2567 : ปีแห่งการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก I World Wide View
ปี 2567 นี้ เป็นปีของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก นโยบายที่นำไปใช้ในการต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการลงทุน
บริบทโลกขณะนี้มีความท้าทายหลายประการ ที่ทำให้ทุกประเทศต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ เช่น การลดการพึ่งพากันของระบบห่วงโซ่การผลิตที่เรียกว่า de-coupling การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคพลังงานสีเขียว หรือ green transformation ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะการสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี การปะทะกันระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และมีแนวโน้มการขยายวงกว้างขึ้นในภูมิภาค การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้น
ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นโอกาสหลายอย่าง รัฐบาลจึงได้ใช้แนวนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เพื่อใช้การต่างประเทศนำพาประเทศไทยให้เดินหน้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะผลประโยชน์ต่อประชาชน
แนวรุกแรก คือการใช้เครื่องมือด้านการตรวจลงตราหรือวีซ่าเพื่อดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไทยยกเว้นวีซ่าเป็นการชั่วคราวให้กับหลายประเทศ/ดินแดน เช่น คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากที่เหล่านี้พำนักในไทยได้ 30 วัน หรือขยายการยกเว้นการขอวีซ่าให้แก่รัสเซีย จากที่เคยพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 30 วันให้เป็น 90 วัน และล่าสุดได้ลงนามกับจีนเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวของประชาชนกันและกันเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งนอกจากเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและจีนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอำนาจและศักดิ์ศรีให้แก่หนังสือเดินทางไทยด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการยกเว้นหรือ ทำความตกลงยกเว้นวีซ่ากับอีกหลายประเทศ
แนวรุกที่สอง คือการส่งเสริมและเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยไทยได้ลงนาม FTA แรกของรัฐบาลนี้กับศรีลังกาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในปี 2567 กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เช่นกัน กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเจรจากันไปแล้ว 2 รอบ ทั้งนี้ แม้ยังต้องใช้เวลา แต่เมื่อเจรจาสำเร็จก็จะเป็นความตกลง FTA ที่ก่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจกับไทยอย่างมาก
แนวรุกที่สาม คือการเจรจาเพื่อชักจูงนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา ผู้แทนระดับสูงของไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ และพบกับผู้แทนบริษัทรายใหญ่ระดับโลกและกองทุนต่าง ๆ แล้วกว่า 100 บริษัท เพื่อนำเสนอโอกาสการค้า การลงทุนของไทย แผนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในไทย และระหว่างไทยกับภูมิภาค รวมถึง โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ เช่น แลนด์บริดจ์ เพื่อชี้ให้นักลงทุนเห็นศักยภาพและจุดแข็งในมิติต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้นำคณะนักธุรกิจไทยเปิดแนวรุกในตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น การเข้าร่วมงาน Thailand Mega Fair ที่ซาอุดีอาระเบีย การนำคณะนักธุรกิจไทยไปสำรวจตลาดในอิรัก เป็นต้น ซึ่งตลอดปี 2567 จะมีการดำเนินการแนวรุกนี้อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
นอกจากสามแนวรุกข้างต้น ไทยก็ยังมีจุดเน้นด้านอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์เพื่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ การมีบทบาทเข้มแข็งในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงจุดแข็งของไทยที่มีเสมอมา คือการรักษาความเป็นมิตรกับทุกประเทศทุกฝ่าย โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุล หลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ในขณะเดียวกัน ก็เน้นการทูตที่มีน้ำหนัก เป็นที่เชื่อถือและวางใจได้ เพื่อเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลก เป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของไทยในระยะยาว เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในบริบทโลกที่ผันผวน และเพื่อความกินดีอยู่ดีที่ยั่งยืนของพี่น้องคนไทย