สาวญี่ปุ่นแห่ 'ฝากไข่ไว้กับรัฐ' โครงการจูงใจแก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่มีลูก
ผู้หญิงญี่ปุ่นแห่เข้าร่วมโครงการฝากไข่ของทางการกรุงโตเกียว หลังรัฐบาลออกโครงการนำร่องอุดหนุนค่าใช้จ่ายฝากไข่ 'คนละครึ่ง' แก้ปัญหาประชากรเกิดใหม่ต่ำติดอันดับโลก
รัฐบาลกรุงโตเกียวเปิดเผยว่า โครงการฝากไข่ของรัฐบาลโตเกียว ที่มอบเงินอุดหนุนให้สูงสุดถึง 300,000 เยน (ราว 7.2 หมื่นบาท) เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการ ฝากไข่ (egg-freezing) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องทั่วประเทศที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำติดอันดับโลก ได้รับสนใจอย่างล้นหลาม โดยมีผู้หญิงกว่า 7,000 คนลงทะเบียนขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการใหม่นี้ ขณะที่มีผู้หญิง 1,800 คนที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนต.ค.
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกรุงโตเกียวคาดการณ์ว่า ความต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะน้อยกว่านี้มาก โดยมีการจัดสรรงบประมาณไว้ 60 ล้านเยนเพื่อการอุดหนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งเพียงพอที่จะมอบให้กับผู้หญิงจำนวนมากที่สุด 200 คน
โครงการนี้เปิดให้บริการแก่ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 18-39 ปี ไม่ว่าจะแต่งงานแล้วหรือยังไม่ได้แต่งงานก็ตาม ซึ่งแตกต่างไปจากนโยบายด้านการเจริญพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่ไม่รวมผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังไม่มีกำหนดเวลาในการสมัครและไม่มีการจำกัดจำนวนเงินอุดหนุนเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งยูริโกะ โคอิเกะ นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นเอชเคว่า กรุงโตเกียวมีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณในโครงการดังกล่าวขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ การฝากไข่ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ที่สามารถช่วยยืดอายุการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงได้ แต่ก็มีราคาสูงมากในญี่ปุ่น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300,000-600,000 เยน (ราว 7.2 หมื่นบาท-1.4 ล้านบาท) ซึ่งการที่รัฐบาลออกโครงการอุดหนุนคนละครึ่ง (วงเงินสูงสุด) และครอบคลุมถึงผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานด้วย จึงสามารถดึงดูดผู้มาเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก
รัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับ อัตราการเกิดที่ต่ำ เป็นประวัติการณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 1.3 โดยระดับ 2.1 ถือว่าเหมาะสมที่สุดในการรักษาเสถียรภาพประชากร ขณะที่ในปี 2565 รัฐบาลตกลงที่จะคืนเงิน 70% ของค่าใช้จ่ายใน การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)