จุดร้อนฉ่าท้า "สงครามภูมิภาค" และเขตต่อขยาย
ปี 2024 น่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบสิบปี ไม่เพียงแต่อุณหภูมิกายภาพโลกจะร้อนที่สุดในรอบแสนปีเท่านั้น แต่โลกเสี่ยงต่อสงครามขนาดใหญ่มากมายหลายสมรภูมิพร้อมกันอย่างที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว
ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ถึงขั้นสงครามโลกก็จริง แต่ความเกี่ยวข้องของแต่ละประเทศในแต่ละภูมิภาคที่อาจเกิดการปะทะขึ้นนั้นเยอะมาก แทบไม่มีชาติไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบและแทบไม่มีชาติใดงอมือดูดายปล่อยไหลไปตามน้ำ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมไปตามมีตามเกิด แต่ละประเทศล้วนอาจต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งในสมการความตึงเครียดของจุดร้อนฉ่าเหล่านั้น
ขอให้ดูที่ยุโรปก่อน เราเห็นการแบ่งข้างเข้าต่อกรกันมาสองปีแล้ว รัสเซียอันยิ่งใหญ่ผลัดกันรุกกันรับกับยูเครน สูญเสียหนักกันทั้งคู่แต่ก็ยังไม่รู้จะสิ้นสุดวันไหน หากระบอบปูตินไม่ล่มสลายจากภายใน มหาอำนาจทางทหารอันดับ 2 ของโลกก็จะไม่มีวันแพ้ยูเครน
ซึ่งชาติตะวันตกยอมยากจนลงแต่ก็เปิดหน้าหนุนหลังสุดขีด เหลือไม่ช่วยอย่างเดียวคือส่งพลเมืองของตนไปตายร่วมอย่างเป็นทางการเท่านั้น
สมรภูมิยูเครนคือ Hotspot ที่ยังร้อนแรงตลอดปี 2024 ก็จริง แต่มีแนวโน้มว่าการปะทะหรืออย่างน้อยก็ความตึงเครียดกำลังระบาดไปสู่เขตต่อขยาย
ทางเหนือ ฟินแลนด์เป็นชาตินาโต้ที่มีมีพรมแดนติดกับรัสเซียมากที่สุด และเพราะรัฐบาลเฮลซิงกิเข้าร่วมนาโต้นี่เอง รัสเซียจึงไม่พอใจหนักจนใช้แผนถ่ายเทผู้อพยพคนละศาสนาเชื้อชาติเผ่าพรรณเข้ากลืนกินฟินแลนด์ แนวทางนี้เป็นทำนองเดียวกับที่เบลารุสใช้กับโปแลนด์เหมือนกัน
การกระทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดความวุ่นวายทั้งปัญหาประชากร มนุษยธรรมและความเกลียดชังข้ามพรมแดนฝังรากลึก จนอาจเกิดการปะทะขึ้นได้
ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์ที่ชาติตะวันตกกำลังหันไปสนใจอิสราเอลมากกว่ายูเครน ทำให้รัสเซียอาจฮึกเหิมกล้าเปิดแนวรบใหม่ในมอลโดว่าก็เป็นได้ เพราะหากต้องการยึดภาคใต้ของยูเครนเพื่อขจัดอันตรายต่อไครเมียอย่างเด็ดขาดก็มีแต่ต้องผ่านทางนี้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นนาโต้ย่อมไม่อยู่เฉยเป็นแน่
อิสราเอลไม่แผ่วในการถล่มฉนวนกาซา โดยที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านสงครามต่างพากันตาปริบ ๆ บังคับรัฐบาลเทลอาวิฟไม่ได้ เพราะอิสราเอลตระหนักถึงความอยู่รอดของชาวยิวมากกว่าเรื่องอื่นใด สมรภูมินี้เคยวิเคาะห์ไปแล้วว่าไม่บานปลายเป็นสงครามตามแบบขนาดใหญ่ เพราะไม่มี “ชาติปรปักษ์” ของอิสราเอลชาติใดมีความกล้าเหมือนสมัยอียิปต์ซีเรียเมื่อ 50-60 ปีก่อน
กระนั้นก็ตาม เขตต่อขยายของความขัดแย้งเช่นในทะเลแดงที่กลุ่มฮูตีกำลังผยอง หรือช่องแคบฮอร์มุซ ที่ซาอุฯ อาจได้อาวุธจากสหรัฐ ฯ มาช่วยปราบฮูตี ก็จะทำให้ความตึงเครียดกับอิหร่านกลับมามีขึ้นอีก หรือแม้แต่ในแผ่นดินอิหร่าน หากยังสนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ มากนักจนขัดใจมหาอำนาจเข้า ก็อาจโดน”ชิงโจมตีก่อน”แบบที่เกิดในซีเรียหรืออิรักก็เป็นได้
ในเอเชียตะวันออกก็มีจุดร้อนที่แรงขึ้นทุกทีอย่างคาบสมุทรเกาหลี ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าความอดทนของแต่ละฝ่ายไปจะถึงจุดเดือดที่ยอมกันไม่ได้เมื่อไหร่
แต่ที่แน่ ๆ เวลานี้เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในขีปนาวุธพิสัยทั้งไกลและใกล้ทุกรูปแบบ ดาวเทียมจารกรรมก็ชัดแจ๋ว ขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็กำลังเดินเครื่อง จะไม่มีฝ่ายใดชิงโจมตีก่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบในสงครามจริง ๆ หรือ หรือนี่จะเป็นแค่ปาหี่แบล็คเมล์คุกคามแลกข้าวเหมือนที่เคยเป็นมาหลายสิบปี
และหากเกิดการสู้รบ มันจะลามไปยังจุดเปราะบางอื่น ๆ เช่นทะเล Okhotsk ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น หรือทะเลจีนตะวันออก ที่รัฐบาลโตเกียวกับปักกิ่งเห็นต่างกันเรื่องพรมแดนหรือไม่ หากเกิดความขัดแย้งด้วยกำลัง พันธมิตรนอกภูมิภาคย่อมต้องเคลื่อนไหวอย่างครึกครื้น
ไต้หวันจะเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 13 นี้ การคุกคามจากจีนในห้วงเวลานี้อาจดูเงียบไปหน่อย คงเพราะหวังว่าตัวแทนจากพรรคก๊กมินตั๋งอาจพลิกชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ก็ได้ แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นตามหวัง ประธานาธิบดีไต้หวันคนที่ 8 ยังมาจากพรรค DPP ล่ะก็ เกาะฟอร์โมซาก็เตรียมรับแรงเค้นเต็มสตรีมจากแผ่นดินใหญ่ได้เลย
และ Hotspot อาจไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะช่องแคบไต้หวัน แต่ขยายไปน่านน้ำต่อเนื่องเช่น ทะเลจีนตะวันออก หรือทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก เพราะพันธมิตรนอกภูมิภาคที่เชิดชูอุดมการณ์เดินเรือเสรีเขาก็พร้อมแทรกแซงสถานการณ์อยู่ อีกทั้งอาเซียนก็คงไม่นิ่งเฉย เพราะรัฐชายฝั่งหลายชาติก็ข้องเกี่ยวเรื่องอธิปไตยทับซ้อนอยู่
ใกล้บ้านเราอีกนิด คือเมียนมาร์ที่การตะลุมบอนรุนแรงขึ้นหลายแนวรบ นั้นไม่น่าจะทำให้สันติภาพบังเกิดขึ้นได้ ทั้งยังอาจเป็นข้ออ้างของการปฏิวัติภายในระบอบทหารเสียด้วย
ส่วนที่กัมพูชา ซึ่งจีนเข้าใกล้ความจริงเรื่องฐานทัพโพ้นทะเลเข้าไปทุกที นั้นไม่ถึงขั้นจะบอกได้ว่าจะกลายเป็น Hotspot แต่ก็ให้จับตาไว้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาจะแก้เกมในเรื่องนี้อย่างไร และจะกระทบอะไรกับชาติในอ่าวไทยหรือไม่