บริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ประเดิม แห่‘เลย์ออฟ’ตั้งแต่ต้นปี
บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างกูเกิล, ทวิช และอเมซอน เริ่มต้นปี 2024 ด้วยการ “เลย์ออฟ” พนักงาน แต่การ “เลย์ออฟ” ในปี 2024 มีสาเหตุแตกต่างจากปีที่แล้ว และกำลังจะกลายเป็นนิว นอร์มอล ที่มนุษย์เงินเดือนสามารถตกงานได้ตลอดเวลา
การ “เลย์ออฟ” พนักงานของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยหลายบริษัทมีการ “เลย์ออฟ” พนักงานกันตลอดทั้งปี ปีที่แล้วมีคนถูก “เลย์ออฟ” มากถึง 262,000 คน จนกระทั่งในปีนี้ ปี 2024 ที่ผ่านมาได้ยังไม่ถึง 1 เดือน บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล, ทวิช และอเมซอน ประกาศ “เลย์ออฟ” พนักงานรวมกันทั่วโลก มากกว่า 8,000 คนแล้ว สร้างความกังวลใจให้กับคนที่ทำงานสายนี้ที่ไม่รู้ว่าจะมีการ “เลย์ออฟ” อีกเมื่อไร และตัวเองอาจตกงานเมื่อไรก็ได้
สาเหตุการเลย์ออฟพนักงานของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในช่วงปี 2022 และปี 2023 เป็นเพราะว่าบริษัทมีการขยายตัวมากเกินไปในช่วงที่โควิดระบาด จนทำให้หลายคนหันมาใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ในการทำงานจากที่บ้าน หรือใช้ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม อยู่ที่บ้านมากขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทก็ต้องเร่งรับพนักงานเพิ่มในช่วงนั้นเพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น
แต่เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย วิถีชีวิตปกติเริ่มกลับมา ผู้คนใช้เวลากับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตน้อยลง ทำให้หลายบริษัท มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงต้องเลย์ออฟพนักงานบางส่วน เพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ สถานการณ์การทำธุรกิจในโลกได้กลับมาเป็นปกติตามเดิมแล้ว แต่เพราะอะไร บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ยังคงมีการเลย์ออฟพนักงานไม่หยุด สาเหตุหลักของการเลย์ออฟในปีนี้ มีอยู่สองข้อ ข้อแรก คือหลายบริษัทมีนโยบาย “เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน”
ปีที่แล้ว บริษัทเมตาของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีนโยบายทำให้ปี 2023 เป็น “ปีแห่งประสิทธิภาพ” ที่ทางบริษัทมีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มผลผลิตของพนักงานทุกส่วน และลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ทำให้เมตา ปลดพนักงานออกกว่า 10,000 คน เมื่อปีที่แล้ว ช่วยให้บริษัทประหยัดเงินได้จำนวนมหาศาล และเทรนด์การเลย์ออฟพนักงานยังคงอยู่ในปี 2024 และจะมีการเลย์ออฟเกิดขึ้นอีกหลายครั้งจนกลายเป็น New Normal
ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจสแตนฟอร์ด บอกว่า การที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เลย์ออฟพนักงาน อย่างพร้อมเพียงกัน เป็นพฤติกรรมเลียนแบบรูปแบบหนึ่ง เมื่อบริษัทหนึ่งเลย์ออฟพนักงาน แล้วบริษัทยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก็จะเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆ ทำตาม ซึ่งตอนนี้ นโยบายที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำลังโฟกัสก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท นั่นหมายถึงการลดต้นทุน การลดภาระที่ไม่จำเป็น จนทำให้เกิดการเลย์ออฟอย่างที่เราเห็น
สาเหตุการเลย์ออฟพนักงาน ข้อที่สอง คือการมาของเทคโนโลยี “เอไอ” โดยขณะนี้ หลายบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาเอไอ จึงต้องลดจำนวนพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้ง แล้วหันมาเพิ่มพนักงานในส่วนพัฒนาเอไอ อย่างกูเกิล ที่ลดพนักงานในส่วนวิศวกรฮาร์ดแวร์ เพื่อเพิ่มพนักงานในส่วนพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งทางบริษัทเชื่อว่าเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจต่อจากนี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในปีนี้จะยังมีการเลย์ออฟพนักงานในบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง จนกลายเป็น New Normal ที่พนักงานจะเริ่มคุ้นชิน พนักงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนงานใหม่ ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงเทคโนโลยีสอดคล้องกับคำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ที่ระบุว่า เทคโนโลยีเอไอจะกระทบต่อตำแหน่งงานเกือบ 40% ของงานทั้งหมด
คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ในสถานการณ์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าเอไอจะทำให้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมแย่ลงกว่าเดิม
จอร์จีวา เห็นว่าผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายควรจัดการกับแนวโน้มที่น่าหนักใจนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีเพิ่มความตึงเครียดทางสังคม
โดยทั่วไปแล้ว คนงานที่มีรายได้สูงและอายุน้อยกว่า อาจมีค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างไม่สมส่วนหลังจากนำเอไอมาใช้ ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าผู้มีรายได้น้อยและแรงงานสูงอายุ อาจไล่ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ทัน
“หลายประเทศไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน หรือแรงงานที่มีทักษะในการควบคุมประโยชน์ของเอไอ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีนี้อาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศเหล่านี้แย่ลง”จอร์จีวา กล่าว