เปิดฉาก‘สิงคโปร์แอร์โชว์’ จีนอวดโฉมเครื่องบินผลิตเอง

เปิดฉาก‘สิงคโปร์แอร์โชว์’  จีนอวดโฉมเครื่องบินผลิตเอง

งานสิงคโปร์แอร์โชว์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี เปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ถึงวันที่ 25 ก.พ. นับเป็นปีแรกหลังจากโควิดที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม ทุกสายตาจับจ้องไปยัง Comac C919 เครื่องบินพาณิชย์สัญชาติจีน

KEY

POINTS

  • สิงคโปร์แอร์โชว์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 ก.พ.
  • โบอิงไม่นำเครื่องบินพาณิชย์มาแสดง ความสนใจจึงตกไปที่คู่แข่งอย่างแอร์บัสและ Comac 
  • จีนเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์ผลิตเอง Comac C919 ต่อสายตาชาวโลก อวดเป็นคู่งแข่งโบอิงและแอร์บัส

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน การเจรจาธุรกิจงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงนิทรรศการชางงีระหว่างวันนี้ (20 ก.พ.) - 23 ก.พ. จากนั้นจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ. ส่วนการแสดงการบินจะถ่ายทอดสดในวันนี้และ 24 ก.พ. 

ยักษ์ใหญ่ในแวดวงการบินและอากาศยานอย่างแอร์บัส, โบอิง, โคแมค รวมถึงบริษัทผลิตอาวุธ อาทิ ล็อกฮีด มาร์ติน, ดาสโซล์, SAAB, ลีโอนาร์โด, ทาเลส และอื่นๆ มาร่วมงานอย่างคึกคัก

แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์จับตามากเป็นพิเศษคือจีนจะนำเครื่องบินพาณิชย์ผลิตเอง Comac C919 มาเปิดตัวต่อนานาชาติเป็นครั้งแรก ยิ่งปีนี้โบอิงไม่นำเครื่องบินพาณิชย์มาแสดง ความสนใจจึงตกไปที่คู่แข่งอย่างแอร์บัสและ Comac

Comac C919 พัฒนาโดยบรรษัทเครื่องบินพาณิชย์จีน (โคแมค) ได้ใบรับรองจากกรมการบินพลเรือนจีนในเดือน ก.ย.2565 จีนอวดว่าเครื่องบินรุ่นนี้เป็นคู่แข่งกับโบอิง 737 และแอร์บัส 320 ได้เลย ซึ่งนักวิเคราะห์ก็มองเช่นนั้น 

คริส โอลิน นักวิเคราะห์จากนอร์ธโคสต์ รีเสิร์ช มองว่า สุดท้ายแล้ว C919 จะค่อยๆ แย่งส่วนแบ่งตลาดของโบอิงแม็กซ์ “แต่ผลการดำเนินงานของ C919 ในสองปีข้างหน้ายังเงียบ เนื่องจากคาดว่าผลิตได้จำกัดเพียงปีละ 75-100 ลำเท่านั้น” 

 ส่วนแอร์บัสนำโมเดลเครื่องบินลำตัวกว้าง A350-1000 มาจัดแสดงรวมถึงเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินทหาร และ A330neo 

ขณะที่โบอิงเน้นโชว์ศักยภาพด้านทหาร นำเครื่องบินรบมาแสดงหลายลำ เช่น บี-52 สตราโตฟอร์เทรส

  (B-52 Stratofortress) ที่จะร่วมโชว์กับกองทัพอากาศสหรัฐ 

 นักวิเคราะห์มองว่า ออเดอร์เครื่องบินปีนี้ไม่มาก ส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การบินทหารและเครื่องบินส่วนตัว เบรนแดน โซบี จากโซบี เอวิเอชัน มองว่า ในระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ออเดอร์เครื่องบินทำกันในงานดูไบแอร์โชว์มากขึ้นเรื่อยๆ ดับฝันสิงคโปร์ที่ต้องการเป็นงานแอร์โชว์ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากปารีสและฟาร์นโบโรห์

สิงคโปร์แอร์โชว์ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2551 เป็นงานแสดงอากาศยานใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ที่นักวิเคราะห์มองว่า ปีนี้มีความสำคัญตรงที่เป็น “สัญลักษณ์การฟื้นตัวของเอเชีย”

ในภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินโลกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์ว่า ปีนี้สายการบินจะมีกำไรสุทธิทะลุ 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 2.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

มารี โอเวนส์ ทอมเซน รองประธานอาวุโสด้านความยั่งยืนและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไออาตา กล่าวว่า ปี 2566 ความต้องการเดินทางทางอากาศทั่วโลกอยู่ที่ 88.3% ของระดับก่อนโควิด ส่วนใหญ่เป็นผลจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวช้าลง แต่เธอยังคาดหวังว่า “ปีนี้จะฟื้นตัวเต็มที่”

ส่วนแนวโน้มระยะยาวยังคงสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกที่คาดหมายไว้ในปีนี้

ด้านสุภาส เมนอน ผู้อำนวยการสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การเดินทางของเอเชียแปซิฟิกบ่อยครั้งถูกมองว่าฟื้นตัวหลังภูมิภาคอื่น เพราะการเดินทางยังไม่กลับมาสู่ระดับก่อนโควิด

อย่างไรก็ตาม “ความต้องการไม่ได้อ่อนตัวลงเลย เที่ยวบินเต็มหมด สนามบินแน่น  สายการบินกลับมาทำกำไร ทั้งหมดนี้บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป เส้นทางบินระหว่างประเทศ 7 ใน 10 เส้นทางที่ผู้คนเดินทางกันมากที่สุดในปี 2566 อยู่ในเอเชีย” เมนอนกล่าวพร้อมย้ำว่า การเดินทางทางอากาศทั่วโลกที่เติบโตขึ้นในปีนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชียแปซิฟิก