‘แอฟริกา’ ทวีปมืด แต่ทำไมกลายเป็น ‘ทวีปเนื้อหอม’ ที่สหรัฐกับจีนต่างแย่งชิง
“แอฟริกา” ทวีปที่หลายคนมองว่ายากจนและมีโรคระบาดสูง แต่เหตุใดตอนนี้ถึงกลายเป็น “ทวีปเนื้อหอม” ที่มหาอำนาจสหรัฐกับจีนต่างแย่งชิงกันและทุ่มเงินลงทุนจำนวนมาก
Key Points
- จีนเข้ามาในทวีปแอฟริกาอยู่ก่อนแล้ว โดยหลายบริษัทจีนเข้ามาซื้อและสร้างเหมืองแร่จำนวนมากในแอฟริกา
- รัฐบาลจีนช่วยแอฟริกาสร้าง “ทางรถไฟเบงกีลา” ความยาว 1,344 กิโลเมตรที่วิ่งผ่านประเทศแองโกลา โดยทางรถไฟนี้เริ่มสร้างในปี 2549 และส่งมอบให้แองโกลาอย่างเป็นทางการในปี 2562
- ไบเดนเชิญผู้นำชาติแอฟริกันจาก 49 ประเทศให้มาประชุมร่วมกันในกรุงวอชิงตัน พร้อมกล่าวกับเหล่าผู้นำแอฟริกันว่า “สหรัฐพร้อมทุ่มหมดหน้าตักเพื่ออนาคตแอฟริกา”
หากเอ่ยถึงทวีปยากจนและข้นแค้นมากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้น “ทวีปแอฟริกา” ทวีปที่มักถูกละเลย มองข้าม ไม่ค่อยปรากฏในสื่อเท่ากับทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา อีกทั้งเผชิญโรคระบาดสูง ไม่ว่าโรคฝีดาษลิง มาลาเรีย เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก หรือแม้แต่โรคอีโบลาก็พบครั้งแรกในทวีปนี้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ทวีปแอฟริกาได้เปลี่ยนเป็น “ทวีปเนื้อหอม” แทนแล้ว ทั้งจีนและสหรัฐต่างพยายามแย่งชิงกันมีอิทธิพล การขับเคี่ยวของทั้งสองเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการลงทุนจำนวนมากด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการให้เงินต่าง ๆ จนเป็นที่น่าสนใจว่า ทวีปแห่งนี้มีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่? ทั้งสองมหาอำนาจถึงพยายามแย่งชิง
- ทวีปแอฟริกา (เครดิต: Freepik) -
- แอฟริกา แหล่งอุดมไปด้วยแร่จำเป็นในอุตสาหกรรม EV
จุดเด่นของ “ทวีปแอฟริกา” ที่ทำให้จีนและสหรัฐต่างตาลุกวาวคือ ทวีปนี้อุดมไปด้วย “แร่จำนวนมาก” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุปกรณ์พลังงานสะอาดอย่างแผงโซลาร์เซลล์
ไม่ว่าจะเป็นแร่ลิเทียม โคบอลต์ นิกเกิล หรือแม้แต่ทองแดงก็พบมากที่แซมเบียและคองโก จนพื้นที่ดังกล่าวถูกขนานนามว่า “Copperbelt”
ยิ่งความต้องการรถ EV มากขึ้นเท่าไร ความจำเป็นในแร่เหล่านี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันทั้งจีนและสหรัฐต่างก็สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวกันอย่างเข้มข้น หากขาดแคลนแร่หรืออุปทานสะดุดเมื่อไร เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองประเทศถึงต้องเข้ามา
- ลักษณะภูมิประเทศของทวีปแอฟริกา (เครดิต: Freepik) -
อันที่จริง จีนเข้ามาในทวีปนี้อยู่ก่อนแล้ว หลายบริษัทจีนเข้ามาซื้อและสร้างเหมืองแร่จำนวนมากในแอฟริกา รวมถึงสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในทวีปนี้ด้วย เช่น Ganfeng Lithium บริษัทผู้ผลิตลิเทียมและแบตเตอรี่ของจีน เข้ามาลงทุนเหมือง Goulamina ในประเทศมาลี, CATL บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถ EV ของจีนสนับสนุนโครงการหาแร่ในคองโก, Sichuan Yahua Industrial บริษัทเคมีภัณฑ์จีนมีหุ้นส่วนในโครงการเหมืองในเอธิโอเปีย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้จีนสามารถควบคุมตลาดการผลิตและการแปรรูปแร่ต่าง ๆ ในแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ได้
