รู้จัก 'ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI' ตำแหน่งสุดฮอตค่าตอบแทน 35 ล้านบาท

รู้จัก 'ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI' ตำแหน่งสุดฮอตค่าตอบแทน 35 ล้านบาท

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเพิ่งจะไฮป์ไปกับกระแส "เมตาเวิร์ส" ที่ถูกปลุกโดยเมตา และทำให้เกิดตำแหน่งใหม่อย่าง Chief Metaverse Officer เป็นครั้งแรก แต่ตำแหน่งนี้กำลังเสี่ยงหายไป พร้อมการมาแทนที่ของตำแหน่งบริหารที่ร้อนแรงที่สุดในวันนี้อย่าง Chief AI Officer

Key Points

  • การเปลี่ยนเทรนด์ไอทีโลกส่งผลกระทบโดยตรงต่องานในตำแหน่งบริหาร C-level ขององค์กรหลายแห่งทั่วโลก
  • ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเมตาเวิร์ส (CMTO) กำลังหายไป และถูกแทนที่ด้วยประธานเจ้าหน้าที่ด้านเอไอ (CAIO)
  • หลายองค์กรทั่วโลกกำลังเปิดตำแหน่งบริหารด้านเอไอ โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 35 ล้านบาทต่อปี 


การมาไวไปไวของเทรนด์โลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนทำงานทั่วไป ที่ต้องวุ่นวายกับการรีสกิล-อัปสกิลเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงกลุ่มคนทำงานระดับ "ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร" หรือที่รู้จักกันว่า C-suite/ C-Level ที่นำโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ Chief Executive Officer:CEO และมีประธานเจ้าหน้าที่อีกหลายฝ่าย เช่น การเงิน การตลาด และเทคโนโลยี 

หนึ่งในตำแหน่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาก็คือ "ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเมตาเวิร์ส" (Chief Metaverse Officer: CMTO) ที่หลายบริษัทพากันเปิด และเฟ้นหาตำแหน่งนี้เมื่อช่วงปี 2564-2565 เพื่อรับการตื่นตัวของกระแสเมตาเวิร์ส หลังจากมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเมตา และเฟซบุ๊ก ประกาศเทรนด์ใหม่ของโลกในช่วงปลายปี 2564     

บลูมเบิร์ก ระบุว่า บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง "พับลิซิส กรุ๊ป" ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประกาศแต่งตั้ง CMTO ขึ้นในช่วงกลางปี 2565 โดยมีร่าง "อวตาร" (Avatar) มาในรูปทรงหัวสิงโตพร้อมชื่อว่าลีออน ทำหน้าที่ให้คำแนะนำลูกค้าผ่านทางโลกเสมือนจริงเวอร์ชวล และกลายเป็นไวรัลในช่วงนั้นมาแล้ว บริษัทชื่อดังหลายแห่งตั้งแต่ "ดิสนีย์" ไปจนถึง "พีแอนด์จี" พากันแต่งตั้ง CMTO ซึ่งมีทั้งที่เป็นคนจริงๆ และเป็นอวตารในโลกเวอร์ชวล

แต่ลีออนก็ทำงานได้ไม่นานเพราะหลังจากนั้นเพียง 5 เดือน โอเพนเอไอก็ได้เปิดตัวแชตบอต "แชทจีพีที" (ChatGPT) ที่ถือเป็นการเปลี่ยนเทรนด์เทคโนโลยีครั้งใหญ่พาโลกเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง หรือ Generative AI

รู้จัก \'ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI\' ตำแหน่งสุดฮอตค่าตอบแทน 35 ล้านบาท

การเปลี่ยนเทรนด์ครั้งนี้ทำให้ทีมผู้บริหารด้านเมตาเวิร์สในหลายบริษัทต้องออกจากตำแหน่งหรือออกจากงาน ชื่อและโพรไฟล์ของลีออนถูกลบออกจากบัญชีลิงก์อิน และเว็บไซต์บริษัทราวกับไม่เคยมีตัวตน มีเพียงข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อครั้งเปิดตัวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในเว็บไซต์

ถึงยุค 'ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเอไอ' ผงาด

การเปลี่ยนเทรนด์จากเมตาเวิร์สมาสู่เอไอ ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต่างเปิดตำแหน่งบริหารด้านเอไอขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านเอไอ (CAIO) ที่อยู่ในระดับ C-suite หรือตำแหน่งในระดับอื่นๆ ก็ตาม และบริษัทเหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี เพราะธุรกิจหลายประเภท เช่น แอคเซนเจอร์ และจีอี เฮลท์แคร์ ต่างก็มองหาผู้บริหารด้านเอไอในองค์กรเช่นกัน 

