‘การค้า-ภาษี-ทรัมป์’ 3 ตัวแปรบริษัทเอเชียต้องจับตา
‘การค้า-ภาษี-ทรัมป์’ 3 ตัวแปรบริษัทเอเชียต้องจับตา โดยบริษัทอะดานี กรุ๊ป ของอินเดียก็ว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ระดับมืออาชีพให้เป็นตัวแทนบริษัทในการติดตามและทำงานกับบรรดาผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐ
ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนๆทั่วโลก ประกอบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ ทำให้หลายภาคส่วนต้องเตรียมตัว เตรียมใจรับมือกับผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะบรรดาบริษัทชั้นนำในเอเชียที่ต้องการเข้าไปสร้างธุรกิจในแดนอินทรี จำเป็นต้องปรับโฟกัสใหม่ หันไปเน้นเรื่องการค้า, ภาษีศุลกากรและโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า ความเสี่ยงที่มีต้นตอมาจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกขณะนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกด้านในทำเนียบขาว
เมื่อวันที่ 16ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัส ที่รัฐไอโอวา ซึ่งเป็นสนามเลือกตั้งแรกของพรรครีพับลิกันในการสรรหาผู้แทนพรรคเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีกับ โจ ไบเดน ในเดือนพ.ย.
โดยทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงที่รัฐไอโอวาเกินกึ่งหนึ่งคือ 51% ส่วนคู่แข่งอีกสองคนคือ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอน เดอซานติส ตามมาที่สองที่ 21% และอดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา นิกกี เฮลีย์ ได้ไป 19%
“เรอิโกะ ชิมิสุ” ก็ส่งอีเมลแจ้งเรื่องนี้ให้สำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นทราบในทันที และก็เหมือนกับบรรดาพนักงานบริษัทเอเชียส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐ ชิมิสุ ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทซันโตรี ผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ต้องสรุปผลการเลือกคอคัสของพรรครีพับลิกันในไอโอวาให้บริษัทแม่รับทราบ
ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งคอคัสในรัฐไอโอวา ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์การเมืองสหรัฐที่จะดำเนินต่อไป แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลก และชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.ที่จะเกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซันโตรีเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงตลาดหลักอื่นๆของบริษัทด้วย เช่น อินเดีย ที่เป็นผู้บริโภควิสกี้รายใหญ่สุดของโลก
ชิมิสุ เข้ามาประจำสำนักงานของบริษัทในวอชิงตันได้เพียง9เดือน ก่อนที่จะไปนั่งกำกับดูแลสำนักงานแห่งใหม่ของซันโตรีในวอชิงตัน ดีซีที่เปิดตัวขึ้นมาพร้อมกับความเข้าใจที่ฝังหัวว่าการดำเนินธุรกิจให้เติบโตในสหรัฐต้องพยายามเลี่ยงสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจในทุกรูปแบบและต้องก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวเสมอในกระแสคลื่นธุรกิจโลก
ซันโตรี เป็นหนึ่งในบริษัทเอเชียชั้นนำหลายๆแห่งที่เข้ามาเปิดสำนักงานหรือว่าจ้างตัวแทนในวอชิงตัน ดีซี โดยบริษัทน้องใหม่อื่นๆก็มี โตเกียว อิเล็กตรอน ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น แบงก์ยักษ์ใหญ่อย่างสุมิโตโมะ มิตซุย แบงก์กิ้ง คอร์พอเรชัน แอลจี กลุ่มบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ โซนี บริษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาเปิดสำนักงานในเมืองหลวงของสหรัฐหลังจากห่างหายไปนาน 8 ปี
ส่วนบริษัทอะดานี กรุ๊ป ของอินเดียก็ว่าจ้าง‘อนุรักษ์วาร์มา’ ล็อบบี้ยิสต์ระดับมืออาชีพ อดีตผู้บริหาร Squire Patton Boggs บริษัทล็อบบี้ของอินเดียในวอชิงตันให้เป็นตัวแทนบริษัทในการติดตามและทำงานกับบรรดาผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐ
บริษัทเอเชียจำนวนมากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการเข้าไม่ถึงกรุงวอชิงตันก่อให้เกิดต้นทุนในการทำธุรกิจมหาศาล โดยเฉพาะในยุคที่สหรัฐมีนโยบายใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือปรามประเทศที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์หรือทำตัวนอกแถว เช่นกรณีรัสเซียที่บุกยูเครนเมื่อปี 2565 และกับบรรดาบริษัทจีน รวมทั้งบรรดาซัพพลายเออร์ต่างชาติของบริษัทเหล่านี้ที่พยายามซื้อเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ก้าวหน้าของสหรัฐ
ยกตัวอย่างกรณีเอสเค ไฮนิกซ์ บริษัทผลิตชิปสัญชาติเกาหลีใต้ที่พยายามนำพาบริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมในสหรัฐมากขึ้นในเดือน มิ.ย.ปี 2565 ด้วยการแต่งตั้ง เจ.เจ. ยู เป็นหัวหน้าคนแรกในบริษัทที่ประจำในสหรัฐและดูแลเกี่ยวกับกิจการต่างๆของรัฐบาลเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่สหรัฐและจีนตอบโต้กันด้วยมาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมชิป
แต่การนำพาบริษัทเข้าไปใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐด้วยการเข้าไปตั้งสำนักงานในเมืองหลวง ก็ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะกรณีของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนที่ในปี 2564 บริษัทได้ว่าจ้างโทนี่ โพเดสต้า ล็อบบี้ยิสต์เดโมแครต กับบริษัทล็อบบี้อื่นๆอีก 3 แห่งให้ช่วยกันทำงานเพื่อให้มีการปล่อยตัวเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอบริษัท ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ประเทศแคนาดาในขณะนั้น โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 3.59 ล้านดอลลาร์ และพอมาถึงปี 2566 เงินสำหรับการล็อบบี้ของบริษัทก็ลดลงเหลือ 1.46 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม นิกเคอิ เอเชียรายงานในช่วงต้นเดือนมานี้ว่า หัวเว่ยค่อยๆยุบหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์และทีมงานที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ในสหรัฐและแคนาดา เพราะไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการลงทุน
“โลกกำลังเปลี่ยนจากโลกาภิวัฒน์ไปเป็นการกระจายตัวหรือแบ่งแยกกันมากขึ้น ทำให้บรรยากาศทางธุรกิจทั่วโลกไม่เหมือนเดิม หลายปีมานี้ เราอาศัยอยู่ในโลกที่แทบจะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากร บริษัทต่างๆจึงพยายามมองหาแหล่งผลิตต้นทุนต่ำเพื่อผลิตสินค้า เราจำเป็นต้องเพิ่มตัวแปรอื่นๆเข้ามาด้วยในการทำธุรกิจ เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเมินยาก”ชินทาโร ชิบะ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโซนี่ในวอชิงตัน ดีซี กล่าวทิ้งท้าย