'อิตาลี' ออกกฎหมายแบน 'เนื้อเทียมในห้องแล็บ' ประเดิมชาติแรกของโลก
อิตาลีออกกฎหมายแบน 'เนื้อเทียมผลิตในห้องแล็บ' เป็นชาติแรกในโลก โทษปรับสูงสุดกว่า 2 ล้านบาท หวังปกป้องประเพณีการทำอาหารของอิตาลี และตำแหน่งงานในภาคเกษตรกรรม
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่สั่งห้ามการผลิต การจัดจำหน่าย และการนำเข้า เนื้อสัตว์สังเคราะห์ (cultivated meat) ซึ่งผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์ แทนการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร
คำสั่งห้ามนี้ยังห้ามการใช้คำที่กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ดั้งเดิม เช่น "ซาลามิ" และ "สเต็ก" สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช
รัฐสภาอิตาลีผ่านกฎหมายใหม่ดังกล่าวหลังอภิปรายนานหลายเดือน การละเมิดกฎอาจมีโทษปรับสูงสุดถึง 60,000 ยูโร (ราว 2.32 ล้านบาท) โดยคำสั่งห้ามของอิตาลีมีขึ้นขณะที่นานาประเทศ อาทิ เยอรมนีและสเปน กำลังลงทุนมหาศาลในการวิจัยเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์
ฝ่ายสนับสนุนเนื้อสัตว์สังเคราะห์แย้งว่าการผลิตเนื้อสัตว์ประเภทนี้มีความยั่งยืนมากกว่า เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเนื้อจากสัตว์โดยตรง อีกทั้งอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเนื่องจากเนื้อสังเคราะห์ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ และอาจมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมด้วย
ฟรานเชสโก โลโบบริจิดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของอิตาลี โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่าการดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายปกป้องประเพณีการทำอาหารของอิตาลี และตำแหน่งงานในภาคเกษตรกรรม
"อิตาลีเป็นประเทศแรกในโลกที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจของอาหารสังเคราะห์" โลโบบริจิดาระบุ
ช่วงก่อนหน้าในปีนี้ อิตาลีทำงานเพื่อปูทางสำหรับการผลิตและจำหน่ายอาหารที่ทำจากแมลง โดยกำหนดแนวปฏิบัติว่าควรระบุผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในท้องตลาดอย่างไร ทว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าแหล่งโปรตีนชนิดนี้จะออกจำหน่ายเป็นวงกว้างในอิตาลี