มองเกม ‘อิสราเอล - ฮามาส’ พักรบ อะไรช่วยจบความขัดแย้ง
“อิสราเอล - ฮามาส” สงบศึกนาน 4 วัน ระหว่างนี้ ยังเป็นช่วงเวลาเปราะบางแห่งสงคราม แล้วภาพต่อไป สู่จุดจบความขัดแย้งจะเป็นอย่างไร
Key of Pionts
- การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส มี "แนวโน้มจะดุเดือด" มากขึ้น ทั้งในเชิงการทหารสองฝ่าย และการเมืองระหว่างประเทศ
- ยิ่งอิสราเอลทำให้ฮามาสพ่ายแพ้ และคลานออกมาจากซากปรักหักพัง เพียงเพราะต้องการ “ชัยชนะอันศักดิ์สิทธิ์” แต่สถานการณ์เช่นนี้ กลับร้อนแรงดุจเพลิงไฟ กลายเป็น "หายนะทางการเมือง"
- ข้อตกลงพักรบที่สหรัฐ กาตาร์และอียิปต์ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยขึ้นมานั้น ถือเป็น “ก้าวแรก” ที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจ
- ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อช่วยจบเกมความขัดแย้งนี้
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า การหยุดสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ในระยะเวลาสั้นๆ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันกับนักโทษ ตั้งแต่บ่ายวันที่ 24 พ.ย. จนถึงตอนนี้ อาจเป็น “ก้าวแรก” ในการยุติความขัดแย้งนี้ก็ได้
ผู้สังเกตการณ์สถานการณ์นี้มานานเชื่อว่า การสู้รบมี "แนวโน้มจะดุเดือด" มากขึ้น ทั้งในเชิงการทหารและการเมืองระหว่างประเทศ
ทั่วโลกยังต้องรอดูกันต่อไป เพราะกองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลอาจปะทะกับกลุ่มนักรบฮามาสจนนองเลือดครั้งใหญ่อีก เพราะอิสราเอลต้องการปราบกลุ่มฮามาสซึ่งยึดที่มั่นในเขตฉนวนกาซาไว้ได้ แถมมีความแข็งแกร่ง ซ่อนตัวอยู่ในเส้นทางลับภายใต้อุโมงค์ใต้ดินในกาซา
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิสราเอลมุ่งส่งกองกำลังทหารไปยังตอนใต้ของฉนวนกาซา เพราะพวกเขาเชื่อว่า ผู้นำกลุ่มฮามาสได้ย้ายไปอยู่ที่นั้นแล้ว
อ่านเกมอิสราเอล จากท่าทีสหรัฐ
ช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐ พันธมิตรที่ใกล้ชิดอิสราเอลที่สุด ได้แสดงความกังวลและเตือนเทลอาวีฟว่า “อย่าดำเนินการใดๆ แบบขาดแผนการที่สอดคล้อง” เพื่อป้องกันเหตุโจมตี “ตามอำเภอใจ” ซ้ำขึ้นอีก อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม
“ฮุสเซน อิบิช” นักวิชาการอาวุโสสถาบันอ่าวอาหรับในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า ดูเหมือนอิสราเอลยังตั้งใจทำสงครามต่อ ขณะที่สหรัฐเอง ยังไม่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง
“ในทางกลับกัน เราได้เห็นวอชิงตันเริ่มปรับท่าทีอิสราเอลให้ค่อยๆลดความขัดแย้งอย่างนุ่มนวลช้าๆ เพื่อนำไปสู่การหยุดยิง” อิบิชกล่าว
อิสราเอล ภายใต้แรงกดดัน
ก่อนจะหวังให้มีการหยุดยิงอย่างจริงจัง ตามสัญชาตญาณสหรัฐที่เคยทำมาก่อนหน้า และจะได้เห็นในครั้งนี้อีกคือ สหรัฐจะเปิดโอกาสให้อิสราเอลโหมโจมตีฮามาสอย่างหนัก จนในที่สุดวอชิงตันจะประกาศว่า ยอดผู้เสียชีวิตและทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ที่อิสราเอลกระทำนั้นเกินกว่าจะรับได้ และสหรัฐจะชี้ให้เห็นเหตุการณ์สู้รบดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ประเทศต่างๆ ในอาหรับ
เมื่อไปถึงจุดนั้น ทั่วโลกจะกดดันอิสราเอลหนักขึ้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเริ่มต้นจากแรงกดดันเบาๆ หลังที่สหรัฐปิดประตูคุยกับอิสราเอลก็ตาม
