เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด 'หางานทำ'

เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด 'หางานทำ'

การว่างงานในจีนนับเป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่ม 'คนรุ่นใหม่' และหนึ่งในทางแก้ก็คือ เปิดตลาดงาน 'ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ' ในต่างจังหวัด ดันคนรุ่นใหม่ทิ้งเมืองมุ่งหน้าสู่ชนบท

การว่างงานในจีนนับเป็นประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามแก้ปัญหามาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่ม "คนรุ่นใหม่" ที่เป็นกำลังสำคัญของความหวังของชาติ แต่สถานการณ์กลับยิ่งแย่ลงจากการระบาดของโควิด-19 และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันท่ามกลางวิกฤตการในภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งรุนแรงที่สุดในจีน

กง ฉงเกียง เคยทำงานในบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในเมืองหังโจวพร้อมค่าตอบแทนสูงถึง 2 แสนหยวนต่อปี (เกือบ 1 ล้านบาท) ก่อนที่สถานการณ์จะเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 ปัจจุบัน เขามาทำงานเป็นเกษตรกรชาวไร่ปลูกสตอว์เบอร์รีในพื้นที่ชนบทของมณฑลเจ้อเจียง และกำลังเจอปัญหาผลผลิตถึง 40% เป็นโรคทางการเกษตร  

หนุ่มวัย 30 ปีรายนี้ตัดสินใจมุ่งสู่ชนบทหลังจากทางเลือกใหม่ที่เขาพยายามทำบล็อกเกี่ยวกับการเงินล้มเหลว แต่ระหว่างนั้นเขาก็เกิดสนใจเรื่องการเกษตรขึ้นมาและพยายามขายไอเดียการปลูกสตอว์เบอร์รีแนวใหม่ที่มีรสชาติ คุณภาพ และราคาที่ดีขึ้นจากสตอว์เบอร์รี 20 สายพันธุ์ที่มีอยู่ เขาได้เงินลงทุนก้อนหนึ่งจากนักลงทุนอิสระที่ตามบล็อกการเงินของเขา แต่ครอบครัวของเขากลับไม่ปลื้มที่ลูกชายจะออกจากวงการงานออฟฟิศมาเป็นเกษตรเหมือนครอบครัว   
เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด \'หางานทำ\'

"ครอบครัวของพ่อเป็นเกษตรกรกันมาทั้งชีวิต หนึ่งในความฝันของพวกเขาก็คือ อยากเห็นลูกหลานมีชีวิตที่แตกต่างออกไป พวกเขาจึงประหลาดใจว่าทำไมส่งไปเรียนหนังสือตั้งหลายปีแต่ยังกลับมาทำเกษตรอีก" กงกล่าวกับบลูมเบิร์ก

เขาระบุด้วยว่าสมัยที่เรียนจบในปี 2014 แม้แต่เด็กหัวกลางๆ และไม่มีประสบการณ์ทำงานอย่างเขาก็ยังได้รับข้อเสนอทำงานจากหลายที่จนได้เข้าทำงานในบริษัทที่ดี แต่ตอนนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว   

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ครอบครัวคนจีนเหมือนพ่อแม่ของกงตัดสินใจย้ายบ้านไปยังเมืองใหญ่ในจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นชีวิตให้ครอบครัวและลูก แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนประสบภาวะชะลอตัวลง บรรดาคนหนุ่มสาวกลับเป็นรุ่นที่ต้องเผชิญกับภาวะตกงาน ส่วนพ่อแม่ที่ลงทุนไปเยอะกับการศึกษาของลูกๆ ก็ต้องใจสลาย โดยอัตราการว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนสูงถึง 1 ใน 5 และบรรดาเมืองใหญ่ระดับมหานครในจีนต่างก็เผชิญระดับประชากรที่ลดลงต่ำสุดทุบสถิติเป็นครั้งแรกในปี 2565  

"เราเข้าใจดีว่าคนหนุ่มสาวคือการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของครอบครัว และสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ เราต้องใช้เวลา 20 ปีหรือมากกว่านั้น ในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งขึ้นมา ดังนั้นการจ้างงานพวกเขาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับทั้งครอบครัว ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลถึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการจ้างงานคนรุ่นใหม่" ตู้ เผิง รองประธานของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง กล่าว 

ปัจจุบัน พื้นที่ในเขตชนบทกำลังเป็นหนึ่งในพื้นที่โอกาสการหางานทำของคนจีนรุ่นใหม่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเคยประกาศมาหลายปีว่าอยากจะให้คนหนุ่มสาวไปช่วยกันพลิกฟื้นชนบท ก็ยิ่งตอกย้ำแนวคิดดังกล่าวในช่วงหลายเดือนมานี้

