‘วีซ่าฟรี’ เสน่ห์แรกรับนักท่องเที่ยว ‘วีซ่าออสเตรเลีย’ คุ้มค่าน่าขอ

‘วีซ่าฟรี’ เสน่ห์แรกรับนักท่องเที่ยว ‘วีซ่าออสเตรเลีย’ คุ้มค่าน่าขอ

จากประสบการณ์ขอวีซ่าที่ผ่านมา World Pulse มองว่าการขอวีซ่าในบางประเทศมักมีความยุ่งยาก และมีหลายขั้นตอน แต่หลังจากรัฐบาลไทยทยอยออกนโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา ย่อมเป็นการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ผู้คนอยากมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นได้

ช่วงนี้ใครไม่พูดถึงนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวหรือวีซ่าฟรีถือว่าตกเทรนด์ เพราะการขอวีซ่าถือเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับใครหลายคน คนที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุระปะปัง แม้การขอวีซ่าจะยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายก็ต้องกัดฟันทำ หรือคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวต่อให้ต้องขอวีซ่า ในเมื่อใจอยากจะไปซะอย่าง ยุ่งแค่ไหนก็ต้องทำให้ได้แม้เข้าข่ายทำไปบ่นไปก็ตาม แต่ก็มีคนที่ครึ่งๆ กลางๆ อยากเที่ยวแต่ไม่อยากทำเรื่องวุ่นวาย คนกลุ่มนี้จะเลือกไปในประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าซึ่งมีให้ไปได้ไม่กี่ประเทศ

ในเมื่อวีซ่าฟรียังอยู่ในกระแส World Pulse วันนี้ขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว เจ็ดปีก่อน World Pulse มีเรื่องให้ต้องไปทำวีซ่าครั้งแรกเพื่อเข้าประเทศเอเชียแห่งหนึ่ง เริ่มต้นด้วยการถ่ายรูปให้ถูกต้องตามที่กำหนด จากนั้นไปยังสถานที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำวีซ่าแล้วยื่นบัตรคิวเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โชคดีที่เป็นการไปทำข่าวให้หน่วยงานราชการที่สองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน บุคคลที่เกี่ยวข้องช่วยโทรประสานให้เลยรอคิวไม่นาน ไปถึงปุ๊บรอสักแป๊บก็ได้เลย กระนั้นยังสัมผัสได้ถึงการมีขั้นมีตอน

ปี 2562 ก่อนโควิดระบาด เดินทางไปอิสราเอลกับคณะนักธุรกิจไทย มีบริษัททัวร์จัดการเรื่องวีซ่าให้ แต่สิ่งที่ถูกกำชับมาคือ “รูปถ่ายต้องเป๊ะ” การถ่ายรูปขอวีซ่านี่สร้างความปวดหัวให้กับใครหลายคนแต่ก็ผ่านมาได้ ราวสองเดือนหลังจากนั้นต้องเดินทางไปคาซัคสถาน จำได้คุ้นๆ ว่าต้องใช้วีซ่าอีกเหมือนกัน และด้วยความที่ไปตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย ทางสถานทูตดูแลให้ทุกอย่าง แค่ถือหนังสือเดินทางไปประทับตราวีซ่าเท่านั้น (ถ้าจำไม่ผิด)

สามปีต่อมา เดือน พ.ย.2565 ต้องไปคาซัคสถานอีกครั้งเพื่อทำข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดี รอบนี้ไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว แสดงว่าคาซัคสถานยกเว้นการตรวจลงตราให้ไทยก่อนที่ไทยจะยกเว้นให้คาซัคสถานในเดือน ก.ย.2566

