ไทย-สหรัฐอเมริกา : มิตรที่เก่าแก่และใกล้ชิดกัน I World Wide View
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ลงหลักปักฐานมาอย่างยาวนาน และหลังปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐ ตามคำเชิญของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมาก
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ได้ลงหลักปักฐานมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่มีการทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในปี พ.ศ. 2376 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสหรัฐฯ) ทำให้สยามเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จัดทำสนธิสัญญากับสหรัฐ และถือเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ จนมาถึงวันนี้ ก็ผ่านวันเวลามาแล้วกว่า 190 ปี
หากมองตามภูมิศาสตร์ สหรัฐ ถือว่าอยู่ตรงกันข้ามกับประเทศไทยอีกฝั่งหนึ่งของโลก แม้จะเดินทางโดยเครื่องบินก็ยังใช้เวลายาวนาน แต่หากมองตามภูมิรัฐศาสตร์ ไทยและสหรัฐ ใกล้กันมากกว่าที่คิด เพราะสหรัฐ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในภูมิภาค และความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐ ได้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาในภูมิภาคมายาวนานหลายทศวรรษ
เมื่อวันที่ 10-12 ก.พ. 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐ ตามคำเชิญของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ การเยือนดังกล่าวถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความพร้อมของทั้งสองฝ่ายที่จะขับเคลื่อนความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะร่วมมือกัน ทั้งความมั่นคง การค้าการลงทุน รวมถึงไปถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในระดับภูมิภาค รวมถึงในกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ที่เป็นข้อริเริ่มของสหรัฐ ตลอดจนหารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งสหรัฐ ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของไทยและอาเซียน และสนับสนุนข้อริเริ่มของไทยในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ซึ่งก่อนหน้านั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาผ่านสภากาชาดของไทยและเมียนมาด้วย
นอกจากการพูดคุยกับนายบลิงเคนแล้ว รองนายกปานปรีย์ฯ ยังได้พบหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ และที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาที่ไทยให้ความสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแผนโครงการสำคัญ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงย้ำความพร้อมร่วมมือกันต่อไปใน IPEF รองนายกปานปรีย์ฯ ยังได้พบกับ สว. Chris Van Hollen ประธานคณะอนุกรรมาธิการเอเชียตะวันออกฯ และ สว. Tammy Duckworth สว.สหรัฐ เชื้อสายไทยที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ซึ่งก็ย้ำความพร้อมกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไทย อันสะท้อนว่า ภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐ ก็มีความสนใจในการสานความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ
จะเห็นได้ว่า แม้ไทยและสหรัฐ จะมีระยะทางที่ห่างไกลกัน แต่ความสัมพันธ์อันยาวนานและการผ่านร้อนผ่านหนาวในประวัติศาสตร์มาร่วมกัน ทำให้มิตรภาพและความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกัน และก็จะใกล้ชิดกันมากขึ้น คาดหวังได้ว่า ตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2576 ที่ทั้งสองประเทศจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 200 ปี ไทยและสหรัฐ จะมีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในโลก อย่างความมั่นคงทางไซเบอร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปลายเดือนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม U.S.-Thailand Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ 2 ในวันที่ 28-29 ก.พ. ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะหารือกันในประเด็นยุทธศาสตร์และความมั่นคงในหลากหลายมิติและต่อยอดผลักดันความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มพูนประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนของทั้งสองฝ่ายและภูมิภาคต่อไป