มาร์ติน แจ๊คสัน (Martin Jackson) หัวหน้าด้านแบตเตอรี่ของบริษัท CRU Group แสดงความเห็นว่า การลงทุนของจีนในแอฟริกา มีส่วนช่วยเพิ่มอุปทานวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ ซึ่งสำคัญกับจีนในการผลิตรถ EV ให้ทันต่อความต้องการ
ยิ่งไปกว่านั้น การได้วัตถุดิบ EV จากแอฟริกาที่มากขึ้น ยังช่วยลดการพึ่งพาแร่จากออสเตรเลีย เพราะออสเตรเลียมีแร่ลิเทียมสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อจีนกับออสเตรเลียขัดแย้งกัน โดยออสเตรเลียกล่าวหาจีนว่าเป็นต้นตอโควิด-19 ส่วนจีนก็ตอบโต้ด้วยการงดนำเข้าถ่านหิน และลดการนำเข้าแร่ต่าง ๆ จากออสเตรเลีย
ความขัดแย้งที่บานปลายขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จีนต้องหันมาทางแอฟริกามากขึ้นแทน โดยแอฟริกามีแร่โคบอลต์ที่จำเป็นกับแบตเตอรี่ EV ซึ่งพบมากที่สุดในคองโก ส่วนซิมบับเว มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
S&P Global Commodity Insights ผู้ให้บริการข้อมูลด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ คาดการณ์ว่า การลงทุนด้านเหมืองของจีนที่หลั่งไหลมาในแอฟริกา จะช่วยเพิ่มการผลิตลิเทียมจากปี 2565 เป็นมากกว่า 30 เท่าภายในปี 2570 และส่วนแบ่งการผลิตลิเทียมของแอฟริกาจาก 1% ของโลกในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12% ภายในปี 2570 เช่นกัน
- One Belt One Road เครือข่ายขนสินแร่ของจีน
เมื่อ “จีน” เป็นเจ้าของเหมืองหลายแห่งแล้ว สิ่งที่จำเป็นต่อไปคือ “โครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งแร่” รวมไปถึงสินค้าการเกษตร และอาหารทะเลต่าง ๆ ระหว่างแอฟริกากับจีน
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงช่วยแอฟริกาสร้าง “ทางรถไฟเบงกีลา” (Benguela Railway) ความยาว 1,344 กิโลเมตรที่วิ่งผ่านประเทศแองโกลา จากฝั่งตะวันตกที่ท่าเรือเมืองโลบิโต ประเทศแองโกลาไปทางตะวันออก พาดผ่านเมือง Benguela, Huambo, Kuito และ Luena จนสิ้นสุดที่เมือง Luau ของแองโกลาซึ่งอยู่ติดกับคองโก โดยทางรถไฟนี้เริ่มสร้างในปี 2549 และส่งมอบให้แองโกลาอย่างเป็นทางการในปี 2562
นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยในโครงการ “ทางรถไฟแทนซาเนีย-แซมเบีย” (Tanzania–Zambia Railway) ซึ่งมีความยาว 1,860 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างท่าเรือ Dar es Salaam ในแทนซาเนียตะวันออกกับเมือง Kapiri Mposhi ของแซมเบีย โดยทางรถไฟนี้สร้างตั้งแต่ปี 2513 และเสร็จสิ้นในปี 2518
- การสร้างทางรถไฟจีนเชื่อมกันในแอฟริกา (เครดิต: clbrief) -