บลูมเบิร์ก ระบุว่าสถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ CMTO จำนวนหนึ่งต้องปฏิวัติตัวเองหันไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอแทน เพื่อให้รอดพ้นจากการล้างตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์โลก และรับกับ "ค่าตอบแทน" ที่กำลังพุ่งแรงที่สุดอาชีพหนึ่งในวันนี้

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาองค์กร ไฮดริก แอนด์ สตรักเกิลส์ พบว่า ค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปีของ CAIO พุ่งทะลุ 1 ล้านดอลลาร์ (กว่า 35 ล้านบาท) ไปแล้ว ขณะที่หลายบริษัทเช่น พับลิซิส ก็เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีแผนจะลงทุน 300 ล้านยูโร (ราว 1.15 หมื่นล้านบาท) ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อลงทุนด้านเอไอและหาทาเลนต์ในด้านนี้ 

ด้านเว็บไซต์อาซิออสเคยรายงานอ้างฐานข้อมูลจากกลาสดอร์ว่า การจ้างงานเอไอในระดับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ (Senior Executive Service level) มีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงสุดที่ 212,100 ดอลลาร์ (ราว 7.5 ล้านบาท) 

รู้จัก \'ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI\' ตำแหน่งสุดฮอตค่าตอบแทน 35 ล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งในระดับทีมบริหารองค์กร หรือ C-suite ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงธรรมชาติที่ไม่แน่นอนของเทรนด์เทคโนโลยี และความยากลำบากขององค์กรต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับกระแสความไฮป์เกินกว่าพื้นฐานความเป็นจริง

ปัจจุบันเหล่าผู้บริหารของหลายบริษัทที่เคยรับผิดชอบด้านเมตาเวิร์ส ต่างออกจากงานหรือถูกเปลี่ยนไปรับผิดชอบด้านเอไอแทน เช่น แพทริค ธาการ์ อดีตผู้บริหารด้านเมตาเวิร์สในบริษัทโคคาโคล่า ที่ปัจจุบันยังอยู่กับบริษัทเดิมแต่เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้บริหารด้านเจนเนอเรทีฟ เอไอแทน ขณะที่โจแอนนา พ็อพเพอร์ อดีต CMTO ของบริษัทครีเอทีฟ อาร์ตทิส เอเจนซี ได้ออกจากบริษัทไปเป็นกรรมการฝ่ายสังเกตการณ์ของสตาร์ตอัปด้านเอไอ เมตาฟิสิกส์ดอตเอไอ แทน

อย่างไรก็ตาม ฟาวัด บัจวา ผู้บริหารด้านเอไอจากบริษัทที่ปรึกษารัสเซลล์ เรย์โนลด์ส แอสโซซิเอทส์ ระบุว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเปลี่ยนสายงานได้ง่ายๆ เพราะทักษะสำหรับผู้บริหารด้านเอไอนั้นค่อนข้างจะแตกต่างออกไป และไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกกันได้ง่ายๆ 

ไมเคิล ไวท์ อดีตผู้บริหารด้านเมตาเวิร์สจากดิสนีย์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของคนที่ต้องออกจากสายงานเดิม และบริษัทเดิมโดยไม่ได้เปลี่ยนไปสู่วงการเอไอ โดยปัจจุบัน ไวท์เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทซุกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนายานยนต์ไร้คนขับในเครือของอเมซอน ดอต คอม ในขณะที่อิออนนา มาเทอิ ก็ได้ออกจากพีแอนด์จีเพื่อไปทำงานด้านนวัตกรรมที่บริษัทด้านเกษตรระดับโลกแห่งหนึ่งแทน 
 
ปัจจุบันยังมีผู้บริหารหลายคนที่ยังทำงานด้านเมตาเวิร์สอยู่ เพียงแต่มีการขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นนอกเหนือจากเมตาเวิร์สและ Web3 เช่น บล็อกเชน ขณะที่หลายบริษัทยังให้ความสนใจ และมีตำแหน่งงานด้านเมตาเวิร์สอยู่เพื่อเน้นเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพียงแต่อาจไม่มีตำแหน่งนี้ในระดับ C-suite แล้วเท่านั้น