ย้อนผลงานประดับไว้ในโลกา ‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’
เฮนรี คิสซิงเจอร์ นักการทูตผู้ทรงพลังในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐภายใต้สองประธานาธิบดี ลาโลกไปอย่างสงบเมื่อวันพุธ (29 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยวัย 100 ปี แต่ผลงานที่เขาเคยทำถือว่าสะเทือนโลกมีทั้งคนรักและคนชัง
คิสซิงเจอร์ แอสโซซิเอตส์ อิงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แถลงว่า เฮนรี คิสซิงเจอร์ เสียชีวิตที่บ้านในรัฐคอนเนตทิคัต แถลงการณ์ไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิต กล่าวเพียงว่า พิธีฝังศพจะกระทำเป็นการภายใน แล้วจึงจัดพิธีเปิดให้สาธารณชนรำลึกในนิวยอร์กซิตี้ต่อไป
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คิสซิงเจอร์มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดชีวิต 100 ปี ทั้งเข้าประชุมในทำเนียบขาว ออกหนังสือว่าด้วยสไตล์ผู้นำของตนเอง เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเกี่ยวกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เขาทำเซอร์ไพรส์ไปเยือนกรุงปักกิ่งพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ระหว่างทศวรรษ 1970 ท่ามกลางสงครามเย็น คิสซิงเจอร์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญระดับเปลี่ยนแปลงโลกที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีต่างประเทศของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน
ย้อนประวัติเด็กชายชาวยิว
ไฮน์ อัลเฟรด คิสซิงเจอร์ เกิดที่เมืองเฟิร์ธ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 พ.ค.1923 แล้วย้ายไปอยู่สหรัฐกับครอบครัวในปี 1938 ก่อนนาซีรณรงค์กำจัดชาวยิวในยุโรป
ชื่อ ไฮน์ อัลเฟรด เปลี่ยนเป็นเฮนรี และได้เป็นพลเมืองสหรัฐ ปี 1943 รับราชการกองทัพบกร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ได้ทุนเรียนมหาวิทยาฮาร์วาร์ดจบปริญญาโทในปี 1952 และปริญญาเอกในปี 1954 เขาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดอีก 17 ปีต่อมา
หลังจากนั้นเวลาส่วนใหญ่ของคิสซิงเจอร์ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมถึงการทำหน้าที่เป็นคนกลางของกระทรวงต่างประเทศในเวียดนาม ปี 1967 เขาใช้เส้นสายที่มีกับรัฐบาลประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ส่งข้อมูลการเจรจาสันติภาพให้กับฝ่ายนิกสัน
เมื่อคำมั่นของนิกสันที่ว่าจะยุติสงครามเวียดนาม ช่วยให้เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1968 นิกสันดึงคิสซิงเจอร์มาเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่กระบวนการ Vietnamization ที่สหรัฐถอนทหาร 500,000 นายออกจากสงครามปล่อยให้คนเวียดนามจัดการกันเอง กลับยาวนานและนองเลือด มีการทิ้งระเบิดถล่มและวางกับระเบิดในเวียดนามเหนือ และทิ้งระเบิดกัมพูชาเป็นระยะๆ(ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (ขวา) เนลสัน เอ ร็อกกีเฟลเลอร์ (กลาง) และเฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ หารือสถานการณ์เวียดนามใต้ที่ทำเนียบขาว วันที่ 28 เม.ย.1975)
คิสซิงเจอร์ประกาศในปี 1972 ว่า “สันติภาพอยู่ในมือของเวียดนาม” แต่ข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือน ม.ค.1973 ไม่มีอะไรมากไปกว่าการโหมโรงให้คอมมิวนิสต์ยึดเวียดนามใต้ในสองปีต่อมา
บทบาทรัฐมนตรีต่างประเทศ
ปี 1973 จากบทบาทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ คิงซิงเจอร์ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่สูงสุดด้านกิจการต่างประเทศ
ความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอลที่เข้มข้น ทำให้เขาต้องปฏิบัติภารกิจ “กระสวย” เดินสายเจรจาที่โน่นที่นี่อย่างเร่งด่วนเป็นครั้งแรก จนกลายเป็นแบรนด์ประจำตัว การทูตที่มีแรงกดดันสูงนี้สร้างชื่อเสียงให้กับคิสซิงเจอร์เป็นอย่างมาก
