'แก้วกระดาษ' อาจไม่รักษ์โลก ? นักวิจัยชี้อันตรายไม่แพ้พลาสติก

'แก้วกระดาษ' อาจไม่รักษ์โลก ? นักวิจัยชี้อันตรายไม่แพ้พลาสติก

แม้ที่ผ่านมา “แก้วกระดาษ” เป็นความหวังที่ว่าจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้บ้าง แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution พบว่าการทดสอบแก้วกระดาษในงานวิจัยอาจมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมากกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้

แก้วกระดาษ หรือภาชนะอื่นๆ ที่ทำมาจากกระดาษ ถือว่าเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่หลายคนเลือกใช้ในการสั่งอาหารกลับบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ “พลาสติก” เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต แต่กลับมีงานวิจัยออกมาว่า “บรรจุภัณฑ์จากกระดาษ” อาจมีอันตรายใกล้เคียงกับพลาสติก เพราะยังมีการเคลือบพลาสติกเอาไว้บางๆ ที่อาจกลายเป็นสารเคมีปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้

แม้ที่ผ่านมา “แก้วกระดาษ” เป็นความหวังที่ว่าจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้บ้าง แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution พบว่าการทดสอบแก้วกระดาษในงานวิจัยอาจมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมากกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้

ผลการศึกษาเบื้องต้นของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กหลังจากที่ทำการทดลองโดยการนำแก้วแบบใช้แล้วทิ้งที่มีวัสดุแตกต่างกันมาอยู่กับลูกน้ำของยุงลาย และพบว่าแก้วทั้งหมดส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพวกมัน ไม่เว้นแม้แต่ “แก้วกระดาษ”

เบธานี คาร์นีย์ อาล์มรอธ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “เราทิ้งแก้วกระดาษและแก้วพลาสติกไว้ในตะกอนเปียกและน้ำ เป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และคอยติดตามว่าสารเคมีที่ถูกชะล้างออกมาจากแก้วจะส่งผลกับตัวอ่อนอย่างไร ซึ่งเห็นได้ว่าแก้วทุกประเภทส่งผลเสียหมด”
\'แก้วกระดาษ\' อาจไม่รักษ์โลก ? นักวิจัยชี้อันตรายไม่แพ้พลาสติก

สาเหตุที่ทำให้มีสารเคมีออกมาจากแก้วกระดาษไม่ต่างจากพลาสติกก็เพราะแก้วกระดาษไม่มีทั้งไขมันและน้ำในตัวเอง จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้กระดาษดูดซับของเหลวหรือสลายตัวเมื่อเทของร้อนลงไป ทำให้ต้องเคลือบพื้นผิวเพื่อให้เหมาะสมในการบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกชีวภาพ (PLA) ที่ได้มาจากทรัพยากรหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออ้อย เพื่อให้ง่ายต่อการย่อยสลาย แต่การย่อยสลายนั้นก็ต้องเป็นไปตามสภาวะที่เหมาะสมด้วย เพราะหากกำจัดผิดวิธีก็ยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

เมื่อพลาสติกยังคงตกค้างอยู่ในธรรมชาติ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สัตว์น้ำกินไมโครพลาสติกเข้าไป หรือมนุษย์เองก็อาจรับเข้าร่างกายไปโดยที่ไม่รู้ตัว และถึงแม้พลาสติกชีวภาพจะมีสารเคมีน้อยกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้มีการตั้งคำถามว่าแก้วกระดาษนั้นปลอดภัยจริงหรือไม่มาจากการที่ยังไม่มีการวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อค้นหาว่าสารชนิดใดที่ถูกชะล้างออกจากแก้วกระดาษ แต่จากรายงานของ Wired (เว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์) ระบุว่าแม้แก้วกาแฟกระดาษแบบใช้แล้วทิ้งที่ผู้ผลิตใช้พลาสติกชีวภาพในการเคลือบแก้วกระดาษมาแล้วชั้นหนึ่ง ก็ยังมีบางยี่ห้อที่มีการเพิ่มสารเคมีสำหรับคงความเสถียรลงไปอีก

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ เบธานี อธิบายผ่านเว็บไซต์ Wired ว่าจะเป็นเรื่องดีหากผู้ผลิตแจ้งให้ทราบอย่างเปิดเผยว่ามีส่วนผสมอะไรในผลิตภัณฑ์ของตนเองบ้าง เพราะปัจจุบันถือเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่ามีสารเคมีอะไรบ้างที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์

แม้ว่าการรีไซเคิลที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่ได้ผล แต่แท้จริงแล้วก็ยังถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับศูนย์รีไซเคิลส่วนใหญ่ที่จะแยกพลาสติกออกมาจากแก้วกระดาษ มีศูนย์เพียงไม่กี่แห่งในสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่สามารถแยกสารเคลือบออกมาได้ แต่ในภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อยู่ดี

แต่ท่ามกลางข่าวร้าย ก็พอจะมีข่าวดีให้ได้ยินอยู่บ้าง  โดยเฉพาะมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ตลาดแก้วย่อยสลายได้ทางชีวภาพนั้น มีความเห็นว่าผู้ผลิตฝั่งตะวันตกมีความก้าวหน้าในการรับมือกับความผันผวนของอุปทานจากเอเชียและจีนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยการย้ายฐานการผลิตจำนวนมากไปที่ประเทศของตัวเอง 

คาดว่าตลาดแก้วที่ย่อยสลายทางชีวภาพจะมีการขยายมูลค่าตลาดเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ได้

ปัจจุบัน ตลาดเอื้อต่อการขยายธุรกิจไปในอเมริกาเหนือและยุโรป จึงมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มโอกาสในเอเชียแปซิฟิกในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ผู้ผลิตกำลังพัฒนาบรรณจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม  ผู้เล่นในตลาดกำลังพบกับข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิล ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐและร้านค้ามากขึ้นเพื่อจัดการสินค้าคงคลังของถ้วยรีไซเคิลแบบใช้ครั้งเดียว

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มการใช้งานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตกำลังปรับปรุงถ้วยย่อยสลายทางชีวภาพให้มีคุณสมบัติที่เพิ่มมูลค่าได้อีก เช่น ทนความร้อนสำหรับการใช้งานในเตาอบ แบบไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์