ลุ้นสถานการณ์เมียนมา เมื่อรัฐประหารไม่สุด

ลุ้นสถานการณ์เมียนมา  เมื่อรัฐประหารไม่สุด

นับเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.2566 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ทั้งรัฐฉานตอนเหนือ รัฐกะยา รัฐชิน รัฐยะไข่ และภูมิภาคสะกาย

ภาพรวมของสงครามเมียนมา อาจกล่าวได้ว่ากองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำ แต่ไม่ถึงขั้นแตกพ่าย  และยังห่างไกลกับคำว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารรุกใหญ่ปิดล้อมเมืองเนปิดอว์

 นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มองสถานการณ์เมียนมาว่า กองทัพทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 เรื้อรังมาเกือบสามปียังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านประสานงานกันได้มากยิ่งขึ้น สามารถรวมพลังเป็นจุดๆ ตีกลับกองทัพเมียนมาที่ต้องรบรอบด้านทั่วประเทศ 

“ถึงจุดนี้เมื่อจะไม่ชนะ ปราบไม่ได้ ก็เริ่มมีข่าวว่าฝ่ายกองทัพอยากเจรจา ล่าสุดอินโดนีเซียที่ยังเป็นประธานอาเซียนเดือนสุดท้ายก็อยากจัดพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย หมายความว่าอาจมีสัญญาณมาแล้วว่าอินโดนีเซียอาจเชิญทั้งฝ่ายกองทัพ และฝ่ายประชาธิปไตยมาสู่โต๊ะเจรจา” อดีต รมต.ต่างประเทศไทยกล่าวถึงบริบทของอาเซียน ส่วนในกรณีของจีนนั้น การที่กองทัพเมียนมาควบคุมชายแดนไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน 

"จีนสนับสนุนฝ่ายทหารมาโดยตลอด แต่การที่รัฐบาลทหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ และตอนนี้ควบคุมชายแดนไม่ได้ ก็อาจทำให้เกิดอาชญากรรมข้ามชาติทุกประเภท เมื่อรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถทำอะไรกับจีนเทาได้ รัฐบาลจีนก็จำเป็นต้องพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย ก็คงมีการยื่นหมูยื่นแมวกัน ความต้องการของจีนคือ ต้องมีเสถียรภาพ ต้องขจัดโจรจีนทุกประเภท" 

สำหรับบทบาทของสหรัฐต่อสถานการณ์ในเมียนมา กษิตเชื่อว่าที่ปรึกษาประธานาธิบดีโจ ไบเดน คงให้คำแนะนำว่า สถานการณ์ยังพอควบคุมได้ปล่อยให้อาเซียนแสดงบทบาทนำ เรื่องเมียนมายังไม่ด่วนเท่ากับการที่สหรัฐสนับสนุนเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ให้ต่อกรกับจีน 

ด้านการเตรียมการรับมือของภาคธุรกิจไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า รัฐบาลในอดีตล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองและแนะนำภาคธุรกิจไทยรวมทั้ง ปตท.

"เพราะโลกเขาอยากให้แซงชั่น เงินที่จะจ่ายเป็นค่าก๊าซแทนที่จะส่งเข้าบัญชีทหารก็ควรส่งเข้า escrow account (บัญชีที่ได้รับการปกป้อง) เมื่อเมียนมากลับสู่ประชาธิปไตยค่อยปล่อยเงินออกมา" กษิตกล่าว และว่า ในเมื่อธุรกิจไทยทราบสถานการณ์การเมืองเมียนมาดีอยู่แล้วก็ควรถอนตัวออกมา 

"ผมอดคิดไม่ได้ว่าธุรกิจที่มีอยู่ทำมาค้าขายกับทหารเมียนมาสีเทาหรือเปล่า ธุรกิจบริสุทธิ์ในสภาวะสงครามกลางเมืองทำยาก"  

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาอันเป็นผลพวงจากปฏิบัติการ 1027 (วันที่ 27 ต.ค.66) โดยพันธมิตรฉานเหนือประกอบด้วยกองกำลังโกก้าง ปะหล่อง และตะอาง และปฏิบัติการ 1111 (วันที่ 11 พ.ย.66) ในรัฐกะยา

“สิ่งที่นักข่าวต่างประเทศและนักวิเคราะห์พูดคุยกันมากในตอนนี้คือการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาหลังจากฝ่ายต่อต้านคือกองกำลังป้องกันประชาชน (พีดีเอฟ) กับกองกำลังชาติพันธุ์ยึดเมืองสำคัญได้ 16 เมือง บางพื้นที่ยึดได้ถึงระดับรัฐ เช่น รัฐกะยา” 

อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายต่อต้านได้ชัยชนะก็ไม่คิดว่ากองทัพเมียนมาจะล่มสลายในเร็ววัน แม้ทหารเมียนมาแปรพักตร์มากขึ้น แต่ยังไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เพราะกำลังอาวุธยังต่างกันมาก ฝ่ายต่อต้านมีกำลังทหารราบ กองทัพส่งกองกำลังทางอากาศไปโจมตี แต่ยังยึดฐานที่มั่นคืนไม่ได้  นำไปสู่การคาดการณ์ว่า เมียนมาอาจมีรัฐประหารซ้อนแล้วหาคนมาเป็นผู้นำแทนมินอ่องหล่าย เหมือนสมัยเนวิน แต่บางคนคิดว่าอาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะองค์ประกอบของฝ่ายต่อต้านเปลี่ยนไป กล่าวคือ ผลักดันแนวคิดสหพันธรัฐมากขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการเป็นสหพันธรัฐยังทำได้ยาก 

รศ.ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า ไทยได้รับผลกระทบแน่ เมืองเมียวดีซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างเคเอ็นยูกับกองทัพเมียนมาอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ถ้าฝ่ายต่อต้านตัดเส้นทางขนส่งสินค้าไม่ให้เข้าเมียนมา ย่อมส่งผลสะเทือนมาถึงนักธุรกิจไทย "ที่ตอนนี้อาจแอบเอาใจช่วยกองทัพมากกว่าฝ่ายต่อต้าน เพราะคิดว่าดีลได้ง่ายกว่า ชัดเจนกว่า" 

ความยากลำบากของไทยในแง่เศรษฐกิจธุรกิจในทัศนะของ รศ.ดร.นฤมลอยู่ที่ ไทยต้องซื้อก๊าซจากเมียนมา อาศัยแรงงานเมียนมา และต้องขายสินค้าให้เมียนมา  ทั้งสามอย่างไทยทำผ่านระบบรัฐบาลกลาง เพราะฉะนั้นไทยก็ต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยรวมทั้งนักวิชาการหลายคนมองว่า รัฐบาลเมียนมายังอยู่รอดได้ 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาฯ มีประเด็นฝากถึงผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาที่ต้องทำใจ กล่าวคือทำอย่างไรให้พื้นที่ ที่ฝ่ายต่อต้านยึดครองฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมาได้ เช่น ที่เมืองหลอยก่อ ให้ระบบรัฐสภาท้องถิ่นทำหน้าที่ได้ก่อนอย่างเพิ่งไปหวังระดับประเทศ 

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ สถานการณ์สู้รบ ถ้ายังยันกันอยู่ไทยก็ต้องรับผู้ลี้ภัย ถ้ารัฐไทยใช้นโยบายปราบปรามอย่างเดียวคงไม่ได้ผล จำต้องไปคุยกับมหาอำนาจเช่น จีน สหรัฐด้วย 

"บางคนมองว่า ถ้าเมียนมาแตกบางเมืองมาอยู่กับไทย บางเมืองไปอยู่กับจีน แต่สหรัฐแม้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่อยากให้เมียนมาเป็นรัฐล้มเหลว เพราะกรณีฮามาสเกิดมาจากรัฐล้มเหลวในลิเบีย ซีเรีย แต่สหรัฐก็ทำอะไรมากไม่ได้ ขนาดช่วยยูเครนไปตั้งเยอะก็ทำอะไรไม่ได้เลย นี่กองทัพเมียนมาซึ่งอยู่ในอันดับ 38 ของโลกจาก 145 ประเทศทั่วโลก" 

ทุกฝ่ายต้องหยุดรัฐล้มเหลว

ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ส ระบุในบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องช่วยกันหยุดไม่ให้เมียนมากลายเป็นรัฐล้มเหลว โดยสถานการณ์ในเมียนมากำลังย่ำแย่ลงในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาก็กำลังสูญเสียอำนาจในการปกครองประเทศลงไปเรื่อยๆ ให้กับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่างๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความวุ่นวายในประเทศตามมา

แม้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องยอมสละอำนาจ แต่ประเทศจะต้องไม่กลายเป็นรัฐล้มเหลว ฝ่ายต่างๆ ที่แสวงหาเมียนมาที่เป็นประชาธิปไตย และอดทนอดกลั้นจะต้องรวมตัวกันและค้นหาจุดยืนที่มีร่วมกัน ขณะที่ประชาคมโลกจะต้องช่วยกันหล่อเลี้ยงกระบวนการนี้

แม้อาเซียนจะพยายามเข้ามาช่วยตั้งแต่หลังเกิดรัฐประหารปี 2564 จนผู้นำกลุ่มอาเซียนและพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารเมียนมาสามารถบรรลุฉันทามติ 5 ข้อร่วมกันได้ แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเหลวเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่อาเซียนก็ลังเลที่จะล้มหลักการไม่แทรกแซงชาติสมาชิก ความพยายามแก้ปัญหาในเมียนมาจึงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะเป็นสมัยที่อินโดนีเซียเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกที่เต็มไปด้วยพลัง และทะเยอทะยานมากที่สุดชาติหนึ่งก็ตาม โดยตำแหน่งประธานอาเซียนนั้นมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการขับเคลื่อนขององค์กร ส่วนในปีหน้าจะเปลี่ยนประธานหมุนเวียนไปเป็น สปป.ลาว ซึ่งอาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้มากนัก