“แต่ตอนนี้ เรายังไปไม่ถึงช่วงเวลาที่สหรัฐปิดประตูคุยกับอิสราเอลด้วยซ้ำ อีกทั้งยากที่จะประเมินว่า รัฐบาลโจ ไบเดน รู้สึกโกรธเคืองในเหตุการณ์อิสราเอลโต้ตอบการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. มากน้อยขนาดไหน” อิบิชกล่าว
หนทางหลุดพ้น ติดหล่มสงคราม
“อันเดรส ครีก” รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเพื่อการป้องกันประเทศของคิง คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ข้อตกลงพักรบที่สหรัฐ กาตาร์และอียิปต์ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยขึ้นมานั้น ถือเป็น “ก้าวแรก” ที่จะช่วยสร้าง "ความไว้วางใจกัน"
“การหยุดยิงระยะสั้น สร้างแรงผลักดันที่สำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐ ในฐานะหนึ่งในผู้ไกล่เกลี่ยที่สามารถกดดันอิสราเอลได้” ครีกกล่าวและบอกว่า เราต้องมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันถัดไป จำเป็นต้องหาหนทางให้หลุดพ้นติดหล่มแห่งสงคราม
ขณะเดียวกัน ครีกมองว่า มีแนวโน้มที่กลุ่มฮามาสจะใช้ช่วงเวลาหยุดยิงชั่วคราวนี้ ในการดำเนินการทางการทูต เพื่อยอมถอยห่างจากสงครามนี้
ลวงทำสงคราม ใช้การเมืองระหว่างประเทศกดดัน
ครีกเคยเป็นที่ปรึกษาให้กองทัพกาตาร์เกี่ยวกับการปฏิรูปความมั่นคง ซึ่งเขาชี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันเอื้ออำนวยให้ฮามาสมากกว่าอิสราเอล
“ในความเป็นจริง ฮามาสต้องการสร้างหายนะและล่อลวงอิสราเอลสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร ที่สร้างความเสียหายชีวิตและทรัพย์สินประชาชนอย่างประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งฮามาสรู้ดีว่า ไม่อาจเอาชนะกองทัพอิสราเอล หากปราศจากแรงหนุนทางการเมืองจากประเทศต่างๆ” ครีกกล่าว
ยิ่งอิสราเอลทำให้ฮามาสพ่ายแพ้ และคลานออกมาจากซากปรักหักพัง เพียงเพราะต้องการ “ชัยชนะอันศักดิ์สิทธิ์” แต่สถานการณ์เช่นนี้ กลับร้อนแรงดั่งเพลิงไฟ กลายเป็น "หายนะทางการเมือง"
กลยุทธ์เพื่อจบเกม
สำหรับอิสราเอล การยกกระดับที่รุงแรงยิ่งขึ้น ย่อมสร้างค่าใช้จ่ายในการทำสงครามสูงเรื่อยๆ โดยเฉพาะปฏิบัติการทางการทหารที่ดำเนินต่อไปในฉนวนกาซานานขึ้น และเพื่อลดความรุนแรงมากกว่านี้ ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อช่วยจบเกมความขัดแย้งนี้ โดยต้องมุ่งไปที่แนวทางแก้ไขปัญหาให้กับอิสราเอล
“ปัญหาที่อิสราเอลเผชิญคือ ไม่ต้องการให้ปาเลสไตน์มีอำนาจในฉนวนกาซา และไม่ต้องการให้กลุ่มฮามาสเข้ามามีอำนาจควบคุมฉนวนกาซา ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ไม่ต้องการยึดครองฉนวนกาซา หรือสหรัฐ และประเทศต่างๆต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้” ครีกกล่าวและเสริมว่า ในทำนองเดียวกัน การส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพไปในฉนวนกาซาก็จะทำไม่ได้ เพราะอิสราเอลไม่ไว้วางใจพวกเขา
แม้จะดำเนินการภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล มิฉะนั้นอิสราเอลจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ครีกกล่าวตอนท้ายว่า “ธรรมาภิบาลด้านความมั่นคง” เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ มาโดยตลอด เนื่องจากประสบการณ์จากสงครามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอล ทำให้อิสราเอล “ไม่อาจเชื่อใจใครได้ทั้งนั้น”
ที่มา : SCMP