มณฑลกว่างตงได้ประกาศแผนนำร่องเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า จะเปิดรับเด็กจบใหม่ 3 แสนคน เพื่อทำงานในพื้นที่ชนบทของกว่างตงภายในปี 2025 โดยมีเงื่อนไขดึงดูดเช่น ให้ตำแหน่งข้าราชการเป็นเวลา 2 ปี ให้เข้ารับการฝึกอบรมด้านการเกษตร และมีโครงการบ่มเพาะสำหรับการทำธุรกิจด้วย   

เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด \'หางานทำ\'

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กระบุว่างานในชนบทอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโตได้เพียงประมาณ 4% หรือลดลงถึงครึ่งหนึ่งจากระดับ 8% ในช่วงทศวรรษก่อน ขณะที่ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้มูลค่าของบ้านร่วงลง และครัวเรือนต่างๆ เริ่มไม่แน่ใจในอนาคตของพวกเขา ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ยังฉุดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย 

ขณะเดียวกัน การนำคนรุ่นใหม่ออกนอกเมืองที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโต ส่วนการขยายตัวของเมืองที่ชะลอตัวลงจะทำให้ความต้องการบ้านใหม่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนด้วย   

นักวิชาการบางส่วนเช่น เจนนี ชาน รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยามหาวิทยาลัยฮ่องกงโพลีเทคนิค มองว่า การจ้างงานคนรุ่นใหม่ในชนบทอาจเป็นเหตุผลด้านการเมืองและการซื้อเวลามากกว่า โดยอาจเป็นความพยายามลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลุกฮือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงจากสถานการณ์ล็อกดาวน์จากโควิดมาแล้ว ทั้งที่การประท้วงเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในจีน   

แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้นำจีนจะพยายามเสนอไอเดียของการพลิกฟื้นชนชท โดยหยิบยกเรื่องราวของตนเองสมัยยังเป็นคนหนุ่มในทศวรรษที่ 60 ที่ต้องออกไปช่วยคนรากหญ้าตามต่างจังหวัดและอดทนกับความยากลำบาก แต่หนุ่มสาวชาวจีนในปัจจุบันไม่ได้เติบโตมากับการต่อสู้หลังยุคเหมา เจ๋อตงอีกแล้ว และไม่อาจเชื่อมต่อแนวคิดของสีได้ หลายคนเลือกเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า หลายภาคส่วนเช่น เทคโนโลยี กลับง่อนแง่นยิ่งกว่าหลายอุตสาหกรรมเพราะการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และทำให้คนรุ่นใหม่ต้องหันไปหางานทำจากรัฐบาล ทั้งงานข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างของรัฐ  

เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด \'หางานทำ\'

เฉิน ปิง วัย 24 ปีที่เพิ่งจบการศึกษาด้านจิตวิทยา ไม่สามารถหางานประจำทำได้และต้องทำงานเป็นอาสาสมัครที่ปรึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง แม้โครงการนี้จะช่วยเพิ่มแต้มในการสอบข้าราชการในอนาคตได้ แต่ปัจจุบันเธอต้องอดทนกับค่าตอบแทนเพียง 2,300 หยวนต่อเดือน (ราว 1.14 หมื่นบาท)

บางครั้งเมื่อกังวลถึงอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป เธอก็ทำได้แค่บอกตัวเองว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำงานไปวันๆ ให้จบไปตามกระแส "ถ่างเผิง" หรือนอนราบ (Lying flat) ที่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดกันว่าไม่ต้องดิ้นรนกับชีวิตให้มากนัก เพราะทำงานให้ตายก็ไม่มีวันรวย

แต่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนจะคิดแบบนี้ จาง ป๋ออ้าย วัย 20 ปี เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการของกว่างตงตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เขาได้เงินอุดหนุนจากรัฐ 1 แสนหยวน และปัจจุบันกำลังเป็นหัวหน้าทีมโครงการพัฒนาดินที่มีเพื่อร่วมทีม 40 คน เพื่อช่วยกันหาทางเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

จางมองว่าในอดีตรัฐบาลเคยสนับสนุนให้ชาวนาทิ้งที่ดินเข้าเมืองและซื้อบ้านในเมือง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เติบโตกลายเป็นเมือง (urbanization) หลายเมืองในจีนเติบโตขึ้นจากการเสียสละของชาวนาและเกษตรกร มาวันนี้ถึงเวลาที่พวกเขาควรจะได้รับการตอบแทนกลับบ้างแล้ว 