ธ.ค.2566 เดินทางไปซาอุดีอาระเบีย แล้วไปขอวีซ่า Visa on Arrival คือ ไปถึงสนามบินแล้วค่อยขอ ก็ไปคีย์ข้อมูลบน Kiosk มีเจ้าหน้าที่หญิงมาคอยอธิบายว่าต้องพิมพ์ข้อมูลอะไร คณะไปกันห้าคนเจ้าหน้าที่บริการดีช่วยแนะนำการกรอกข้อมูลครบทั้งห้าคน เสร็จแล้วรูดบัตรจ่ายค่าวีซ่า คนละ 480 ริยัลหรือราว 130 ดอลลาร์ กระบวนการสะดวกง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ ชวนคุยจึงได้รู้ว่าสาวเจ้าอยากมาเที่ยวภูเก็ตมาก และดีใจที่ได้เจอผู้มาเยือนชาวไทย

ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ต้องขอวีซ่าออสเตรเลีย ประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดหิน กระบวนการต้องทำผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น เริ่มต้นต้องเข้าไปสร้างบัญชีบนเว็บไซต์กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเขาก่อน แล้วจึงกรอกข้อมูลอย่างละเอียด 18 หน้า แนบเอกสารที่จำเป็น เนื่องจากไปตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ติดขัดขั้นตอนไหนสอบถามเจ้าหน้าที่สถานทูตได้โดยตรง กระนั้นก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกรอกเสร็จ เพราะการงานวุ่นวายการกรอกข้อมูลวีซ่าต้องใช้สมาธิมากพอสมควร ไม่ควรทำเรื่องอื่นในเวลานั้นอาจเกิดความผิดพลาดได้

กรอกข้อมูลเสร็จแล้วต้องไปเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันตัวตน (Biometrics) ณ บริษัทตัวแทนที่รับดำเนินการโดยต้องนัดวันล่วงหน้า ขั้นตอนนี้ตื่นเต้นมาก World Pulse มีกำหนดเดินทางวันที่ 3 ก.พ.67 ได้คิวเก็บข้อมูล Biometrics เย็นวันที่ 1 ก.พ.67 กังวลว่าจะทันหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าผิดคาด ทุกอย่างฉลุยไปถึงเวลานัดก็ทำได้เลย วันรุ่งเช้าได้อีเมลแจ้งว่าวีซ่าผ่านแล้ว ความกังวลทุกอย่างมลายหายสิ้น คิดอีกทีวีซ่าออสเตรเลียจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ได้ก็คือได้ ไม่ต้องเอาหนังสือเดินทางไปประทับตรา

จากประสบการณ์การทำวีซ่าแม้จะน้อยนิดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แต่ความรู้สึกที่ทุกคนน่าจะมีตรงกันคือ “ความยุ่งยาก” หากตัดขั้นตอนนี้ไปได้เชื่อว่านักเดินทางทุกคนอยากให้ตัด การที่รัฐบาลไทยทยอยออกนโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา เบื้องต้นย่อมเป็นการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ผู้คนอยากมาเที่ยวเมืองไทย เปรียบได้กับประตูบานแรกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ส่วน World Pulse ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ก็ได้มาเยือนเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อย เพื่อร่วมทัศนศึกษาสื่อมวลชนนานาชาติเนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียนัดพิเศษที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.67 ที่เมลเบิร์น

ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจากับอาเซียนเมื่อปี 2517 ปีนี้ครบรอบ 50 ปี ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทางการออสเตรเลียยืนยันว่านับแต่นี้ไปความสัมพันธ์มีแต่จะแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

การได้มาสัมผัสออสเตรเลียเป็นครั้งแรกย่อมเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ประกอบกับโปรแกรมที่กระทรวงการต่างประเทศ และการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) จัดให้ทั้งที่เมลเบิร์น แคนเบอร์รา และซิดนีย์ ยิ่งทำให้ความยุ่งยากจากการขอวีซ่าเป็นเรื่องคุ้มค่า เป้าหมายคือ ต้องการให้คณะสื่อมวลชนอาเซียนได้เข้าใจถึงเสาหลักความสัมพันธ์ที่ออสเตรเลียมุ่งเน้นได้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ก่อนการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียนัดพิเศษจะมาถึง รายละเอียดเป็นอย่างไรขอให้รอติดตาม World Pulse จะรายงานให้ทราบต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์