'กูเกิล' ยอมจ่าย 700 ล้านดอลล์ให้ 'รัฐ-ผู้บริโภคมะกัน' จบคดีผูกขาดตลาด
กูเกิลยอมจ่าย 700 ล้านดอลลาร์ จบคดีต่อต้านการผูกขาดตลาดให้กับรัฐต่าง ๆ และผู้บริโภคในสหรัฐ หลังถูกกล่าวหาว่าเรียกเก็บเงิน และค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม
ศาลรัฐบาลกลางซานฟรานซิสโกเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (18 ธ.ค.) ว่า กูเกิลยินยอมดำเนินการให้มีการแข่งขันในกูเกิล เพลย์ สโตร์ (Google Play Store) มากขึ้น และตกลงที่จะจ่ายเงิน 700 ล้านดอลลาร์ ตามเงื่อนไขของข้อตกลงในคดีต่อต้านการผูกขาดตลาดให้กับรัฐต่าง ๆ และผู้บริโภคในสหรัฐ
กูเกิลจะจ่ายเงิน 630 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนสำหรับผู้บริโภค และอีก 70 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุนของรัฐต่าง ๆ ตามข้อตกลง แต่ข้อตกลงนี้จะยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจะได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากผู้พิพากษา
ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า ผู้บริโภคที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์ และอาจได้รับเพิ่มตามจำนวนเงินที่ใช้จ่ายบนกูเกิล เพลย์ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. 2559 ถึง 30 ก.ย. 2566 โดยรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐทั้ง 50 รัฐ รวมถึงเขตโคลัมเบีย เปอร์โตริโก และหมู่เกาะเวอร์จิน ได้เห็นชอบร่วมกันในข้อตกลงนี้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า กูเกิลถูกกล่าวหาว่าเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคมากเกินไป โดยตั้งข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรมในการจำหน่ายแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ อีกทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมในแอปฯอีกด้วย ซึ่งกูเกิลปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ตามที่ถูกกล่าวหา
รัฐยูทาห์ซึ่งเป็นโจทก์หลัก และรัฐอื่น ๆ ได้ประกาศข้อตกลงเมื่อเดือนก.ย. แต่รายละเอียดต่าง ๆ ถูกเก็บเป็นความลับ ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีที่คล้ายคลึงกันระหว่างกูเกิลกับเอปิค เกมส์ (Epic Games) บริษัทผู้ผลิตเกมรายใหญ่ รวมถึงเกมชื่อดังอย่าง ฟอร์ทไนท์ (Fortnite) และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินเข้าข้างเอปิค เกมส์ โดยสรุปว่ากูเกิล เพลย์ สโตร์ ได้รับประโยชน์จากการผูกขาดตลาด
ทั้งนี้ ในส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าว กูเกิลกล่าวว่า จะดำเนินการให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปฯโดยตรงจากนักพัฒนาได้อย่างง่ายดายมากขึ้น