ทำไม ‘แจ๊ค หม่า’ ต้องพูดถึง ‘พินตัวตัว’ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอาลีบาบา
แจ๊ค หม่า พูดปลุกขวัญพนักงานให้กลับมาสู้อีกครั้ง ในฐานะผู้ก่อตั้งอาลีบาบา โดยกระตุ้นให้ “แก้ไขแนวทางธุรกิจของตนเอง” และยกย่องคู่แข่งอีคอมเมิร์ซอย่าง PDD Holdings Inc. ที่ขยายส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อคืนวันพุธที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา “แจ๊ค หม่า” ที่วางมือจากงานบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ไปหลายปีแล้วหลังเจอแรงกดดันหนักจากทางการจีน จนถึงขั้นมีข่าวว่าจะขายหุ้นหลายร้อยล้านเพื่อเอาเงินไปลงกับบริษัทใหม่ด้านอาหารที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปีนี้ แต่แล้วจู่ๆ ก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง
ครั้งนี้หม่ามาพูดปลุกขวัญเรียกกำลังใจพนักงานให้กลับมาสู้อีกครั้ง ในฐานะผู้ก่อตั้งอาลีบาบา โดยกระตุ้นให้อาลีบาบา “แก้ไขแนวทางธุรกิจของตนเอง” และยกย่องคู่แข่งอีคอมเมิร์ซอย่าง PDD Holdings Inc. ที่ขยายส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว
แต่หม่าอาจไม่รู้เลยว่าในวันถัดมา 30 พ.ย. 2566 จะเป็นวันที่ PDD หรือ “พินตัวตัว” (Pinduoduo) สตาร์ตอัปน้องใหม่อายุ 8 ปี ที่เขาหยิบยกขึ้นมาอ้างถึง ได้สร้างสถิติครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการทำมาร์เก็ตแคป “แซงหน้าอาลีบาบาได้เป็นครั้งแรก”
บลูมเบิร์กรายงานว่า หุ้นของอาลีบาบาที่ร่วงลง 1.4% ในตลาดฮ่องกง ได้ฉุดให้มูลค่าตลาดร่วงลงมาแตะระดับ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือต่ำกว่ามูลค่าตลาดของ PDD ที่ 1.883 แสนล้านดอลลาร์ จากราคาปิดที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้เป็นครั้งแรกที่อาลีบาบาเสียแชมป์อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีนหลังก่อตั้งมา 24 ปี
แม้ว่านี่อาจจะเป็นเพียงแค่การวัดมูลค่าตลาดในช่วงสั้นๆ แต่ในเชิงพื้นฐานแล้วอาจกล่าวได้ว่า “จะช้าหรือเร็ว อาลีบาบาก็จะถูกบริษัทรุ่นใหม่แซงหน้าไปได้อยู่ดี” แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยสร้างตำนานเป็นยักษ์อีคอมเมิร์ซที่ไม่มีใครเทียบได้ และเป็นบริษัทจีนเพียงรายเดียวที่มีมูลค่าตลาดใกล้แตะหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม
นับจากวันที่แจ๊ค หม่า กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบแบงก์จีนเมื่อเดือน ต.ค. 2020 อาณาจักรอาลีบาบาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “แอนท์ กรุ๊ป” ถูกพับแผนเข้าตลาดหุ้น อาลีบาบาถูกปรับเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์เรื่องผูกขาดตลาด รัฐบาลเข้ามาปรับทัศนคติและคุมแนวทางกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในประเทศครั้งใหญ่
หลังจากนั้นแม้ว่าอาลีบาบาจะปรับกลยุทธ์ใหญ่โดยมีแผนจะแตกอาณาจักรออกเป็น 6 บริษัทและเอาเข้าตลาดหุ้นทั้งหมด โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ธุรกิจ “คลาวด์และเอไอ” แต่ก็เจออุปสรรคใหญ่ขวางอีกจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ที่แย่ลงทุกวัน จนกระทบต่อการส่งออกและควบคุมเรื่องชิปและเอไอ ในขณะที่การทำธุรกิจ อีคอมเมิร์ซก็ถูกคู่แข่งไล่บี้เพิ่มขึ้นทุกปี
ในทางตรงกันข้าม PDD กลับมีแต่ข่าวดี โดยแทบไม่มีข่าวร้ายใหญ่ๆ เหมือนอาลีบาบา และไม่ถูกสกัดขาธุรกิจหมือน “ไบท์แดนซ์” อีกหนึ่งคู่แข่งที่เจอทั้งแรงสกัดทางการเมืองในสหรัฐ และกำลังเจอสกัดการทำอีคอมเมิร์ซบน “ติ๊กต็อก”
PDD เป็นอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดย คอลิน หวง หนุ่มหัวกะทิจากเจ้อเจียง ที่เคยไปฝึกงานกับไมโครซอฟต์และทำงานกับกูเกิลหลังเรียนจบที่วิสคอนซิน จากนั้นกลับมาเปิดธุรกิจที่บ้านโดยก่อตั้งสตาร์ตอัป 4 แห่ง โดยมีพินตัวตัวประสบความสำเร็จมากที่สุด
แรกเริ่มนั้นพินตัวตัวก็เหมือนอีคอมเมิร์ซรายอื่นๆ ที่แข่งขันด้วยราคากับกลยุทธ์สินค้าราคาถูก แต่สิ่งที่แตกต่างและทำให้ประสบความสำเร็จอาจกล่าวได้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือการทำ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” และการผูกกับ “WeChat” โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในจีนจากค่ายเทนเซนต์ ซึ่งค่ายนี้ยังเป็นนายทุนหลักให้ด้วย
กลยุทธ์โซเชียลคอมเมิร์ซที่เน้นเรื่องความบันเทิง ทำให้พินตัวตัวไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มซื้อขายของเหมือนอาลีบาบา แต่ทำให้คนมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้พร้อมดึงเพื่อนฝูงครอบครัวมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ การแจกรางวัล การไลฟ์ขายของ และอื่นๆ จนมียอดผู้ใช้งานเติบโตอย่างรวดเร็วจากหลักประมาณ 15 ล้านคนต่อเดือนในปีแรก มาเป็นเฉลี่ย 750 ล้านคนต่อเดือนในปัจจุบัน
ขณะที่การรุกตลาดต่างประเทศก็ไปได้สวยโดย Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่พินตัวตัวตั้งขึ้นในสหรัฐเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว และในผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ PDD มีรายได้เติบโตถึง 94% เมื่อเทียบปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 9,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบอาลีบาบาที่โตได้เพียง 9%