ถอดบทเรียนวิกฤติประชากร 3 ประเทศเอเชียตะวันออก

ถอดบทเรียนวิกฤติประชากร   3 ประเทศเอเชียตะวันออก

คำว่า ลูกมากจะยากจน ดูเหมือนสิ้นมนต์ขลัง เมื่อหลายประเทศที่เศรษฐกิจดีกลับต้องสะดุดเพราะคนเกิดน้อยลง ญี่ปุ่นเจอปัญหานี้ก่อน ตามด้วยเกาหลีใต้และจีนที่กำลังปวดหัวอยู่ในขณะนี้

KEY

POINTS

  • ปี 2566 ประชากรจีนลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน 
  • การเกิดในจีนตกต่ำมาหลายสิบปี ผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้ระหว่างปี 2524-2558 
  • ในญี่ปุ่นการเสียชีวิตแซงหน้าการเกิดมานานกว่าสิบปีแล้ว กลายเป็นปัญหาที่ผู้นำกังวลมากขึ้นทุกขณะ
  • ช่วงปลายปี 2566 อัตราการเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.7 ต่อผู้หญิงหนึ่งคน ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือน ม.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยจำนวนประชากรจีนปี 2566 ลดลง 2.08 ล้านคนหรือ 0.15% มาอยู่ที่ 1.409 ล้านคน สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ประชากรลดลง 850,000 คน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประชากรจีนลดนับตั้งแต่การอดอยากครั้งใหญ่ในยุคเหมา เจ๋อตง ปี 2504

เมื่อต้นปี 2566 ผู้ติดเชื้อโควิดในจีนพุ่งมากทั่วประเทศ หลังจากจีนควบคุมและใช้มาตรการกักตัวเข้มงวดมาสามปีจนสามารถคุมไวรัสได้ แต่จู่ๆ ก็ยกเลิกการควบคุมกะทันหันในเดือน ธ.ค.2565

ยอดรวมผู้เสียชีวิตของจีนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.6% มาอยู่ที่ 11.1 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตทะลุระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2517 ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

เด็กเกิดใหม่ลดลง 5.7% มาอยู่ที่ 9.02 ล้านคน อัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.39ต่อประชากร 1,000 คน ลดจาก 6.77ในปี 2565

ทั้งนี้ การเกิดในจีนตกต่ำมาหลายสิบปี ผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้ระหว่างปี 2524-2558 ประกอบกับเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว ช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตก็เหมือนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่ย้ายจากพื้นที่เกษตรในชนบทมาอยู่ในเมืองซึ่งการเลี้ยงดูลูกเสียค่าใช้จ่ายสูง

หากพิจารณาประเทศเพื่อนบ้าน ปี 2565 อัตราการเกิดของญี่ปุ่นอยู่ที่ 6.3 ต่อประชากร 1,000 คน เกาหลีใต้อยู่ที่ 4.9

“เมื่อเราสังเกตซ้ำๆ ถึงประเทศอื่นๆ ที่การเจริญพันธุ์ต่ำ พบว่า เมื่อการเจริญพันธุ์ลดลงแล้วย่อมเพิ่มขึ้นได้ยากมาก” โจว หยุน นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิิชิแกนกล่าวกับรอยเตอร์

ปัจจัยอื่นๆ ที่ซ้ำเติมความอยากมีลูกในจีนเมื่อปี 2566 ได้แก่อัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ค่าจ้างพนักงานออฟฟิศจำนวนมากลดลง และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนกว่าหนึ่งในสามจมอยู่ในนั้นทวีความรุนแรง

ทั้งยังน่ากังวลเรื่องที่แรงงานและผู้บริโภคลดจำนวนลงบั่นทอนการเติบโตของจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่ต้นทุนการเลี้ยงดูผู้สูงอายุและผลประโยชน์เกษียณกลับสูงขึ้น ยิ่งทำให้รัฐบาลท้องถิ่นที่หนี้ท่วมอยู่แล้วสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

ในปี 2566 อินเดียแซงหน้าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไปแล้ว ตามการประเมินของสหประชาชาติ ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากว่า สมควรโยกย้ายซัพพลายเชนบางส่วนออกจากจีนไปยังตลาดอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับวอชิงตันเข้มข้นขึ้น

ในระยะยาวผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นมองว่า ประชากรจีนจะหดตัวลง 109 ล้านคนภายในปี 2593 กว่าสามเท่าจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2562

ประชากรจีนอายุไม่น้อยกว่า 60 ปี ทะลุ 296.97 ล้านคนในปี 2566 หรือราว 21.1% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 280.04 ล้านคนในปี 2565 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตปี 2566 อยู่ที่ 7.87 ต่อประชากร 1,000 คน สูงกว่า 7.37 ในปี 2565

คาดว่าประชากรวัยเกษียณของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2578 มากกว่าประชากรสหรัฐทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่ราว 280 ล้านคน

สถาบันวิทยาศาสตร์จีนคาดว่า ระบบบำนาญจะหมดงบประมาณภายในปี 2578

จู เกียวปิง เกษตรกรวัย 57 ปีจากมณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เล่าว่า เขามีรายได้ปีละราว 20,000 หยวน (ราว 100,000 บาท) ทำให้ครอบครัวมีเงินเก็บเพียงเล็กน้อย เมื่อเขาอายุ 60 ปีก็จะได้บำนาญเดือนละ 160 หยวน (800 บาท)

“เงินจำนวนนี้แน่นอนว่าไม่พอ บางทีลูกๆ อาจต้องช่วยเหลือเราบ้างในอนาคต” เกษตรกรวัยกลางคนโอดครวญ

  • เอาชนะความท้าทายด้านประชากร

กล่าวได้ว่า สังคมจีนขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ “4-2-1” คนทำงาน 1 คนต้องดูแลพ่อแม่ 2 คน ปู่ย่าตายาย  4 คน ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับกำลังแรงงานลด อำนาจการใช้จ่ายลด ระบบบำนาญตึงตัว และผลิตภาพลด

เว็บไซต์ไชนาเดลีรายงานว่า การแก้ปัญหาความท้าทายด้านประชากรในขณะนี้ จำเป็นต้องใช้นโยบายที่เป็นตัวเปลี่ยนเกม ขณะนี้จีนกำลังแสวงหาการเติบโตเชิงคุณภาพแทนเชิงปริมาณ อย่างที่เกิดขึ้นแล้วในสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวย นั่นหมายความว่า “ปัจจัยด้านผลิตภาพทุกตัว” สำคัญกว่าปัจจัยด้านแรงงาน

ข้อมูลจากสถาบันแมคคินเซย์โกลบอลชี้ว่า ตำแหน่งงานทั่วโลก 800 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน จะถูกหุ่นยนต์แย่งไปทำภายในปี 2573 ชี้ให้เห็นว่า “ตัวเลขกำลังคน” กลายเป็นเรื่องล้าสมัย

จีนกำลังเดินหน้ารับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หุ่นยนต์ อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง การพิมพ์สามมิติ วิศวพันธุศาสตร์ ควอนตัมคอมพิวติง และเทคโนโลยีอื่นๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหารไร้พนักงานเริ่มมีให้เห็นกลางเมืองใหญ่หลายแห่ง การที่จีนพัฒนาแหล่งรวมกำลังคนการศึกษาสูงใหญ่สุดของโลก ประชาชน 240 ล้านคนเรียนหนังสือสูง ถือเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนาด้านคุณภาพ

  • วิกฤติประชากรญี่ปุ่น

วิกฤติประชากรญี่ปุ่นกำลังหนักข้อขึ้น ปี 2565 จำนวนประชากรลดลงกว่า 800,000 คน สอดรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับประเทศเอเชียตะวันออก

กระทรวงมหาดไทยญี่ปุ่น รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2566จำนวนประชากรรวม 125.4 ล้านคน ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติผู้มีถิ่นพำนักในญี่ปุ่น

จำนวนชาวต่างชาติผู้มีถิ่นพำนักในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 289,500 คน เมื่อเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมากกว่า 10% แต่จำนวนชาวญี่ปุ่นกลับลดลง 800,523 คน หดตัวเป็นปีที่ 14 ติดต่อกันจากที่เคยสูงสุดในปี 2552

และเป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากรสัญชาติญี่ปุ่นลดลงทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่การที่ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรโดยรวมไม่แยกสัญชาติได้เล็กน้อย

ตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี 2565 ทุบสถิติเช่นกันที่ 1.56 ล้านคน เทียบกับจำนวนเด็กเกิดเพียง 771,801 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนที่เสียชีวิต

ในญี่ปุ่นการเสียชีวิตแซงหน้าการเกิดมานานกว่าสิบปีแล้ว กลายเป็นปัญหาที่ผู้นำกังวลมากขึ้นทุกขณะ เรื่องจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมาก กำลังแรงงานที่หาเงินมาดูแลระบบบำนาญและสาธารณสุขหดตัว ขณะที่ความต้องการจากประชากรสูงวัยพุ่งขึ้น

นับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองสุดๆ ในทศวรรษ 1980 ประชากรก็ลดลงต่อเนื่อง อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.3 ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราทดแทนที่ 2.1  เพื่อรักษาจำนวนประชากรให้คงที่กรณีที่ไม่รับผู้ย้ายถิ่น

ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อายุคาดหวังสูงสุดในโลกเมื่อปี 2563 ประชาชนในญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 1,500 คน อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี

บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวันต่างเผชิญวิกฤติคล้ายๆ กัน พยายามส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวมีลูกมากขึ้นท่ามกลางค่าครองชีพสูงและความไม่พอใจในสังคม

แนวโน้มที่น่ากังวลนี้กระตุ้นให้นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะต้องเตือนว่า สังคมญี่ปุ่น “เสี่ยงไม่อาจทำหน้าที่ต่อไปได้”

เพื่ออุดช่องว่างและสร้างสมดุลด้านประชากร ไม่กี่ปีมานี้ทางการญี่ปุ่นผลักดันรับชาวต่างชาติและแรงงานต่างถิ่นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่มีความผสมกลมกลืนกันสูงและระดับการย้ายถิ่นค่อนข้างต่ำ

ปี 2561 สภาญี่ปุ่นเห็นชอบกฎหมายที่อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะเสนอ ออกวีซ่าใหม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติ 340,000 คน เข้ามาทำงานทักษะสูงและงานรายได้น้อย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า กำลังพิจารณาให้ชาวต่างชาติที่มีทักษะบางอย่างอยู่ในญี่ปุ่นได้ไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการไม่คืบหน้า

รายงานขององค์กรวิจัยแห่งหนึ่งในโตเกียว พบว่า ภายในปี 2573 ญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติมากกว่าปี 2563 ราวสี่เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ญี่ปุ่นจำต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่นเป็นประการแรก พร้อมผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ยอมรับคนต่างชาติได้มากขึ้น

  • เกาหลีใต้ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

ช่วงปลายปี 2566 อัตราการเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.7 ต่อผู้หญิงหนึ่งคน ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราทดแทน เท่ากับว่าประชากรเกาหลีใต้กำลังสูงวัยและหดตัวอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลทุ่มเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์กระตุ้นให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น ความพยายามหนึ่งของทางการกรุงโซลคือให้เงินอุดหนุนการแช่แข็งไข่ ที่ตามทฤษฎีช่วยให้ผู้หญิงรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรทำก่อนอายุ 38 ปี ที่คุณภาพของไข่จะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว

เกาหลีใต้มีเทคโนโลยีแช่แข็งไข่มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 แต่ยังรับรู้กันน้อยและความต้องการใช้บริการมีไม่มาก

ชา ควังยุล เจ้าของซีเอชเอ เมดิคัล กรุ๊ป พัฒนาวิธีแช่แข็งไข่รายแรกๆ ของโลกเมื่อปี 2541และเปิดธนาคารไข่มาตั้งแต่ปี 2542 แต่คนที่สนใจมีเพียงผู้หญิงที่มีลูกไม่ได้ผลจากการรักษามะเร็ง

“เพิ่งไม่กี่ปีมานี่เองที่วัฒนธรรมเปลี่ยน คนเริ่มพูดกันว่า นี่... ถ้ายังไม่มีแผนแต่งงานก็เก็บไข่ไว้ก่อนสิ” ชากล่าว

แต่ระยะหลังเมื่อมีข้อมูลข่าวสารมากขึ้นความต้องการแช่แข็งไข่เริ่มมีมากขึ้นตาม แค่ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจำนวนไข่แช่แข็งที่ซีเอชเอ เมดิคัล เซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณจาก 72 คนในปี 2558 เป็นกว่า 1,000 คนในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติประชากรเกาหลีใต้ด้วยการกระตุ้นให้คนแต่งงานและมีลูก ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ คนหนุ่มสาวเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูก ไม่อยากมีบ้าน เนื่องจากเศรษฐกิจชะงักงัน งานหายาก แข่งขันสูง

ปี 2565 อัตราการแต่งงานมีเพียง 3.7 ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันครัวเรือนโสดคิดเป็น 41% ของครัวเรือนทั้งหมด และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกระนั้น การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวยังคงเป็นตราบาปในสังคม

ไฮยอง วู อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยพอร์ทแลนด์ ผู้ทำวิจัยเรื่องครอบครัวในเกาหลีใต้เผยว่า อัตราพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในเกาหลีใต้ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ

เธอเสนอว่า แทนที่จะกระตุ้นให้คนแต่งงานหรือมีลูกคนที่ 2 ควรใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าผ่านนโยบายการเคหะ ภาษี สถานดูแลเด็ก เพิ่มสิทธิประโยชน์พ่อแม่ลาคลอดและเลี้ยงดูลูก

ยิ่งไปกว่านั้นสังคมต้องยอมรับรูปแบบครอบครัวหลากหลายให้มากขึ้น เช่น ช่วยเหลือคนโสดหรือคู่รักเพศเดียวกันให้ได้มีลูกถ้าพวกเขาอยากมี