ตรวจแนวรบสงครามสะเทือนโลก รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดง

ตรวจแนวรบสงครามสะเทือนโลก รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดง

สงครามของรัสเซียในยูเครนดำเนินมาจะครบสองปี แต่ดูเหมือนชาวโลกจะให้ความสำคัญน้อยลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสขึ้นในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ความคืบหน้าล่าสุดของทั้งสองสงครามยังไม่มีวี่แววยุติ

สงครามของรัสเซียในยูเครนดำเนินมาจะครบสองปี แต่ดูเหมือนชาวโลกจะให้ความสำคัญน้อยลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสขึ้นในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ความคืบหน้าล่าสุดของทั้งสองสงครามยังไม่มีวี่แววยุติ ส่วนช่องแคบไต้หวันชนวนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงหลายปีหลัง ดูเหมือนจะมีสัญญาณบวกขึ้นมาบ้างจากกรุงเทพมหานคร 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมไทม์ไลน์สำคัญ เริ่มต้นจากวันที่ 7 ต.ค.2566 กลุ่มมือปืนฮามาสบุกจากฉนวนกาซาเข้าไปทางภาคใต้ของอิสราเอล จู่โจมชุมชนต่างๆ คร่าชีวิตประชาชน 1,200 คน และจับไปเป็นตัวประกันในกาซาอีก 240 คน ตามข้อมูลของอิสราเอล

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศทำสงครามและเริ่มโจมตีทางอากาศตอบโต้ในกาซาที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นพร้อมปิดทางเข้าออกกาซาที่ตั้งอยู่ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์

 8 ต.ค. กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่านเหมือนฮามาส เริ่มยิงข้ามพรมแดนเข้ามาทำให้อิสราเอลต้องตอบโต้

27 ต.ค. อิสราเอลเปิดการโจมตีทางบกเริ่มจากตอนเหนือของกาซา โดยให้คำมั่นว่าเพื่อปล่อยตัวประกันทั้งหมดและกำจัดฮามาส

21 พ.ย. อิสราเอลและฮามาสประกาศหยุดยิงครั้งแรกเป็นเวลาสี่วันเพื่อปล่อยตัวประกันหญิงและเด็กที่ถูกจับอยู่ในกาซา และกับผู้หญิงและวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์ที่ถูกทางการอิสราเอลจับกุมคุมขังด้วยข้อหาความมั่นคง พร้อมเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้ามายังกาซาได้มากขึ้น

ต่อมาการหยุดยิงขยายเวลารวมเป็นหนึ่งสัปดาห์ ปล่อยตัวประกัน 105 คน และชาวปาเลสไตน์ราว 240 คน ก่อนจะกลับมาทำสงครามกันอีกครั้งในวันที่ 1 ธ.ค.

ราววันที่ 4 ธ.ค. กองทัพอิสราเอลบุกภาคใต้กาซาครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก บริเวณชานเมืองข่านยูนิส องค์การระหว่างประเทศกล่าวว่า สงครามเฟสใหม่จะทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเลวร้ายขึ้น ในเฟสนี้ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลครอบคลุมตลอดความยาวของฉนวนกาซา รวมทั้งพื้นที่หลบภัยของประชาชนหลายแสนคน

12 ธ.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐกล่าวว่า การทิ้งระเบิดแบบไม่เลือกหน้าในกาซาของอิสราเอลทำลายการสนับสนุนระหว่างประเทศ หลายสัปดาห์ต่อมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐหลายรายมาเยือนอิสราเอล ขอให้ปกป้องพลเรือนมากขึ้น ลดขนาดสงครามลง และเปลี่ยนมาเป็นการโจมตีพุ่งเป้าผู้นำฮามาสโดยเฉพาะ

15 ธ.ค. กองทัพอิสราเอลเผลอสังหารสามตัวประกันในกาซา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการทำสงคราม

ตั้งแต่วัันที่ 1 ม.ค.2567 อิสราเอลส่งสัญญาณจะเริ่มถอนทหารบางส่วนออกจากกาซาเพื่อทำสงครามเฟสใหม่ที่มีเป้าหมายมากขึ้นซึ่งจะใช้เวลานานหลายเดือน การเปลี่ยนผ่านทางยุทธวิธีเริ่มต้นที่ทางตอนเหนือของกาซา ขณะที่ทางตอนใต้การต่อสู้ยังเข้มข้นต่อเนื่อง

11 ม.ค.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) เปิดรับฟังข้อกล่าวหาของแอฟริกาใต้ต่ออิสราเอลว่า ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นำโดยรัฐต่อชาวปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหา

26 ม.ค. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสั่งให้อิสราเอลดำเนินการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และให้ส่งรายงานการดำเนินการดังกล่าวภายในเวลา 1 เดือน แต่ไม่มีคำสั่งให้อิสราเอลทำการหยุดยิงในฉนวนกาซาแต่อย่างใด

วิกฤติทะเลแดง

ระหว่างที่สงครามในกาซายังดำเนินไปได้เกิดวิกฤติใหม่แทรกเข้ามา ตั้งแต่เดือน พ.ย.กลุ่มฮูตีในเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลังเช่นเดียวกับฮามาส เริ่มโจมตีเรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลในทะเลแดง เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา สร้างความปั่นป่วนให้กับการค้าโลกเนื่องจากเส้นทางนี้เชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป ปริมาณสินค้าเข้าออกคิดเป็น 12% ของการขนส่งสินค้าทางทะเลโลก บริษัทขนส่งสินค้าจำต้องเลี่ยงเส้นทางนี้ไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทวีปแอฟริกา  นั่นหมายถึงเวลาและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น

สหรัฐรับมือด้วยการเป็นแกนนำพันธมิตร เปิด“ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง” (Operation Prosperity Guardian)ต่อยอดจากกองกำลังทางทะเลร่วม (CMF) ซึ่งเป็นแนวร่วมระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 39 ประเทศ โดยกองกำลังทางทะเลร่วมดำเนินงานภายใต้กองเรือที่ห้าของกองทัพเรือสหรัฐในบาห์เรนมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องการเข้าถึงและเสถียรภาพทางทะเล

11 ม.ค. สหรัฐและอังกฤษผนึกกำลังกันใช้เครื่องบินรบ เรือ และเรือดำน้ำ โจมตีทางอากาศทั่วเยเมนตอบโต้ฮูตีโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง

วันรุ่งขึ้นสหรัฐลงมืออีกครั้ง ฮูตีเผยว่านักรบห้าคนถูกสังหารในการโจมตีครั้งแรกพร้อมประกาศว่าจะตอบโต้และเล่นงานเรือสินค้าในทะเลแดงต่อไป

ล่าสุดกองบัญชาการกลางสหรัฐ (CENTCOM) แถลงว่า เมื่อเช้าตรู่วันเสาร์ (27 ม.ค.) CENTCOM ได้ทำลาย “ขีปนาวุธต่อต้านเรือ” ลูกหนึ่งของฮูตีก่อนปล่อยยิง เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง

ด้านสถานีโทรทัศน์อัลมาสิราห์ของฮูตีรายงานว่า สหรัฐและอังกฤษโจมตีทางอากาศสองครั้งในเมืองท่าราสอิสซา จ.โฮดิดาของเยมน ซึ่งเป็นที่ตั้งคลังน้ำมันส่งออกที่สำคัญ

ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันหรือลอนดอนยังไม่มีการยืนยันข่าว ฮูตีเองก็ไม่ได้ให้รายละเอียดหรือรายงานความเสียหาย

ก่อนหน้านั้นเมื่อเย็นวันศุกร์ (26 ม.ค.) โฆษกกองทัพฮูตีแถลงว่า ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันมาร์ลิน ลอนดา ดำเนินการบริษัทอังกฤษภายใต้กลุ่มทราฟิกุรา บริษัทเดินเรือใหญ่รายหนึ่ง

ในวันเสาร์อีกเช่นกัน ฮูตีปล่อยคลิปวีดิโอความยาว 18 นาที ผลิตโดยเครือข่ายโฆษณาชวนเชื่อ เผยภาพนักรบในชุดทหารซ้อมรบเป้าสมมุติ ใช้อาร์พีจีถล่มอาคาร รถฮัมวีและรถถังติดธงสหรัฐและอิสราเอล

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียช็อกโลกเปิดการสู้รบครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งกองทัพบุกยูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565 คร่าชีวิตประชาชนหลายหมื่นคน ขณะที่อีกหลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ สั่นสะเทือนระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเขย่าตลาดหุ้น

ยูเครนที่สูญเสียดินแดนในช่วงแรก แต่กองทัพก็แข็งแกร่งเกินคาดต้านทานกองทัพรัสเซียไว้ได้ในทางภาคเหนือ ทำให้รัฐบาลเครมลินต้องเน้นการโจมตีในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออก ครั้งถึงฤดูใบไม้ร่วงกองทัพเคียฟโจมตีเอาคืน จนยึดคืนพื้นที่ที่มอสโกยึดไปได้ตอนแรกกลับมาหนึ่งในห้า

สงครามที่ยืดเยื้อเกือบสองปีประกอบกับเกิดสงครามในกาซาแทรกซ้อนเข้ามาดูเหมือนโลกกำลังจะลืมยูเครนไปแล้ว  สถานการณ์ในแนวหน้ายังไม่มีใครเอาชนะได้เด็ดขาด  ล่าสุดเว็บไซต์เดอะการ์เดียนรวบรวมสถานการณ์ไว้เมื่อเวลา 15.45 น. วันเสาร์ (27 ม.ค.) รายงานข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร ระบุ การโจมตีตอบโต้ของยูเครนทำให้รัสเซียต้องถอยร่นไม่สามารถยึดเมืองแอฟดิฟกาได้ทั้งหมดกองทัพรัสเซียเสียหายหนักทั้งกำลังพลและรถหุ้มเกราะ บ่อยครั้งเกิดจากการโจมตีด้วยโดรนของยูเครน

ในภาพรวมรัสเซียยังครองภูมิภาคลูฮันส์ก ดอนบาส โดเนตส์ก มาริอูโพล และโรโบไทน์ทางภาคตะวันออกเอาไว้ได้ ยิ่งสงครามยืดเยื้อความช่วยเหลือจากโลกตะวันตกดูไม่แรงเท่าเมื่อช่วงเริ่มสงคราม ในวันที่ 9 ก.พ. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้อนรับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนีที่ทำเนียบขาว เพื่อหารือกันเรื่องความช่วยเหลือยูเครน ในช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังกดดันสภาคองเกรสให้เห็นชอบข้อตกลงความช่วยเหลือยูเครน หลังถูกรีพับลิกันคัดค้านอย่างหนัก 

ช่องแคบไต้หวัน

อีกหนึ่งฮอตสปอตความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในเอเชีย ไต้หวันเพิ่งผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ทั่วโลกจับตากันมาก ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ผู้มีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนมาตลอดแปดปีในตำแหน่ง ไม่สามารถลงแข่งขันได้อีก จึงส่งรองประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อมาทำหน้าที่นี้แทน สร้างความท้าทายให้กับจีนจนต้องประกาศเอาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกระหว่าง “สงคราม” กับ “สันติภาพ” หมายความว่า ถ้าเลือกไล่ ชิงเต๋อ จากพรรครัฐบาลเท่ากับเลือกสงคราม

แต่ชาวไต้หวันกลับทำสวนทางกับสิ่งที่จีนพูด เลือกพรรคดีพีพีเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ติดต่อกัน หนึ่งวันหลังการเลือกตั้งตัวแทนไม่เป็นทางการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาเยือนไต้หวันเพื่อให้กำลังใจ ตามด้วย ส.ส.สหรัฐ อีกทั้งเมื่อวันที่ 24 ม.ค.เรือพิฆาตยูเอสเอส จอห์น ฟินน์แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เลือกตั้ง เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือของทุกประเทศ กล่าวได้ว่า ความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวันไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลสองฝั่งช่องแคบ แต่มีสหรัฐถูกจับตาไปด้วย

ซัลลิแวนคุยหวังอี้ที่ กทม.

