‘เอเชีย’ผู้นำสังคมไร้เงินสด ขณะ'ไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม' ยังตามหลัง
‘เอเชีย’ผู้นำสังคมไร้เงินสด ขณะ'ไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม' ยังตามหลัง ขณะที่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตพร้อมกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างญี่ปุ่น ยังคงใช้เงินสดเป็นวงกว้างส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเครือข่ายเอทีเอ็มกว้างขวางและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตค่อนข้างสูง
ไทย ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นสามประเทศในเอเชียที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นสังคมไร้เงินสดช้ากว่าประเทศอื่น ๆ แม้ในภาพรวมภูมิภาคนี้ทั้งภูมิภาคจะเป็นผู้นำในการผลักดันการชำระเงินแบบดิจิทัลทั่วโลกก็ตาม
ข้อมูลของเอฟไอเอส ธนาคารและบริษัทประมวลผลการชำระเงินในสหรัฐ ระบุว่า มูลค่าการทำธุรกรรมด้วยตนเองในภูมิภาคเอเชีย เมื่อปี 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เงินสดสูงสุดอยู่ที่ 56% รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น 51% และเวียดนาม 47% ตามลำดับ
รายงานรายปีของบริษัทที่ติดตามแนวโน้มการใช้จ่ายของลูกค้า เมื่อชอปปิงออนไลน์และซื้อสินค้าหน้าร้านใน 40 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่า แม้ไทยมีประชากรที่เข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่มีอัตราลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในอัตราที่สูงมาก สะท้อนให้เห็นว่า การชำระเงินด้วยบัตรต่าง ๆ ยังไม่แข็งแกร่งขึ้น
ในการทำธุรกรรมส่วนบุคคล การใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศไทยยังน้อยกว่าการใช้เงินสดในสัดส่วนที่ 23% ขณะที่การใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตมีสัดส่วน 11% และ 7% ตามลำดับ
เอฟไอเอส นิยามคำว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลว่า เป็นรูปแบบการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระเงินอย่างปลอดภัย สามารถให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล ยังสามารถเติมเงินเข้าได้ทั้งเงินสด, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต และผ่านการโอนเงินจากธนาคารหรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตพร้อมกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างญี่ปุ่น ยังคงใช้เงินสดเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มีเครือข่ายเอทีเอ็มกว้างขวางและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตค่อนข้างสูง ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กไม่ค่อยยอมรับการชำระงินแบบไร้เงินสด
รายงานของเอฟไอเอส ระบุว่า ญี่ปุ่นอาจมีอัตราการใช้เงินสดสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 37% ภายในปี 2569 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ จะยอมรับการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลผ่านซุปเปอร์แอปฯ ได้รวดเร็วกว่า
ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทแกร็บในสิงคโปร์และโกทูของอินโดนีเซีย เพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้านการชำระเงินแบบดิจิทัล โดยให้ผู้ใช้บริการ สามารถชำระเงินแบบไร้เงินสดได้ ไม่เพียงแค่ใช้บริการโดยสารและดิลิเวอรีอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการชำระเงินในแพลตฟอร์มออนไลน์และชำระเงินหน้าร้าน
บริการที่เป็นที่นิยมอื่น ๆ ทั้ง โมโมในเวียดนามและจีแคชในฟิลิปปินส์ มีบริการชำระเงินแบบไร้เงินสดหลายช่องทางเช่นกัน
การเติบโตของการชำระเงินแบบไร้เงินสดในเอเชีย เกิดขึ้นหลังจากตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวมากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มมีการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารในอัตราสูง
“เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้บัตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลโดยตรง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของการรับชำระเงิน เช่น คิวอาร์โค้ด กลายเป็นสิ่งที่สะดวกสำหรับร้านค้ามากขึ้น” เอฟไอเอส ระบุ
เอฟไอเอส เผยด้วยว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจเป็นผู้นำในการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมส่วนบุคคล โดยคิดเป็นสัดส่วน 59% ของตลาดจำหน่ายสินค้าหน้าร้านในภูมิภาคที่มีมูลค่าสูงถึง 36.7 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2569 ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ ตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาที่มีสัดส่วนใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล 24% ทวีปยุโรป 20% และอเมริกาเหนือ 16%
นอกจากนี้ ยังคาดว่าสัดส่วนการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลในการทำธุรกรรมออนไลน์ในภูมิภาคจะขยายตัวสูงถึง 73% ในปี 2569 จากที่คาดการณ์เมื่อปี 2565 ไว้ที่ 69%
“อีวอนน์ เซโต” รองประธานฝ่ายประมวลผลการชำระเงินของเวิร์ลเพย์ ที่เอฟไอเอสซื้อกิจการมา ย้ำว่า เอเชียเป็นแนวหน้าของนวัตกรรมการชำระเงินแบบดิจิทัล เป็นผู้นำในการพัฒนาการชำระเงินข้ามพรมแดนและศูนย์กลางธนาคารเงินดิจิทัล
“กระเป๋าเงินดิจิทัล นับว่าเป็นวิธีการชำระเงินที่นิยมมากในภูมิภาคเอเชีย และยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าความนิยมนี้จะลดลงแต่อย่างใด” เซโต กล่าว