‘สังคมไร้เงินสด’ สะดวกคนจีน ลำบากชาวต่างชาติ
'สังคมไร้เงินสด' สร้างความสะดวกสบายในการชำระเงินให้กับคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่สังคมไร้เงินสดในประเทศจีน กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อแอปฯชำระเงินดิจิทัลยังมีข้อจำกัดอยู่
สังคมไร้เงินสด นอกจากสร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่ายให้กับผู้คนในสังคมแล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจสร้างความยากลำบากให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต กลุ่มคนที่ยังตามเทรนด์เทคฯไม่ทัน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และอาจเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมไร้เงินสดมีกฎเกณฑ์การเข้าถึงแอปพลิเคชันชำระเงินออนไลน์เข้มงวดอย่างประเทศจีน
ผู้เขียนเชื่อว่าใครหลายคนที่ต้องไปจีนครั้งแรกต่างกังวลเกี่ยวกับการชำระเงิน ลังเลว่าจะแลกเงินสดเพียงอย่างเดียว หรือจะดาวน์โหลดแอปฯชำระเงินออนไลน์อย่างอาลีเพย์และวีแชทด้วย ซึ่งการเดินทางไปจีนในเดือน ส.ค. ปีก่อน ผู้เขียนเลือกดาวโหลดแอปฯเหล่านั้น และผูกการใช้จ่ายกับบัตรเครดิต
แม้การลงทะเบียนและการใช้งานราบรื่นดี แต่ตลอดเวลาที่อยู่จีนยังคงกังวลว่าบัญชีอาจถูกบล็อกเหมือนกับบัญชีวีแชทของผู้เขียนที่ถูกบล็อกโดยไม่ทราบสาเหตุ เตือนใจตนเองว่าหากไปจีนอีกครั้งคงต้องพกทั้งเงินสด บัตรเครดิต และแอปฯชำระเงินกันเหนียวแบบสุดๆ
ขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่รับทั้งเงินสดและการโอนชำระ แต่บางร้านไม่รับเงินสดเลย ผู้เขียนคิดว่าหากนักท่องเที่ยวพกแค่เงินสดอาจจะอดชอปปิงและทานอาหารบางร้านที่ชื่นชอบได้
สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานว่า ความสะดวกในการชำระเงินหรือการขาดช่องทางชำระเงินดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวต่างชาติหลีกเลี่ยงเดินทางไปจีน นอกเหนือจากประเด็นที่น่ากังวลอื่น ๆ เช่น ความกังวลด้านความมั่นคงของปักกิ่งและการปราบปรามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความสะดวกหรืออุปสรรค?
“วีแชทเพย์และอาลีเพย์” ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของจีน เปิดให้ชาวต่างชาติเชื่อมต่อบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้งของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด หรือผู้ให้บริการข้ามชาติรายใหญ่อื่น ๆ ใช้งานแอปฯได้ในเดือน ก.ค. 2566 หลังจากจำกัดการใช้งานบัตรเครดิตธนาคารต่างชาติมาหลายปี เพราะปักกิ่งมีมาตรการควบคุมบริการทางการเงินและข้อมูลที่เข้มงวด
ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนแสดงให้เห็นว่า ชาวจีนมากกว่า 95% มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง และอัตราการผูกบัญชีกับระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแตะระดับ 86% ซึ่งเป็นอัตราการใช้งานที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นว่า บริการทางการเงินที่ทันสมัยนั้น สร้างความสะดวกรวดเร็วต่อการใช้จ่ายของคนในเมืองและพื้นที่ชนบทอย่างมาก แต่สำหรับชาวต่างชาติและผู้เข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถือไม่อาจสะดวกสบายเช่นนั้น
แอปฯชำระเงิน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่มีบัญชีธนาคารจีน สามารถชำระเงินผ่านวีแชทเพย์และอาลีเพย์ได้เหมือนคนในท้องถิ่น รวมถึงสามารถลงทะเบียนด้วยชื่อจริงได้ แต่ชาวต่างชาติที่เชื่อมบัตรข้ามชาติกับแอปฯชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของจีน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 3% สำหรับการโอนเงินมากกว่า 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท และไม่สามารถโอนเงินในครั้งเดียวได้มากกว่า 6,000 หยวน หรือราว 30,000 บาท
ชาร์ลี เฉิน เจ้าหน้าที่อาวุโสจากบริษัทอีซี ทัวร์ ไชนา เผยว่า ชาวต่างชาติไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรปและสหรัฐ ไม่เต็มใจเผยข้อมูลกับแอปฯชำระเงิน เนื่องจากมีความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มใช้การชำระเงินผ่านมือถือในจีนมากกว่า
นอกจากนี้ การชำระเงินดิจิทัลยังเป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุในจีนในยุคที่สังคมยอมรับการทำธุรกรรมไร้เงินสดอย่างกว้างขวาง โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 75% ในจีนมักใช้เงินสด และคนกลุ่มนี้ในชนบทมีสัดส่วนการใช้เงินสดอยู่ที่ 80.4%
เงินสดหาแลกยากในจีน
บัตรต่าง ๆ ของบริษัทข้ามชาติ อาทิ วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด สามารถใช้งานได้ในเขตธุรกิจ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และศูนย์กลางการขนส่งที่นักท่องเที่ยวมักใช้จ่ายหรือชอปปิงภายในเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่น กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่เฉิน จากอีซี ทัวร์ ไชนา เสริมว่า ขณะนี้ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงโรงแรมระดับ 3 ดาว และ 4 ดาว รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตต่างชาติน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
ขณะที่สถานที่แลกเปลี่ยนเงินตราขั้นต้นสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติมักอยู่ในสนามบินและตามธนาคารต่าง ๆ และนักเดินทางหลายคนเผชิญกับอุปสรรคด้านชั่วโมงการให้บริการที่จำกัดของธนาคาร การใช้เอกสารมากเกินไป และจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่ไม่คาดคิด
เฉินเสริมอีกว่า การถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) กลายเป็นความท้าทายสำหรับชาวต่างชาติมากขึ้นเช่นกัน
การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจีนตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งตัวเลขจากธนาคารกลางแสดงให้เห็นว่า การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านครั้งเป็นครั้งแรกในปี 2564 และในปี 2565 ก็ลดลงน้อยกว่า 900,000 ครั้ง ขณะที่ในแต่ละไตรมาสของปี 2566 มีการยกเลิกตู้เอทีเอ็มแล้วหลายพันตู้
ในการประชุมการทำงานประจำปีช่วงต้นเดือน ม.ค. ตัวแทนจากธนาคารประชาชนจีนให้คำมั่นเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้ชาวต่างชาติด้วยการจัดหาบริการชำระเงินที่สะดวกมากขึ้น และขยายการรับบัตรเครดิตต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดหรือระยะเวลาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพิ่มเติม
อ้างอิง: South China Morning Post