เงินเฟ้อจีนร่วงแรงสุดรอบ 15 ปี เศรษฐกิจจ่อติดหล่ม 'เงินฝืด'
ดัชนีเงินเฟ้อของจีนร่วงแรงสุดในรอบ 15 ปี นักวิเคราะห์เตือนยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
Key Points
- ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนเดือน ม.ค. ลดลง 2.5% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16
- ดัชนีราคาผู้บริโภค ลดลง 0.8% ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
- ราคาเนื้อหมูที่ลดลงถึง 17.3% เป็นตัวฉุดสำคัญของเงินเฟ้อในกลุ่มอาหาร
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยสถานการณ์เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.8% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าอาจลดลง 0.5% โดยเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และยังเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
ทั้งนี้หากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเดือน ธ.ค. 2566 แต่ก็ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าควรจะโตได้ 0.4%
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 16 แล้ว แม้ว่าจะลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 2.6% ก็ตาม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับ "ภาวะเงินฝืด" (Deflation) สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ที่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการควบคุมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งพาเงินกู้จำนวนมากในการทำธุรกิจเมื่อปี 2563
เฮ่า ฮง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหุ้นส่วนของบริษัทโกรว์ อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป กล่าวว่า ตลาดไม่ได้ประหลาดใจกับตัวเลขครั้งนี้ เพราะแรงกดดันเงินฝืดจากต้นน้ำเริ่มส่งสัญญาณมากว่า 1 ปีแล้ว และตอนนี้ก็กำลังส่งผลกระทบไปถึงปลายน้ำ
สัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อในจีนได้ดีก็คือ ราคาเนื้อหมูในเดือน ม.ค. ซึ่งลดลงถึง 17.3% เมื่อเทียบปีที่แล้ว จากปัญหาซัพพลายล้นตลาดหลังจากที่รัฐบาลพยายามเพิ่มสต็อกอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีมานี้เพื่อรับมือกับปัญหาไข้หวัดหมู
ทั้งนี้ ดัชนีเงินเฟ้อเฉพาะในกลุ่มอาหารเดือน ม.ค. ปรับตัวลง 5.9% เมื่อเทียบปีก่อน
"ภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องของจีนและการดิ้นรนของตลาดหุ้นบ่งชี้ว่า อุปสงค์ของครัวเรือนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีน"
"เมื่อภาวะเงินฝืดเริ่มฝังรากลึกในจีน อาจจำเป็นต้องมีการเพิ่มมาตรการที่แรงขึ้นเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นอีกครั้งและดึงเศรษฐกิจขึ้นมาจากหุบเหว" เอสวาร์ ปราสาด ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และอดีตหัวหน้าฝ่ายจีนของไอเอ็มเอฟ กล่าวกับไฟแนนเชียลไทม์ส
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าการที่ตัวเลขเงินเฟ้อจีนปรับตัวลดลงมากในเดือน ม.ค. ส่วนหนึ่งเป็น “ปัจจัยเชิงฤดูกาล” ด้วย เมื่อเทศกาลวันตรุษจีนปีนี้เปลี่ยนไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเอชเอสบีซีระบุในบทวิเคราะห์ว่า เนื่องจากฐานของเดือนมกราคมปี 2566 เป็นช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงที่มีการจับจ่ายเงินสะพัดที่สุดในจีน และมีดัชนี CPI ขยายตัวได้ 2.1% ในขณะนั้น แต่ปัจจุบันในปี 2567 เทศกาลวันตรุษจีนมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อแตกต่างกันมาก