ล่าสุดมีสัญญาณดี เมื่อเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐและหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ใช้เวลาสองวัน (26-27 ม.ค.) หารือกันที่กรุงเทพมหานครถือเป็นการติดต่อกันระดับสูงครั้งล่าสุดหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าการพบกันที่กรุงเทพฯตอกย้ำความพยายามของสหรัฐและจีนที่จะปรับความสัมพันธ์หลังตึงเครียดเมื่อปี 2566ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างที่สองประธานาธิบดีพบกันในปีก่อน เช่น การปราบปรามขบวนการลักลอบขนเฟนตานิลและกองทัพทั้งสองประเทศกลับมาติดต่อสื่อสารกันอีกครั้งหนึ่ง โดยในเดือนนี้เจ้าหน้าที่กลาโหมจีนและสหรัฐจะกลับมาเจรจาประสานนโยบายกันอีกครั้งที่เพนตากอน

ระหว่างการเจรจาซัลลิแวนเร่งจีนใช้ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจให้อิหร่าน ควบคุมการโจมตีเรือขนส่งสินค้าของฮูตีซึ่งการรักษาเส้นทางการค้าโลกเอาไว้จีนจะได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารทางการเผยแพร่ข้อมูลการสนทนาของหวังและซัลลิแวน ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นฮูตี มีเพียงจุดยืนด้านนโยบายที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุหวังย้ำในประเด็นไต้หวันว่าเป็นกิจการภายในของจีน และความเสี่ยงใหญ่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันคือ “เอกราชไต้หวัน” ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบหารือเพิ่มเติมเรื่องขอบเขตระหว่างความมั่นคงแห่งชาติกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ส่วนแถลงการณ์ทำเนียบขาวระบุ ซัลลิแวนย้ำถึงความสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน ทั้งยังหารือกันเรื่องการพูดคุยระหว่างสหรัฐและจีนในประเด็นเอไอในฤดูใบไม้ผลิ และกลุ่มทำงานทวิภาคีต่อต้านยาเสพติดเริ่มทำงานในวันที่ 30 ม.ค.

ประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ถูกนำมาพูดคุยได้แก่ ตะวันออกกลาง ยูเครน คาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้ 

ศึกเลือกตั้งสหรัฐ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแนวรบ แต่สำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก นั่นคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.2567 ที่เป็นไปได้อย่างมากว่าจะเป็นการรีแมตช์ระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของพรรคเดโมแครต เมื่อทรัมป์ชนะการคัดเลือกตัวแทนในรัฐไอโอวาเป็นรัฐแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ตามด้วยรัฐนิวแฮมเชียร์ 

การสำรวจความเห็นชาวอเมริกัน 1,250 คนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ชี้ว่า ทรัมป์มีคะแนนนำไบเดนที่ 40% ต่อ 34% ทำเนียบขาวเองก็เชื่อว่าทรัมป์เป็นผู้ท้าชิงที่มีสิทธิชนะ ขณะที่เจ้าตัวเชื่อมั่นเช่นนั้น เนื่องจากนิกกี เฮลีย์ คู่แข่งที่เหลือเพียงคนเดียวคงยากจะรวบรวมเสียงได้ทัน

สองสงครามที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้สหรัฐสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลอย่างแข็งขัน หากเปลี่ยนผู้นำจากไบเดนเป็นทรัมป์เป็นไปได้อย่างมากว่า การสนับสนุนของสหรัฐจะเปลี่ยนทิศทาง เนื่องจากทรัมป์ไม่ชอบให้สหรัฐไปยุ่งในกิจการโลกอยากให้สนใจกิจการภายในมากกว่า