน์จะได้รับการปลดปล่อย” หมายถึงการไม่มีประเทศอิสราเอลอีกต่อไป ซึ่งผู้ประท้วงบางคนอาจตะโกนออกไปโดยไม่ทราบความหมาย
อย่างไรก็ตาม ทูตซากิฟยืนยันว่า อิสราเอลไม่ได้มองชาวกาซา ปาเลสไตน์ หรืออาหรับเป็นศัตรู
ศัตรูของเราคือฮามาสที่เราต้องกำจัด” ฮามาสเป็นผู้ก่อการร้ายพุ่งเป้าพลเรือน ใช้ประชาชนของตนเองเป็นโล่มนุษย์
ในประเด็นที่คนไทยเป็นห่วงคือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ทูตสรุปว่า อิสราเอลเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของแรงงานไทย คนไทยเข้าไปทำงานในอิสราเอล 30,000 คน ซึ่งเป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐกับรัฐ จากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. แรงงานไทยเสียชีวิต 39 คน ถูกลักพาตัว 25 คน บาดเจ็บ 18 คน อพยพกลับไทยแล้ว 8,500 คน ที่เหลือ 22,000 คนยังประสงค์อยู่ในอิสราเอลต่อไป ส่วนที่กลับมาแล้วสำรวจพบว่า อยากกลับไปทำงานอีกหากสงครามสิ้นสุด ทูตยืนยันอีกครั้งว่า อิสราเอลดูแลแรงงานไทยอย่างดี ได้รับค่าชดเชยเท่าเทียมกับชาวอิสราเอล ขณะนี้สิ่งที่อิสราเอลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ “ปล่อยตัวประกันทุกคน เราพยายามช่วยทุกคนไม่เฉพาะพลเมืองของเรา”
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าประชาชนในอิสราเอลรวมถึงญาติพี่น้องของตัวประกัน เดินขบวนประท้วงรัฐบาลของตนที่ดูเหมือนมุ่งกำจัดฮามาสมากกว่าเร่งหารือปล่อยตัวประกัน ทูตกล่าวว่า อิสราเอลเป็นประเทศประชาธิปไตยประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวประกันก่อน พร้อมๆ กับการกำจัดฮามาส
ในช่วงท้ายของการพูดคุยทูตย้ำอีกครั้งว่า ที่เชิญสื่อมวลชนไทยมาพูดคุยในวันนี้เพื่อต้องการเตือนใจว่า สงครามเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร “วันที่ 7 ต.ค.เป็นวันที่เจ็บปวดรวดร้าวมากที่สุด ชาวยิวถูกฆ่ามากที่สุดในวันเดียว”