32 วันไปๆ มาๆ ระหว่างเยรูซาเล็มกับดามัสกัส ช่วยให้เขาได้ข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับซีเรียเรื่องที่ราบสูงโกลานที่อิสราเอลยึดครองได้
ในความพยายามขจัดอิทธิพลสหภาพโซเวียต คิสซิงเจอร์เข้าหาผู้นำจีน คอมมิวนิสต์คู่แข่งสหภาพโซเวียต และเยือนแดนมังกรสองครั้ง รวมถึงครั้งที่แอบไปพบกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ส่งผลให้เกิดการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างนิกสันกับประธานเหมา เจ๋อตงในกรุงปักกิ่ง นำมาสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศในที่สุด
(เหมา เจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน จับมือทักทายเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างเยือนทำเนียบประธานพรรคในกรุงปักกิ่ง วันที่ 2 ธ.ค.1975 โดยมีประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด และซูซาน ธิดา ยืนมองอย่างชื่นชม)
(ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และเฮนรี คิสซิงเจอร์ พบกับนายกรัฐมนตรีโกลดา เมอีร์ของอิสราเอล ณ ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว วันที่ 1 พ.ย.1973)
ข้อตกลงอาวุธเชิงยุทธศาสตร์
คดีฉาววอเตอร์เกตบีบให้นิกสันลาออก แต่แทบไม่ระคายคิสซิงเจอร์ผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกปิดข้อมูล เขายังคงเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศต่อไปเมื่อเจอรัลด์ ฟอร์ดรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1974 แต่ฟอร์ดให้เขานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อประธานาธิบดีจะได้รับฟังความเห็นด้านนโยบายต่างประเทศจากคนอื่นๆ บ้าง
ต่อมาในปีนั้นคิสซิงเจอร์ไปวลาดิวอสต็อกกับฟอร์ด ประธานธิบดีสหรัฐได้พบกับลีโอนิด เบรสเนฟ ผู้นำโซเวียต เห็นชอบเค้าโครงพื้นฐานข้อตกลงอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ ฉายภาพความพยายามบุกเบิกลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับโซเวียต
กลัวฝ่ายซ้าย-หนุนทหาร
คิสซิงเจอร์เหมือนนิกสันตรงที่กลัวว่า แนวคิดฝ่ายซ้ายจะลุกลามเข้ามาในโลกตะวันตก การรับมือฝ่ายซ้ายของเขาก่อให้เกิดข้อสงสัยจากละตินอเมริกา
ปี 1940 เขาวางแผนกับซีไอเอ หาวิธีบั่นทอนเสถียรภาพและโค่นประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด ของชิลี มาร์กซิสต์ผู้มาจากการเลือกตั้ง หลังการรัฐประหารนองเลือดของอาร์เจนตินาในปี 1976 เขาเขียนบันทึกว่า ควรส่งเสริมผู้นำเผด็จการทหาร
ตอนที่ฟอร์ดแพ้เลือกตั้งจิมมี คาร์เตอร์ จากพรรคเดโมแครตในปี 1976 คิสซิงเจอร์สูญเสียบทบาทในรัฐบาลไปมาก ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนต่อมาคือโรนัลด์ เรแกน เอาตัวออกห่างจากคิสซิงเจอร์ด้วยมองว่า เขาไม่เข้ากับประชาชนในเขตเลือกตั้งของเรแกน
หลังพ้นตำแหน่งในรัฐบาล คิสซิงเจอร์ตั้งบริษัทที่ปรึกษาทรงอำนาจในนิวยอร์ก ให้คำปรึกษาบริษัทชื่อดังระดับโลก ทั้งยังนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหลายบริษัท ขึ้นเวทีนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงหลายเวที เขียนหนังสือ ได้รับเชิญจากสื่อมวลชนไปแสดงทัศนะเรื่องกิจการระหว่างประเทศมากมาย
หลังการโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 ก.ย.2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เลือกคิสซิงเจอร์เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน แต่เดโมแครตวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับลูกค้าบริษัทจำนวนมาก คิสซิงเจอร์จึงลาออก
ชีวิตส่วนตัว
คิสซิงเจอร์หย่าร้างกับแอนน์ ฟลิซเชอร์ ในปี 1964 จากนั้นสมรสกับแนนซี มาจินส์ ผู้ช่วยเนลสัน ร็อกกีเฟลเลอร์ ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในปี 1974 มีบุตรสองคนกับภรรยาคนแรก