หากอาเซียนปล่อยมือ “จีน” ก็น่าจะเป็นผู้เล่นที่เข้ามามีบทบาทต่ออนาคตของเมียนมามากที่สุด โดยจากเดิมที่เคยสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ช่วงไม่กี่เดือนมานี้จีนอาจจะหันมาสนับสนุนกองกำลังภราดรภาพสามฝ่ายที่เป็นแกนนำหลักในการต่อต้านรัฐบาลทหารรอบนี้ด้วย เนื่องจากกังวลเรื่องเสถียรภาพตามแนวชายแดนที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด และการค้ามนุษย์ซึ่งจีนกังวลว่าจะลามข้ามพรมแดนเข้ามา และยังมีรายงานว่าจีนไม่พอใจเรื่องปัญหาทุนจีนสีเทากับแก๊งไซเบอร์สแกมอีกด้วย จีนประกาศซ้อมรบตามแนวชายแดนหลังเกิดเหตุรถบรรทุกสินค้าของจีนเข้าเมียนมาถูกโจมตี และส่งเจ้าหน้าที่การทูตหารือกับทางการเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

เจแปนไทม์ส ระบุว่า นอกจากอาเซียนและองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะปล่อยมือแล้ว ฝั่งของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (เอ็นยูจี) ซึ่งมีที่นั่งในยูเอ็น กลับยังไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลกเท่าที่ควร แม้แต่กับญี่ปุ่น และสหรัฐก็ตาม

แต่การที่รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเพลี่ยงพล้ำ และกำลังเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม กระบวนการสันติภาพในเมียนมาจะต้องได้รับการฟื้นฟู และการยอมรับในรัฐบาลเอกภาพถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ อาเซียนต้องช่วยโน้มน้าวรัฐบาลทหารว่าไม่สามารถคงอยู่ในอำนาจได้ และต้องมีการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศที่มีความสำคัญทั้งในเชิงที่ตั้ง และภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้

ทางด้านเว็บไซต์สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองในสหรัฐได้ลงบทความของนายโจชัว เคอร์แลนซิก นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ่ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอาจล่มสลาย แต่สหรัฐ และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ จะพร้อมรับมือสถานการณ์นี้หรือไม่

บทความดังกล่าวเขียนถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่รัฐบาลทหารเพลี่ยงพล้ำมากขึ้น และสูญเสียฐานที่มั่นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายนอกคือ การเปิดแนวรบหลายด้านของกลุ่มภราดรภาพ และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ และจากปัจจัยภายในที่เกิดการแตกแยกภายในกองทัพ นายทหารจำนวนหนึ่งถูกกวาดล้างในปัญหาคอร์รัปชัน จำนวนทหารเหลือน้อยลง และพันธมิตรหลักอย่างรัสเซียก็ง่วนในสงครามของตนเอง ทำให้ถึงเวลาแล้วที่คนนอกจะต้องตระหนักว่ารัฐบาลทหารเมียนมากำลังสูญเสียความแข็งแกร่งลงอย่างรวดเร็ว และด้วยความล้มเหลวภายในหรืออาจมาจากการโจมตีครั้งใหญ่ในอนาคต อาจนำไปสู่การแตกพ่ายเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ 

แต่หากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่เป็นแกนนำ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติไม่มีการเตรียมรับมือให้ดี เมียนมาอาจแตกแยกเป็นกลุ่มก้อนต่างๆ โดยที่ไม่มีศัตรูร่วมเหมือนในอดีตอีกต่อไป และอาจนำไปสู่การรบกันเองได้ง่ายๆ จนทำให้ประเทศเสี่ยงต่อการนองเลือด และทำลายล้างส่วนที่เหลือในประเทศจนสิ้น

กระนั้นเจ้าหน้าที่สหรัฐหลายคนดูจะยังเชื่อว่ารัฐบาลทหารเมียนมาไม่อาจล้มได้ และอาจจบลงที่รัฐบาลยอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่าฝ่ายต่อต้านไม่จำเป็นต้องเจรจาหากยังสามารถถือไพ่เหนือกว่าได้เรื่อยๆ จนชนะก็ตาม ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเองก็ยังเสี่ยงต่อการล้มจากภายในเองด้วย เคอร์แลนซิค ระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐยังมีการเตรียมการรับมือน้อยกรณีหากรัฐบาลทหารเมียนมาล่มสลาย ทั้งการเตรียมรับมือช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา ไปจนถึงการวางกรอบการทำงานในอนาคต และการตั้งรัฐบาลกลางที่เป็นประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์