ขณะที่คนรุ่นใหม่บางส่วนกลับยินดีกับวิถี "สโลว์ไลฟ์" ในต่างจังหวัดที่แม้จะได้เงินเดือนน้อยลง แต่พวกเขาก็ได้โอกาสผ่อนจังหวะชีวิตลงด้วย เช่น หวัง จื่อเฮ่า วัย 24 ปี ที่พอใจกับการทำงานในสำนักงานการคลังของเมืองชนบทเล็กๆ ในกว่างตง เมื่อเทียบกับสมัยที่ฝึกงานบัญชีในเมืองใหญ่ ซึ่งชีวิตเป็นไปอย่างรีบเร่ง ต้องอาศัยอยู่ชานเมืองที่ค่าเช่าห้องถูกและเดินทางวันละ 1 ชั่วโมงไปทำงาน โดยเงินที่ได้จากการฝึกงานเดือนละประมาณ 2,000 หยวน (เกือบ 1 หมื่นบาท) แทบจะหมดไปกับค่าที่พัก ค่ากิน และค่าเดินทาง 
 
"ในกว่างโจว ทุกอย่างดูเกินเอื้อมมาก ทั้งค่าห้องและค่าใช้จ่ายในแต่ละวันทำให้ผมรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก" หวังกล่าว

 

กระแส ‘เลย์ออฟ’ รุมเร้าเศรษฐกิจจีน

นอกจากฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐแล้ว “จีน” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกระแสการเลย์ออฟอย่างต่อเนื่องทั้งในปีนี้และอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นงานในฝันของหนุ่มสาวทั่วประเทศ

“ไบท์แดนซ์” บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลดังอย่างติ๊กต็อก หรือโต่วอิน ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคนและยุบธุรกิจเกม Nuverse หลังไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเทนเซ็นต์ได้ ซึ่งถือเป็นการถอนตัวออกจากอุตสาหกรรมเกมครั้งใหญ่ในจีน

รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า ไบท์แดนซ์ เตรียมปลดพนักงานหลายร้อยคน รวมทั้งยุบหลายโครงการที่กำลังพัฒนาและฉุดศักยภาพยอดขายของธุรกิจที่มีอยู่ โดยบริษัทยังพิจารณาขายเซี่ยงไฮ้ มูนตัน เทคโนโลยี สตูดิโอพัฒนาวีดิโอเกมชั้นนำที่ซื้อมาด้วยมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ (1.4 แสนบาท) เมื่อปี 2564 ด้วย

ด้าน “อีริคสัน” บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากสวีเดน ได้เลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคนพร้อมการยุบทีมวิจัยและพัฒนาระบบ 5G ที่สำนักงานในกว่างโจว เหลือเพียงฝ่ายการตลาดและฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิคเท่านั้น หลังจากที่ส่วนแบ่งการตลาด 5G ในจีนลดลง

เด็กจีนทิ้งฝันในเมืองใหญ่ มุ่งสู่ต่างจังหวัด \'หางานทำ\'

ขณะที่ “ฮอนด้า มอเตอร์” ประกาศเลิกจ้างงาน 900 อัตรา ในบริษัท จีเอซี ฮอนด้า ออโตโมบิล ที่กว่างโจว ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมผลิตกับกว่างโจว ออโดโมบิล กรุ๊ป โดยคิดเป็นสัดส่วนเลิกจ้างราว 7% ของพนักงานทั้งหมด 13,000 คน หลังจากที่ยอดขายในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึง 18.5% เมื่อเทียบปีก่อน อยู่ที่เพียง 4.9 แสนคันเท่านั้น

แม้แต่บริษัทรถยนต์จีนร้อยเปอร์เซนต์อย่าง “นีโอ” (Nio) ซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ใหญ่ในจีน ก็ยังประกาศแผนเตรียมเลิกจ้างถึง 30% ภายในระยะ 6 ปีข้างหน้า เนื่องจากจะมีการนำระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้แทนที่แรงงานคนในการผลิตรถอีวี

ในรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า นีโอได้เลิกจ้างไปแล้วประมาณ 10% ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน และในอนาคตก็จะนำระบบออโตเมชันกับเอไอเข้ามาใช้ให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานฝีมือเจ้าหน้าที่เทคนิค และลดรายจ่ายเรื่องการจ้างงานลง โดยหากมีการนำเอไอมาใช้ได้ถึง 80% ของกระบวนการตัดสินใจในการผลิต ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนงานด้านการจัดการลงได้ถึง 50% ภายในปี 2568

ที่มา: Bloomberg