3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

“สงครามยูเครน” เข้าสู่ปีที่สาม ความขัดแย้งไม่มีแค่รัสเซีย-ยูเครน แต่ยังมีหลายชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทสำคัญ แล้วแนวโน้มชะตากรรมจะเป็นอย่างไร

มาถึงเวลานี้กองกำลังยูเครนถอยทัพ ขาดแคลนกระสุน และถูกบีบให้ล่าถอยออกจากบางพื้นที่ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนล้า ในการขับไล่กองทัพรัสเซีย เพียงเพราะรอการสนับสนุนการเงินและการทหาร ตอกย้ำชะตากรรมขึ้นอยู่กับทิศทางการเมืองชาติตะวันตก 

นี่คือปัจจัยส่วนหนึ่งจากชาติตะวันตกที่ส่งผลต่อความเป็นไปในสงครามยูเครนในปีนี้ 

  • แพ็คเก็จเงินช่วยเหลือ ลุ้นผ่านสภาคองเกรส

เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกและยูเครนพูดตรงกันว่า ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในรัฐสภาสหรัฐ รวมเป็นเงินช่วยเหลือยูเครนประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนทางทหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อกองกำลังเคียฟ 

"พวกเขารอทุกสัปดาห์ หมายความว่าอาจมีทหารยูเครนที่ปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้าต้องเสียชีวิตมากขึ้นในระหว่างรอความช่วยเหลือ" เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก หัวหน้านาโตกล่าวในการประชุมความมั่นคง ที่เมืองมิวนิก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

วุฒิสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออิสราเอล และไต้หวันเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ต้องเผชิญแรงคัดค้านที่รุนแรงจากพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งไมค์ จอห์นสัน ได้ต่อต้านแรงกดดันจากทำเนียบขาว โดยเรียกร้องให้ลงคะแนนเสียงในร่างกฎหมายนี้

3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก  

  • หนทางจัดหากระสุน

สงครามรัสเซีย - ยูเครน ต้องใช้กระสุนปืนใหญ่ต่อสู้ ในแต่ละวันทั้งสองฝ่ายต่างยิงกระสุนแลกใส่กันหลายพันนัด 

"แม้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในปี 2566 ยูเครนยิงกระสุนมากกว่ารัสเซีย แต่สถานการณ์พลิกผัน เมื่อมอสโกเพิ่มกำลังการผลิต และนำเข้ากระสุนจากเกาหลีเหนือ และอิหร่าน" นักวิเคราะห์ชี้

มิเชล คอฟแมน นักวิจัยสถาบัน  Carnegie Endowment for International Peace ในวอชิงตัน ประเมินว่า รัสเซียยิงปืนใหญ่มากกว่ายูเครนถึง 5 เท่า

"ปัจจัยสำคัญต่อเคียฟในปีนี้คือ พันธมิตรชาติตะวันตกจะจัดหากระสุนและอาวุธให้กับกองทัพยูเครนมากพอกับความต้องการใช้รับมือรัสเซียได้ทันหรือไม่" ศาสตราจารย์จัสติน บรองค์ นักวิจัยสถาบันวิจัยกลาโหมอังกฤษกล่าว 

3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

  • ตัดสินใจใช้อาวุธ อนุภาคเหนือรัสเซีย

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนได้ผลักดันพันธมิตรชาติตะวันตก ส่งมอบอาวุธใหม่ให้กับกองทัพเคียฟ และเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือต้องการขีปนาวุธพิสัยไกลที่จะสามารถโจมตีไปถึงด้านหลังแนวรบของกองทัพรัสเซีย เช่น ATACMS ของสหรัฐ และ Taurus ของเยอรมนี 

"ในเมื่อเราไม่สามารถเพิ่มการผลิตกระสุนได้ชั่วข้ามคืน แต่สามารถตัดสินใจได้ทันทีเพื่อส่งมอบอาวุธศักยภาพสูงให้กับกองทัพยูเครน ตามที่พวกเขาต้องการ" อันเดร ฟอกห์ ราซมูซเซน อดีตหัวหน้านาโตที่ใกล้ชิดรัฐบาลยูเครนกล่าว 

สหรัฐได้จัดหาขีปนาวุธ ATACMS ที่ค่อนข้างเก่ารอไว้ให้ แต่รัฐบาลโจ ไบเดนกำลังดำเนินการเพื่อจัดหาและส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกลที่ใหม่กว่าให้กับยูเครน ถึงอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการอนุมัติร่างกฎหมายในสภา

ขณะที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอล์ซของเยอรมนี ต่อต้านคำร้องขอจากเคียฟและพันธมิตรนาโต บางประเทศ ที่ขอให้จัดหาขีปนาวุธพิสัยไกล Taurus ที่มีระบบล้ำสมัย

"ขีปนาวุธดังกล่าวอาจขยายพื้นที่สงครามไปในดินแดนรัสเซีย และเยอรมนีอาจถูกมองว่า เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งโดยตรง" เจ้าหน้าที่เยอรมันแสดงความกังวล

3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

 

  • สงครามตะวันออกกลาง กลบกระแสยูเครน

ขณะที่ผู้นำโลกใต้ (Global South) ยังกล่าวหาชาติตะวันตกดำเนินการสองมาตรฐานเกี่ยวกับทัศนคติต่อสงครามยูเครน และฉนวนกาซา 

"แน่นอน รัสเซียได้ประโยชน์จากความคิดนี้" เอกอัครราชทูตยูเครน ประจำสหภาพยุโรปกล่าว และเสริมว่า ยูเครนพยายามพูดคุยกับประเทศกลุ่มโลกใต้ หวังพวกเขาเป็นข้างเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่มันยาก 

สงครามในฉนวนกาซา ครั้งที่กลุ่มฮามาสโจมตี อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ทำให้ผู้นำชาติตะวันตกสร้างประเด็นทางการเมืองและใช้เวลากับยูเครนน้อยลง เพราะแนวโน้มสงครามกาซาอาจเลวร้ายลงอีก หรือบานปลายจนเป็นสงครามในภูมิภาคได้มากกว่า

3 ปีสงคราม ‘ยูเครน’ เหตุใดชะตากรรมขึ้นอยู่กับชาติตะวันตก

  • ผลเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2567 

สมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาชอบวิพากษ์วิจารณ์นาโตอย่างดุเดือด แถมยังขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะถอนตัวออกจากพันธมิตรนาโต แต่สิ่งที่เขาได้ทำจริงคือ การตัดเงินสนับสนุนด้านกลาโหมที่ให้กับนาโต และมักพูดบ่อยว่า สหรัฐจ่ายเงินให้ไปมากกว่าส่วนแบ่งที่เหมาะสม

ตัดภาพมารัฐบาลไบเดนพบว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์มักเรียกร้องให้ลดการใช้ความรุนแรงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเขามักจะบ่นที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางทหารไปจนถึงตอนนี้รวมแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีไบเดน วัย 81 ปี ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งสมัยที่ 2  ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเผชิญหน้ากับทรัมป์วัย 77 ปี และมั่นใจพรรคเดโมเครตสามารถเอาชนะในเลือกตั้งได้ในเดือน พ.ย.นี้

ที่มา : Reuters