เทรนด์แบงก์ลดคนยาวข้ามปี 'ซิตี้กรุ๊ป'เลิกจ้าง 20,000 คน

เทรนด์แบงก์ลดคนยาวข้ามปี 'ซิตี้กรุ๊ป'เลิกจ้าง 20,000 คน

ซีเอฟโอซิตี้กรุ๊ป เผย เตรียมปลดพนักงาน 20,000 คนตลอดสองปีข้างหน้า หลังธนาคารรายงานขาดทุนสุทธิ 1.8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสสี่ปี 2566 เลวร้ายสุดในรอบ 15 ปี แต่แนวโน้มธนาคารส่อแววดีขึ้นในห้าปีข้างหน้า

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นรายงาน นายมาร์ก เมสัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่การเงิน (ซีเอฟโอ) กล่าวเมื่อวันศุกร์ (12 ม.ค.) ตามเวลาสหรัฐ ซิตี้กรุ๊ปเตรียมปลดพนักงาน 20,000 คนตลอดสองปีข้างหน้า คาดว่าช่วยลดงบประมาณได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในระยะยาว

ทั้งนี้ ซิตี้รายงานขาดทุนมหาศาลในไตรมาสสี่ 1.16 ดอลลาร์ต่อหุ้น สูงกว่าที่บริษัทแฟคท์เซ็ตประเมินไว้ที่ 11 เซนต์ต่อหุ้นมาก

ซิตี้ชี้แจงว่า การจ่ายเงินก้อนใหญ่หลายครั้งส่งผลต่อผลประกอบการ เช่น การจ่ายเงิน 1.7 พันล้านดอลลาร์ในวิกฤติธนาคารสหรัฐเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีก่อน ขาดทุนในอาร์เจนตินา 880 ล้านดอลลาร์ และต้นทุนการปรับโครงสร้าง 800 ล้านดอลลาร์จากการปลดพนักงานราว 7,000 คนในปี 2566

การปลดพนักงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามระยะยาวของนางเจน เฟรเซอร์ ซีอีโอซิตี้เพื่อลดความล่าช้าและเพิ่มผลกำไร ในการประชุมเมื่อเช้าวันศุกร์นางเฟรเซอร์กล่าวว่า ผลประกอบการ "น่าผิดหวังมาก" แต่ปี 2567 จะเป็น "จุดเปลี่ยนสำหรับซิตี้ที่เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับสามของสหรัฐ

นอกเหนือจากลดคน 20,000 อัตราในแผนกปฏิบัติการแล้ว ซิตี้จะลดพนักงานอีก 40,000 คนในกลุ่มธุรกิจรายย่อยของเม็กซิโกผ่านการทำไอพีโอ ทำให้กำลังคนโดยรวมลดจาก 240,000 คนเหลือราว 180,000 คน

ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซิตี้คาดว่า จะต้องจ่ายเงินชดเชยและต้นทุนปรับโครงสร้างองค์กรถึง 1 พันล้านดอลลาร์

โฆษกซิตี้กล่าวด้วยว่า การปลดคนจะทำทั่วโลกแต่ไม่เผยตัวเลขเป็นรายภูมิภาค

ที่ผ่านมาซีอีโอซิตี้กรุ๊ปประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรเป็นวงกว้างเมื่อเดือน ก.ย.2566 มีทั้งการจัดทัพผู้นำใหม่, เพิ่มการตรวจสอบได้และเพิ่มราคาหุ้น ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องลดพนักงานลง
 

กล่าวได้ว่า “อุตสาหกรรมธนาคาร”เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการเลย์ออฟอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566  เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซีเอ็นบีซีรวบรวมข้อมูลระบุว่า 5 บิ๊กธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ประกอบด้วย เจพีมอร์แกน, ซีตี้กรุ๊ป, แบงก์ออฟอเมริกา, มอร์แกนสแตนลีย์, และเวลส์ฟาร์โก มีการเลิกจ้างรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 อัตรา เช่นเดียวกับธนาคารในอีกหลายประเทศ เช่นบาเคลย์ส ในอังกฤษ ที่ประกาศเลิกจ้าง 2,000 อัตราไปจนถึงปี 2567

ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ที่ไม่แน่นอน และพนักงานสายแบงก์มีการลาออกโยกย้ายงานน้อย เป็นสาเหตุหลักที่ถูกกล่าวอ้างถึงในการลดคนของธนาคารในปี 2566   คาดว่าการเลย์ออฟในกลุ่มแบงก์อาจลากยาวมาถึงปี  2567 อย่างกรณีของซิตี้กรุ๊ป

ไอเอ็มเอฟคาดเอไอทำจ้างงานลด

สำนักข่าวบีบีซี เผยผลวิเคราะห์ใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ระบุปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อาจกระทบงานเกือบ 40%

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ในกรณีส่วนใหญ่เอไอทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้นและการกำหนดนโยบายควรแก้ไข “แนวโน้มที่เป็นปัญหา” เพื่อ “ป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีสร้างความตึงเครียดทางสังคม”

ไอเอ็มเอฟระบุ เอไอมีแนวโน้มกระทบสัดส่วนของงานมากขึ้น หรือกระทบเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วราว 60% ซึ่งในกรณีดังกล่าว มีแรงงานได้ประโยชน์จากการปรับใช้เอไอเพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพียง 50%  อีกด้านหนึ่งเอไอมีศักยภาพปฏิบัติงานของมนุษย์ในปัจจุบันได้แล้ว อาจส่งผลให้ความต้องการจ้างงานลดลง กระทบค่าจ้าง และแม้กระทั่งไม่มีงานให้ทำเลย

บทวิเคราะห์ไอเอ็มเอฟ เผยแพร่ในช่วงที่ธุรกิจระดับโลกและผู้นำทางการเมืองร่วมประชุมกันในงานเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ เทคโนโลยีใหม่กำลังเผชิญกับข้อหนดมากมายทั่วโลก เมื่อเดือนก่อนสภาพยุโรป (อียู)เห็นชอบออกกฎหมายควบคุมการใช้เอไอชั่วคราว โดยรัฐบาลสภายุโรปจากลงความเห็นร่างกฎหมายเอไอในช่วงต้นปีนี้ แต่ข้อกำหนดต่าง ๆ ยังไม่มีผลจนกว่าจะถึงอย่างน้อยปี 2568

ขณะที่สหรัฐ อังกฤษ และจีนได้ออกข้อกำหนดเอไอของตนเองเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธนาคารอาจดีขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงผลการศึกษาจากบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (บีซีจี) พบว่า ธนาคารทั่วโลกอาจมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นรวม 7 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าเดินหน้าเน้นการเติบโตของธุรกิจและส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ผลการศึกษาระบุ บรรดาธนาคารให้กู้อาจมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 เท่า ถ้าเน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตของบริษัท และปรับปรุงอัตราส่วนตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี (price-to-book ratio หรือ P/BV) แม้เผชิญอุปสรรคต่าง ๆ

บีซีจี เผยว่า “ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการมองโลกในแง่ร้ายของภาคธนาคารฉุดการทำกำไรอย่างหนัก”

หุ้นธนาคารประมาณ 75% มี P/BV ต่ำกว่า 1 ในปี 2565 ขณะที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรหุ้น (price-to-earning หรือP/PE) อยู่ในระดับเกือบ 50% ของระดับในปี 2551

ขณะเดียวกันผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในปัจจุบันน้อยกว่าดัชนีตลาดใหญ่ ๆ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติทางการเงิน และช่องว่างผลตอบแทนหุ้นก็กว้างขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ธนาคารลงทุนเพิ่มผลผลิตและลดความซับซ้อนในการดำเนินงานได้ แต่กำไรของธนาคารยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความต้องการเงินทุนสูง และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้เล่นที่ใหม่กว่า เช่น บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค

“ธนาคารไม่อาจกลับไปสู่ระดับที่สามารถทำกำไรและมีมูลค่าเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติทางการเงิน” บีซีจี ย้ำ