สถานทูตสหรัฐ ชวนชมศิลปะจัดวาง ฉลองสัมพันธ์การทูตกับไทย 190 ปี ณ หอศิลป์กทม.
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จัดนิทรรศการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ครบรอบ 190 ปี ผ่านงานศิลปะจัดวางผ้าสุดวิจิตรที่สื่อถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในหลายแขนง สามารถเชี่ยมชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 25 มิ.ย. ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ
สถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐเปิดนิทรรศการ “Weaving Our Stories: สานสัมพันธ์การทูตสหรัฐฯ-ไทย 190 ปี” อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตหว่างสองประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดี (18 ม.ค.) ที่ผ่านมา
หัวใจสำคัญของการเฉลิมฉลองนำเสนอผ่านผลงานศิลปะจัดวาง "Time Owes Us Remembrance กาลเวลาㆍคืนค่าㆍหวนรำลึก" โดยอแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินชาวไทย-อเมริกัน ผู้มากความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะหลายแขนง
ผลงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือและการสนทนาระหว่างคนทั้งสองชาติ สะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นของชาวไทยและชาวอเมริกัน ตลอดจนนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชน เครือญาติ ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลงานของสตรี ทั้งยังนำเสนอผลงานถักทอผ้าผสมผสานจากวัฒนธรรมอเมริกันและไทยเข้าด้วยกันอย่างวิจิตรตระการตา ฉายภาพอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอย่างสวยงาม
โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เผยว่า หลังได้ร่วมงานศิลปะวาดภาพบนกำแพงในสถานทูตสหรัฐกับอแมนด้า รู้สึกประทับใจในผลงานของเธอ จึงเชิญชวนอแมนด้าร่วมทำโครงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐด้วยกัน
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ ทูตโกเดคได้เปรียบกับผ้าที่ถักทอด้วยเส้นด้านหลายล้านเส้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนกันในหลากหลายแขนงตลอด 190 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม การค้า การลงทุน สาธารณสุข สุขภาพ และการทหาร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชน
โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย
ส่วนไฮไลต์สำคัญที่น่าชื่นชมของผลงานชิ้นนี้ เอกอัครราชทูตเผยว่า อแมนด้าได้เดินทางไปฝึกทอผ้าและเรียนรู้ศิลปะทอผ้าในชุมชนต่าง ๆ ทั่วไทย ซึ่งได้พบเจอกับคนท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงมากมาย ถือเป็นการเผยแพร่และยกย่องผลงานที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จัก และส่งเสริมให้มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น
อแมนด้า ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะอันเลอค่านี้ เล่าว่า งานศิลปะที่เธอทำ ส่วนใหญ่ผ่านการพูดคุยกับชุมชนซึ่งผลงานชิ้นนี้เธอได้พูดคุยกับช่างศิลป์ และสตรีหลายท่านจาก 42 ชุมชนในไทย ได้เรียนรู้วิธีการถักทอและการย้อมผ้าของท้องถิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่ ซึ่งอแมนด้ามองว่าผ้าชนิดนี้ทำยากมาก
อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ
หลังจากร่วมงานกับคนในท้องถิ่นแล้ว เธอได้รับแรงบันดาลในการทำศิลปะจัดวางมาจากคำพูดของ “แม่แม่” ทางภาคเหนือที่บอกกับเธอว่า “ผ้ามีชีวิต” เธอจึงตั้งใจอยากสร้างสรรค์ผลงานจากฝีมือมนุษย์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่สามารถบ่งบอกเรื่องราวต่าง ๆ หากทุกคนได้ชมผลงานและลวดลายศิลปะจัดวางของเธอ จะรู้สึกได้ถึงน้ำตก ทุ่งนา ท้องทะเล และป่าไม้
เมื่อถามถึงระยะเวลาการสร้างสรรค์ศิลปะดังกล่าว อแมนด้าบอกว่า งานชิ้นนี้ทำในสตูดิโอของเธอเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่กระบวนการก่อนที่จะเกิดผลงานชิ้นนี้ อาทิ การฝึกทอผ้าท้องถิ่น การพูดคุยกับคนในท้องถิ่น รวมกับระยะเวลาทำผลงานแล้วใช้เวลานานเกือบ 1 ปี
อแมนด้าได้ทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนทุกคนไปชมผลงานนี้ ได้สัมผัสความรู้สึกมหัศจรรย์ และวิญญาณจิตแห่งชุมชนที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ นิทรรศการจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 มิ.ย. 2567 ส่วนในระหว่าง “สัปดาห์แห่งการถักทอ” ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 ม.ค. จะมีการจัดศิลป์เสวนา และเวิกช็อปต่าง ๆ หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจะจัดกิจกรรมเสวนา "ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม" เป็นประจำทุกเดือนตลอดช่วงที่จัดนิทรรศการ
Weaving Our Stories สานสัมพันธ์การทูตสหรัฐฯ-ไทย 190 ปี