จีนอัดฉีดสภาพคล่อง 5 แสนล้านหยวน แต่ยังเดินหน้าคงดอกเบี้ย
ไร้สัญญาณลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางที่ 2.5% แต่ใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องแทนอีก 5 แสนล้านหยวน คาดพยุงค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนเกินไป ขณะที่นักวิเคราะห์ยังตั้งความหวังลดดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี LPR
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบรอบใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. อีก 5 แสนล้านหยวน (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) โดยดำเนินการผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ดอกเบี้ย 2.5% และข้อตกลง reverse repo ซึ่งนับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (19 ก.พ.) ธนาคารกลางจีนได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางที่ระดับ 2.5% เท่าเดิม แม้ว่าจะมีแรงกดดันและคาดการณ์มาหลายสัปดาห์จากบรรดานักวิเคราะห์ว่า จีนอาจจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากกว่านี้
จางเว่ยเหลียง นักกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารดีบีเอส กล่าวกับรอยเตอร์สว่า การคงอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นเพราะแบงก์ชาติจีนต้องการพยุงค่าเงินหยวนและจำกัดส่วนต่างกับค่าเงินดอลลาร์ไม่ให้มากเกินไป
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กำลังจับตาไปที่ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) แทนว่าอาจจะมีโอกาสที่จีนจะลดดอกเบี้ยดังกล่าวในวันที่ 20 ก.พ.นี้
หมิง หมิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ซิติก ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การลดสัดส่วนการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ (RRR) และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก คือการส่งสัญญาณไปสู่การดอกเบี้ย LPR ตามมา ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมให้ภาคเศรษฐกิจจริง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดย LPR ถือเป็นดอกเบี้ยของภาคเศรษฐกิจจริง ในขณะที่ MLF ถือเป็นดอกเบี้ยของตลาดการเงิน
หมิงกล่าวด้วยว่า โอกาสที่จีนจะลดดอกเบี้ย LPR นั้นขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่แบงก์จะลดดอกเบี้ยเงินฝากรอบใหม่ หลังจากที่ลดไปแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2565 ขณะที่แบงก์ชาติจีนเพิ่งประกาศลด RRR ครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะรอดูทิศทางเงินหยวนก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักวิเคราะห์มองว่าในขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทางการจีนดำเนินการมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนทรุดตัวลงรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 นั้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเงินหยวนกำลังสร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางจีนเช่นกัน