ดังนั้น “ทวีปแอฟริกา” ซึ่งขนาบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกและมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออก เมื่อเชื่อมทางรถไฟ 2 สายเข้าด้วยกัน ก็จะช่วยเชื่อมท่าเรือโลบิโตของ “ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก” กับท่าเรือใน “ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย” เข้าด้วยกัน และทำให้ภาพ “One Belt One Road” หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนอันเป็นอภิมหาโครงการสร้างทางรถไฟ ทางถนน และทางทะเล เพื่อเชื่อมจีนกับอีกกว่า 60 ประเทศ ครอบคลุมทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออกและเหนือสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
- สหรัฐแม้ตามหลังจีน แต่ชูโครงการโลบิโตขึ้นไล่ตาม
สหรัฐเพิ่งหันมาสนใจทวีปแอฟริกาอย่างจริงจังในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งนับว่าช้าไป แต่ถึงกระนั้น สหรัฐก็พยายามไล่ตามจีนให้ทันด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับสหภาพยุโรป เพื่อเตรียมลงทุน “ระเบียงโลบิโต” (Lobito Corridor) หรือทางเชื่อม 3 ประเทศ ได้แก่ ท่าเรือโลบิโตของแองโกลา ตอนเหนือของแซมเบียและคองโกซึ่งคาดว่าใช้เงินราว 1,000 ล้านดอลลาร์
- ระเบียงโลบิโต (Lobito Corridor) ที่สหรัฐเตรียมสร้างเพื่อชนกับจีน (เครดิต: chinaglobalsouth) -
ในช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2565 ไบเดนได้เชิญผู้นำชาติแอฟริกันจาก 49 ประเทศให้มาประชุมร่วมกันในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ ในชื่องานประชุม U.S.- African Leaders Summit พร้อมกล่าวกับเหล่าผู้นำแอฟริกันว่า “สหรัฐพร้อมทุ่มหมดหน้าตักเพื่ออนาคตแอฟริกา” (The United States is all in on Africa’s future.) โดยหวังกระชับความสัมพันธ์กับแอฟริกามากขึ้น พร้อมให้สัญญาที่จะมอบความช่วยเหลือมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์แก่แอฟริกาในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สำหรับแอฟริกา นอกจากมีแร่ที่จำเป็นกับรถ EV แล้ว แอฟริกายังมีแร่สำหรับ “การผลิตชิป” ด้วย เช่น แร่แทนทาลัม (Tantalum) โดย 70% ของอุปทานแร่นี้ในโลกมาจากแอฟริกา อีกทั้งทีมพนักงานบริษัท Intel ผู้ผลิตชิปซีพียูรายใหญ่ของสหรัฐ ยังเคยเข้ามาเยี่ยมชมเหมืองในประเทศรวันดา ในเดือน พ.ย. 2562 เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยการขุดแร่แทนทาลัม ทังสเตน ดีบุกและทองคำ ซึ่งเป็นแร่จำเป็นต่อการผลิตชิปสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ
ท่ามกลางความต้องการรถ EV และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่น่าจับตาต่อใน “ศึกแย่งชิงแร่” ระหว่างจีนกับสหรัฐที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญคือ ถ้าเทียบ “ทวีปแอฟริกา” กับทวีปอื่น ๆ ทวีปแห่งนี้ยังมีพื้นที่ให้โตอีกมาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครอบคลุม และขาดแคลนเทคโนโลยี จึงเป็น “โอกาสใหม่” สำหรับเหล่านักธุรกิจที่จะเข้ามาบุกเบิกตลาดแห่งนี้ ดังจะเห็นจากบริษัท Starlink ของอีลอน มัสก์ ซึ่งทำธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม พยายามขยายฐานลูกค้าในทวีปนี้ เพราะในทวีปอื่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างพร้อมแล้ว แต่ในแอฟริกายังคงขาดแคลน
อ้างอิง: mfa, xinhua, invest, tazarasite, bbc, bloomberg, bloomberg(2), bloomberg(3), businesswire, change, asienhaus, whitehouse