ยอดชาวจีนผิดนัดชำระหนี้ ทะลุ 8 ล้านคนเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ศก.ถดถอยหนัก
ยอดชาวจีนผิดนัดชำระหนี้มากเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 8 ล้านคน บ่งชี้เศรษฐกิจจีนถดถอยหนัก ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่กฎหมายจำกัดสิทธิทางการเงินของจีน ทำเอาลูกหนี้แบล็คลิสต์ตั้งตัวไม่ได้
สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า ยอดผู้กู้ยืมเงินชาวจีนผิดนัดชำระหนี้มากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ตอกย้ำถึงขนาดของเศรษฐกิจถดถอยและอุปสรรคในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน
ศาลท้องถิ่นจีน เผยว่า มีคนถูกขึ้นบัญชีดำ หลังผิดนัดชำระหนี้ ตั้งแต่การจำนองบ้าน ไปจนถึงสินเชื่อธุรกิจราว 8,540,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18-59 ปี
ตัวเลขดังกล่าวที่เทียบเท่าประมาณ 1% ของผู้ใหญ่วัยทำงานชาวจีน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีคนผิดนัดชำระหนี้เพียง 5.7 ล้านคนในช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์โควิดและมาตรการอื่น ๆ ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจและบั่นทอนรายได้ของครัวเรือน
จำนวนคนผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างความอยากลำบากให้กับการรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นแหล่งอุปสงค์ระดับโลกที่สำคัญ และตอกย้ำว่าประเทศขาดกฎหมายล้มละลายรายบุคคล ที่ตัวบรรเทาผลกระทบทางการเงินและสังคมจากการที่หนี้สินเพิ่มสูงขึ้นได้
“แดน หวัง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารฮั่งเส็ง เผยว่า
“จำนวนคนผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ไม่ได้เป็นมาจากวัฏจักรการกู้ยืมเท่านั้น แต่รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย และสถานการณ์จะแย่ลงไปอีก ก่อนที่จะดีขึ้นได้”
วิกฤติหนี้สินส่วนบุคคลเกิดขึ้นหลังจากชาวจีนแห่กู้ยืมเงินมากมาย ตามรายงานของสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติจีน ระบุว่า ยอดหนี้สินครัวเรือนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จึดีพี) โตขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 64% ในเดือน ก.ย.
ด้านไชนา อินเด็กซ์ อคาเดมี บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ รายงานว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีการยึดอสังหาริมทรัพย์ในจีน 584,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ขอปีก่อนหน้า
- แบล็คลิสต์ถูกจำกัดสิทธิทางการเงินเข้มงวด
ปัญหาคนผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นผลต่อเนื่องมาจาก ผู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่สามารถจัดการภาระผูกพันทางการเงินได้ เพราะการเติบโตของค่าจ้างหยุดชะงักหรือติดลบ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคชาวจีนขาดแคลนเงินสดมากขึ้นเรื่อย ๆ และประสบปัญหาในการหาเงินเลี้ยงชีพ จึงหยุดชำระหนี้
ขณะที่กฎหมายจีนระบุว่า ผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ขึ้นบัญชีดำห้ามทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมถึงการซื้อตั๋วเครื่องบิน และชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ เช่น อาลีเพย์และวีแชทเพย์ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจจีน ที่เดิมได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวและขาดความเชื่อมั่นผู้บริโภค และทำให้ผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ขึ้นบัญชีดำเดือดร้อนไม่น้อย
ตัวอย่างเช่น เจน จาง เจ้าของบริษัทโฆษณาในมณฑลเจียงซี ซื้อนมให้ลูกไม่ได้เพราะไม่มีเงินสดในมือ
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจึงเสนอให้มีการนำกฎหมายล้มละลายส่วนบุคคลมาใช้ พร้อมมาตรการบรรเทาหนี้สินสำหรับการล้มละลายในแต่ละกรณี
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้านกฎหมายเปิดเผยทรัพย์สินส่วนบุคคลมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ กลัวว่ากฎหมายอาจเปิดเผยการทุจริตได้ ผู้กู้ยืมที่ถูกขึ้นบัญชีดำจึงมีความหวังเพียงน้อยนิดที่จะได้ฟื้นสถานะทางการเงินของตนเอง
ยกตัวอย่างกรณีของจาง ศาลตัดสินให้เธอต้องชำระหนี้หมดก่อน ชีวิตจึงจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เธอหาเงินได้ลำบาก เพราะเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงินมากมาย