Gen Z ทุ่มซื้อแบรนด์เนมเยียวยา‘เศรษฐกิจสิ้นหวัง’
โดยปกติคนเราเมื่อรู้สึกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจสั่นคลอนย่อมลดการใช้จ่าย แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังทำตรงข้าม
ไม่ว่าอนาคตการเงินเลวร้ายแค่ไหน เมื่อหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน การบรรลุเป้าหมายทางการเงินอย่างการซื้อบ้านหรือเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณเป็นเรื่องยากเกินฝัน
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก เล่าถึงชีวิตของเนีย ฮอลแลนด์ วัย 24 ปี ที่ทุบกระปุกงัดเงินออม 2,500 ดอลลาร์ (ราว 88,850 บาท) ซื้อกระเป๋าวินเทจชาแนล เงินก้อนเล็กๆ นี้ได้มาจากการทำงานวิจัยระหว่างเรียนระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งเจ้าตัวรู้ดีว่าควรนำเงินไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ เช่น เก็บออมหรือลงทุน
แต่อย่างไรเสีย ฮอลแลนด์ก็ไม่ได้รู้สึกว่าใช้เงินอย่างไม่รับผิดชอบ ในเมื่อเป้าหมายชีวิตแบบเดิมอย่างการซื้อบ้านหรือแต่งงานมีลูกช่างยากยิ่งนัก ดังนั้นการได้เสพ “ความหรูหราเล็กๆ น้อยๆ” ย่อมไม่แตกต่างกัน ในกรณีนี้กระเป๋าสะพายหนังแกะโซ่ทอง 24 กะรัตทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นได้
“เศรษฐกิจห่วยแตก ไหนจะโลกร้อน การเมือง สังคมไม่สงบต่อเนื่องทั่วโลก” ฮอลแลนด์โอดครวญ ซึ่งตอนที่เรียนระดับปริญญาเอกด้านการศึกษาและจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเธอยังใช้เงินทางบ้าน
“มันง่ายกว่าในการใช้เงินไปกับสิ่งที่เติมเต็มคุณได้ทันที” เจ้าตัวให้เหตุผล
ไม่ใช่ฮอลแลนด์คนเดียวที่เป็นแบบนี้ ข้อมูลจากบริษัทการเงินส่วนบุคคล “เครดิตกรรม” (Credit Karma) ระบุ ชาวอเมริกันราว 27% ยอมรับว่า “ใช้เงินมือเติบ” เพื่อรับมือกับความกังวลเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสัดส่วนในหมู่ชาวมิลเลนเนียลและ Gen Z สูงกว่าคนกลุ่มอื่นที่ 43% และ 35% ตามลำดับ
“มันคือวิธีรับมือแม้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดก็ตาม” คอร์ตนีย์ อเลฟ ที่ปรึกษาด้านการเงินผู้บริโภค บริษัทเครดิตกรรมกล่าวกับบลูมเบิร์ก
เทรนด์อันตราย
แม้การใช้เงินไม่คิดหน้าคิดหลังอาจเข้ากับยุคปัจจุบัน แต่นิสัยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สตีเฟน อู๋ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์วิทยาลัยแฮมิลตัน เมืองคลินตัน รัฐนิวยอร์ก ตีพิมพ์งานวิจัยในปี 2547 คนที่รู้สึกโชคดีและและประสบความสำเร็จทางการเงินเพราะปัจจัยภายนอกตัวอื่นๆ เป็นคนไม่ค่อยเก็บเงิน
เขาให้เหตุผลว่า ความรู้สึกแล้วแต่โชคชะตาจะพาไปและนิสัยใช้เงินสวนทางกับสามัญสำนึกพบได้มากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะหลังโควิดระบาดและเศรษฐกิจถดถอย เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักว่า “ความสำเร็จหรือล้มเหลวเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม”
การที่คนหนุ่มสาวจะซื้อของใหญ่ได้อาจหมายถึงพ่อแม่ต้องช่วยเหลือเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่คนหนุ่มสาวเกือบครึ่งยังอยู่บ้านกับพ่อแม่ บางคนใช้เงินพิเศษปรนเปรอตนเอง ถ้าจะมองว่าสมเหตุสมผลก็ได้เช่นกันในเมื่อโซเชียลมีเดียต่างเต็มไปด้วยภาพคนหนุ่มคนสาวอิ่มเอมกับอาหารมื้ออลังการ พักผ่อนหรูหรา และใช้สินค้าแบรนด์ดัง แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอาจบ่งบอกอนาคตได้ว่าหนีไม่พ้นการใช้หนี้ที่สูงกว่าเดิม
อย่างกรณีของแอเดรียน ซีกา วัย26 ปี ที่เร็วๆ นี้เพิ่งใช้เงินสำรองฉุกเฉินซื้อกระเป๋าเบอร์เบอร์รี ที่ปรากฏใน“Succession” ซีรีส์ดังช่องเอชบีโอ
ซีกาย้ายจากฟิลิปปินส์มาอยู่นิวยอร์กในปี 2562 เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำงาน แล้วซื้อบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขารู้สึกว่าความฝันได้เป็นเจ้าของบ้านไม่มีทางเป็นไปได้ แม้สุดท้ายแล้วเขาจะได้เข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ แต่ก็ยังอาศัยอยู่กับแม่และขอเงินแม่ใช้
“สามสิบปีก่อน อพาร์ตเมนต์ในเอล์มเฮิร์สต์ราคา 90,000 ดอลลาร์ (3,195,000 บาท) ตอนนี้ห้องนอนเดียวราคา 400,000 ดอลลาร์ (14.2 ล้านบาท) บ้าไปแล้ว” ซีกาผู้ทำงานเป็นผู้ช่วยดูแลส่วนตัวโอดครวญ
ตอนนี้เขาหันมาเน้นสิ่งที่ “เป็นความต้องการตอนนี้” ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เสื้อโค้ตสั้น และกระเป๋าเบอร์กิน Gold Togo ขนาด 35 เซนติเมตรของแอร์เมส ราคา 1,088 ดอลลาร์ (38,624 บาท)
เส้นทางที่แตกต่าง
มาเรีย เมลเคอร์ คอนเทนท์ครีเอเตอร์ วัย 27 ปี ผู้เน้นให้ความรู้ด้านการเงินแก่คนเจน Z กล่าวว่าการซื้อของแพงอาจดูเหมือนการหลงผิด แต่ถ้าคนๆ นั้นไม่ได้ฝันแต่งงานมีลูกจะมาเหมารวมในกรณีนี้ไม่ได้
เมลเคอร์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยเยล กล่าวในติ๊กต็อกที่มีคนดูกว่า 1.8 ล้านวิวว่า เวลาผู้ใหญ่ถามคนรุ่นหลังว่า ซื้อข้าวของที่พวกเขาไม่คิดซื้อไปได้อย่างไร เธอตอบว่า ก็เพราะพวกเขาไม่มีปัญญาซื้ออย่างอื่นน่ะสิ
“การเป็นเจ้าของบ้านหรือเริ่มสร้างครอบครัวช่างไกลเกินฝันเหลือเกิน เราเลยต้องใช้เงินดาวน์บ้านหรือเงินที่ต้องให้ลูกมาใช้กับอะไรก็ได้ที่ทำให้เราเหมือนเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เราเคยคิดว่าจะเป็น” เมลเคอร์กล่าวในคลิป
ในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก เมลเคอร์ไม่จัดให้การใช้จ่ายมือเติบซื้อของหรูของคนเจน Z เป็นการใช้จ่ายเลวร้าย แต่เป็นการทำให้เห็นว่าชีวิตควรเป็นอย่างไร ถ้าไม่เอาเงินไปใช้กับอสังหาริมทรัพย์หรือเลี้ยงลูก การแต่งงานและอัตราการเกิดกำลังลดลง และอย่างน้อยสำหรับบางคนการทำงานทางไกลเปิดความเป็นไปได้ให้กับการใช้ชีวิตที่ไม่ยึดติดกับวิถีเดียว
เธอเชื่อมั่นอย่างมากว่า “ความฝัน” ของคนเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป