ส่องภาวะ ‘เลิกจ้าง’ บริษัทใหญ่ปี 2566 ปีแย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์
สิ่งที่น่าจับตาก็คือการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในปี 2566 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการเทคโนโลยี แต่ยังกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในสหรัฐ หากไม่นับรวมปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 จะเป็นปีแห่งการเลิกจ้างที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์
เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือ The Great Layoffs ซึ่งมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ กระแสนี้ยังมีขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2566 เมื่อกลุ่มบิ๊กเทคยังคงเดินหน้าเลิกจ้างขนานใหญ่ต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกปีนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาก็คือการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในปี 2566 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่ยังกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรมและทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐนั้น หากไม่นับรวมปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็จะถือเป็นปีแห่งการเลิกจ้างที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์
รายงานจากบริษัทติดตามข้อมูลการจ้างงาน ชาเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีการเลิกจ้างทั่วสหรัฐแล้ว 686,860 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 115% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากไม่นับรวมปีแห่งการระบาดของโควิดในปี 2563 ที่ครั้งนั้นมีการเลย์ออฟสูงถึงกว่า 2.2 ล้านคน ตัวเลขการเลย์ออฟในปีนี้จะถือเป็นปีที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หรือหนึ่งปีหลังเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินครั้งใหญ่ขึ้นในสหรัฐ โดยมีการเลิกจ้างไปแล้วถึง 1.242 ล้านคน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 นี้
“กลุ่มเทคโนโลยี” เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุดในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นความต่อเนื่องเนื่องที่มาจากแผนการปรับโครงสร้างใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2565 นำโดยกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคตั้งแต่ เมตา อเมซอน และไมโครซอฟท์
“กูเกิล” ประกาศเลิกจ้างครั้งใหญ่ 12,000 อัตรา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. หรือหลังผ่านการฉลองปีใหม่ยังไม่ถึงเดือน ซึ่งในครั้งนั้นซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิลให้เหตุผลว่า เพราะการให้ความสำคัญไปที่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งในปีนี้หลายบริษัทเทคโนโลยีหันมาให้ความสำคัญกับเอไอมากขึ้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งเอไอ นับตั้งแต่บริษัทโอเพ่นเอไอเปิดตัวแชทบอตชื่อ แชทจีพีที ตั้งแต่ปลายปี 2565
ด้าน “ไมโครซอฟท์” ประกาศเลิกจ้าง 10,000 อัตรา หรือราว 5% ของพนักงานทั้งหมดในเดือนเดียวกัน มีผลต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยในครั้งนั้นสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ไม่ได้อ้างถึงเอไอ แต่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสภาพการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคและความสนใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ “อเมซอน” ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซประกาศเลย์ออฟครั้งใหญ่ในปีนี้ถึง 2 ครั้ง คือ ในเดือน ม.ค. ที่เลิกจ้างไป 8,000 คน และในเดือน มี.ค. อีก 9,000 คน และหากรวมกับงวดปลายปี 2565 ถือว่าอเมซอนลดพนักงานไปถึงกว่า 27,000 คนทั่วโลกแล้ว และยังไม่นับรวมการทยอยเลิกจ้างเล็กๆ ที่ตามมาอีกในปีนี้
นอกจากบิ๊กเทคแล้ว บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ เซลส์ฟอร์ซ เดลล์ ไอบีเอ็ม ทวิตเตอร์ เอสเอพี ไมครอน และวีเอ็มแวร์ ต่างก็เดินหน้าลดพนักงานกันในหลักหลายพันคนในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่รายงานของชาเลนเจอร์ระบุว่า ยอดการปลดพนักงานของบริษัทอเมริกันในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. ปีนี้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ 180,000 อัตรา ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยบริษัทเทคโนโลยีมีสัดส่วนการปลดพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานที่ปรับลดลงไปในช่วงเวลา 2 เดือนแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคเทคโนโลยีจะมีการเลิกจ้างสูงที่สุด 93,000 อัตราใน 11 เดือนจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาตลอดทั้งปีไม่ได้จำกัดวงแค่บริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ค้าปลีก ธนาคาร ไปจนถึงวงการรถยนต์
ด้านอุตสาหกรรม “ค้าปลีก” เป็นภาคส่วนที่มีการเลิกจ้างสูงตามมา เฉพาะในเดือน พ.ย. เพียงเดือนเดียวมีการเลิกจ้างไป 6,548 อัตรา โดยสาเหตุสำคัญเป็นเพราะดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก สถานการณ์เงินเฟ้อ และการที่หลายคนต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอีกครั้ง หลังจากที่ได้พักหนี้ไปในช่วงโควิด ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางจำนวนมากต้องประหยัดรายจ่าย
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทผู้ผลิตของเล่น “แฮสโบรว์” เพิ่งประกาศลดคนไป 1,100 อัตรา หลังจากเลิกจ้างไปแล้วก่อนหน้านี้ 800 อัตรา โดยบริษัทให้เหตุผลเรื่องยอดขายที่ต่ำกว่าคาดในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขณะที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส “เอ็ตซี” ประกาศลดคน 11% เพื่อรับมือกับยอดขายที่ซบเซา
ขณะที่ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ก็มีการเลย์ออฟทยอยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เริ่มชะลอตัวลง โดยบริษัทที่เลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอีวี เช่น อาวร์ เน็กซ์ เอ็นเนอร์จี (วัน) ที่เลิกจ้าง 128 อัตรา หรือ 5% แอลจี เอ็นเนอร์จี โซลูชัน ลดพนักงาน 10% และล่าสุด บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เตรียมปลดพนักงานในมิชิแกนจำนวน 1,300 คน ในเดือน ม.ค. 2567
ทางด้าน“อุตสาหกรรมธนาคาร” เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการเลย์ออฟอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ ซึ่งซีเอ็นบีซีรวบรวมข้อมูลระบุว่า 5 บิ๊กธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ประกอบด้วย เจพีมอร์แกน, ซีตี้กรุ๊ป, แบงก์ออฟอเมริกา, มอร์แกนสแตนลีย์, และเวลส์ฟาร์โก มีการเลิกจ้างรวมกันแล้วในปีนี้มากกว่า 20,000 อัตรา เช่นเดียวกับธนาคารในอีกหลายประเทศ เช่นบาเคลย์ส ในอังกฤษ ที่เพิ่งประกาศเลิกจ้าง 2,000 อัตราไปจนถึงปีหน้า
ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่ไม่แน่นอน และการที่ปีนี้พนักงานสายแบงก์มีการลาออกโยกย้ายงานน้อย เป็นสาเหตุหลักที่ถูกกล่าวอ้างถึงในการลดคนของสายแบงก์ในปีนี้ และเป็นที่คาดว่าการเลย์ออฟในกลุ่มแบงก์อาจลากยาวไปถึงปีหน้า 2567
“ธนาคารกำลังลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในปีหน้าดูยังไม่แน่นอน นอกจากนี้แบงก์ยังต้องรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ทั้งหุ้นกู้เอกชนและสินเชื่อส่วนบุคคล” คริส มาริแน็ค ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทแจนนีย์ มอนต์โกเมอรี สก็อต กล่าวกับซีเอ็นบีซี