ศึก ‘ภูมิรัฐศาสตร์โลก’ จุดเสี่ยงเริ่มขยับเข้าใกล้ไทย
ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าโลกของเราเกิดสงครามใหญ่ถึง 2 จุด ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง แน่นอนว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจจึงจัด สัมมนา Geopolitics 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนได้รู้ทันถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้
ถ้าถามว่าอะไรคือความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ...หนึ่งในคำตอบที่ “ซีอีโอ” ของบริษัทใหญ่ๆ ตอบเหมือนๆ กัน คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพราะคาดเดาไม่ได้เลยว่านับจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ “รัสเซีย” บุกถล่ม “ยูเครน” ตามด้วยสงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” เท่ากับว่า 2 ปี มานี้มีสงครามใหญ่เกิดขึ้นถึง 2 จุด ปี 2022 สงครามในทวีปยุโรป ปี 2023 สงครามในตะวันออกกลาง ผู้คนจึงเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วในปี 2024 จะเกิดสงครามในจุดไหนอีกหรือไม่ ที่สำคัญจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเศรษฐกิจโลกและไทย
ด้วยเหตุนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จึงจัดสัมมนา Geopolitics 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย ในวันนี้(31 ม.ค.) เวลา 13.00-16.30 น. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ จุดยืนประเทศไทย ในสมรภูมิโลกขัดแย้ง และยังได้รับเกียรติจาก คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) ประจำประเทศไทย ขึ้นพูดในหัวข้อ การทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยท่ามกลางวิกฤติโลก
นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนาในหัวข้ออื่นๆ อีก 3 เวที คือ เวที Geopolitics : Hot Spot ใหม่ที่โลกจับตา ไทยรับมือ, เวทีส่องเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกวิกฤติ และ เวทีรัฐปรับตัว ธุรกิจปรับแผน พลิกวิกฤติสู่โอกาส โดยเป้าหมายของงานสัมมนาในวันนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจรวมไปถึงนักลงทุนและประชาชนทั่วไปรู้ทันกับความเสี่ยงใหญ่จากภัยภูมิรัฐศาสตร์โลกที่นับวันจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าคนที่ติดตามข่าวสารด้านนี้อย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้เริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ และจุด Hot Spot ใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงในช่วงไม่กี่วันมานี้ คือ บริเวณคาบสมุทรเกาหลีที่ช่วงหลังๆ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นเป็นระยะๆ จากการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
อีกประเด็นที่ทำให้ไทยตกเป็นเป้าซึ่งทั่วโลกเฝ้าจับตาดู คือ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเรามีโอกาสต้อนรับคณะใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 2 ประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีน โดยมี “กรุงเทพมหานคร” เป็นเสมือนห้องรับรองแขก ที่มาพบปะหารือเรื่องความมั่นคงต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งกำลังร้อนแรง โดยเราเองหวังว่าจะช่วยคลายความตึงเครียดต่างๆ ลงได้บ้าง แน่นอนว่าการพบกันในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าไม่ใช่วิสัยปกติ แต่เป็นความตั้งใจที่จะมาพบกันของทั้งคู่ในระหว่างการเยือนไทย ซึ่งไทยเราถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างดี และยังสะท้อนไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อทั้งสหรัฐและจีนด้วย
การพบกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ สหรัฐ และ จีน ในครั้งนี้ ถือเป็นการติดต่อกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงครั้งล่าสุดหลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน พบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่แคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนพ.ย.2566 ซึ่งการพบกันครั้งนี้ยังนำไปสู่การเปิดโอกาสที่ผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศจะได้พูดคุยกันผ่านสายโทรศัพท์ด้วย และในการนี้ จีน ก็ถือโอกาสเตือนสหรัฐอีกครั้งถึงประเด็นไต้หวันว่า อย่าพยายามทำให้ไต้หวันแยกเป็นเอกราชจากจีน เราจึงเห็นว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกนับวันยิ่งขยับเข้าใกล้ตัวมากขึ้น ซึ่งปีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งบริเวณช่องแคบไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลีมีเรื่องให้ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด