โลกร้อนสุดขีด ! หิมาลัยไร้หิมะ อุตฯสกีรีสอร์ทแคชเมียร์ช้ำ นักท่องเที่ยวหาย
ปีนี้ผลกระทบภาวะโลกร้อนเห็นได้ชัดในแคชเมียร์ หนึ่งในดินแดนสกีรีสอร์ทที่สูงสุดในโลกกลายเป็นเมือง "ไร้หิมะ" ภูเขาเป็นสีน้ำตาลโล้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอ่วม นักท่องเที่ยวหาย ภาคการเกษตรเสี่ยงได้รับผลกระทบหนักไปด้วย
ฤดูหนาวบน เทือกเขาหิมาลัย ควรเต็มไปด้วยหิมะ รวมถึงกุลมาร์ค (Gulmarg) หรือ แคชเมียร์ ดินแดนในการปกครองของอินเดีย หนึ่งในสกีรีสอร์ทที่สูงที่สุดในโลกที่มีท่องเที่ยวไปเยือนหลายพันคน แต่ปีนี้กองหิมะที่เคยมีกลับหายไป เปลี่ยนภูเขาเป็นสีน้ำตาลโล้น แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของสภาพอากาศรุนแรงจากโลกร้อนอย่างรวดเร็ว
“มาจีด บักชี” ผู้ให้บริการเฮลิ สกี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูง บอกว่า “จากชีวิตการทำงานที่นี่ 20 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่กุลมาร์คไม่มีหิมะในเดือนมกราคม” เฮลิคอปเตอร์ของบริษัทเปิดให้บริการเที่ยวบิน พานักท่องเที่ยวขึ้นเขาสูงๆ ไปยังบริเวณที่มีหิมะแทน ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการเล่นสกีได้ยกเลิกทริป ทำให้เขาเสียการจองท่องเที่ยวไปประมาณ 70%
“ฮามิด มาซูดี” ผู้จัดการโรงแรมเล่าว่า “แขกของที่พักส่วนใหญ่เป็นนักสกี และพวกเขายกเลิกการจองทั้งหมดเลย คนที่มาแล้วไม่เจอหิมะก็รู้สึกไม่พอใจ” และเสริมว่า ลิฟต์ของลานสกี และร้านเช่าอุปกรณ์สกีปิดตัวลง ขณะที่ลานสเกตน้ำแข็งกลายเป็นสระน้ำไปแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเผยว่า ยอดจองโรงแรมในกุลมาร์คก็ลดลงมากถึง 3 ใน 4 ของยอดจองทั้งหมด ขณะที่ไกด์ และคนขับสกู๊ดเตอร์นับร้อยนั่งรอแสงแดด อธิษฐานขอหิมะ
“ชาคิล รอมชู” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิสลามในแคชเมียร์ กล่าวว่า ฝนแล้งในแคชเมียร์ เป็นสถานการณ์สภาพอากาศรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงและบ่อยขึ้นในอนาคต
ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา ระบุว่า แคชเมียร์มีฝนตกน้อยเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิสูงกว่าปกติประมาณ 6 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปีก่อน และน้ำจากอากาศ (precipitation) ลดลง 80% จากปี 2566 ขณะที่หิมะตกเล็กน้อย และกำลังละลายเร็วๆ นี้
โลกร้อนกระทบภาคเกษตรเมืองหนาว
กระทรวงวิทยาศาสตร์โลกของอินเดีย ระบุในรายงานปี 2563 คาดว่า เทือกเขาหิมาลัย และแคชเมียร์อาจได้รับผลกระทบมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมสกีแล้ว หลายอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่มีความเปราะบางก็กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคเกษตรกรรมเช่นกัน
รอมชู เผย การวิจัยพบว่าแคชเมียร์อาจประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงที่บ่อยขึ้น ยาวนานมากขึ้น และรุนแรงมากขึ้นในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า
แม้หิมะละลายช่วยทำให้แม่น้ำมีน้ำเพิ่มขึ้น แต่สัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่ในแคชเมียร์ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ และมีความเสี่ยงเกิดไฟป่า เนื่องจากพื้นที่ป่าหลายแห่งมีความแห้ง เสี่ยงติดไฟง่าย
ขณะที่ชาวนาที่จำเป็นต้องมีน้ำให้ไว้ใช้ทำการเกษตรก็เริ่มเปลี่ยนไปปลูกผลไม้แทน แต่พืชผลยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เพราะภาวะฝนแล้ง และแสงแดดทำให้ต้นไม้ออกดอก และเบ่งบานมากกว่าช่วงสองเดือนก่อน
อ้างอิง: CNA
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์