'เชียงราย' แหล่งเรียนรู้-พัฒนา หนุนประชาชน 'กินดีอยู่ดียั่งยืน'
กระทรวงการต่างประเทศ พาคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยทัศนศึกษาเชียงราย ซึ่งพบว่าเชียงรายไม่ใช่แค่จังหวัดท่องเที่ยวธรรมดา แต่เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์สำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เชียงราย” จังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นที่รู้จักว่าเป็นถิ่นวัฒนธรรมล้านนา มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้เยี่ยมชมมากมาย ทั้งวัดวาอารามและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ หากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็มีดอยที่มีไร่ชาและสวนดอกไม้อยู่หลายแห่ง แต่เชียงราย ไม่ได้มีเพียงสถานที่สวยๆ ให้ถ่ายรูปเฉยๆเท่านั้น เพราะเป็นจังหวัดที่มีโครงการพัฒนานับร้อยโครงการ นอกจากท่องเที่ยวแล้ว ผู้คนยังสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตคนในท้องถิ่น และการพัฒนาชุมชนต่างๆ ร่วมด้วย
เนื่องด้วยเชียงรายมีโครงการพระราชดำริมากกว่า 200 โครงการ ปีนี้กระทรวงการต่างประเทศจึงจัดทริปพาคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.
สถานที่แรกที่คณะไปเยือนคือ ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์โคก หนอง นา บนดอยอินทรีย์ ซึ่งเป็นพื้นที่บูรณาการด้านการทำเกษตร ตามหลักแล้วโคก หนอง นา โมเดล เป็นการจัดสรรพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ โคก สำหรับปลูกพืชและทำที่อยู่อาศัย หนองสำหรับกักเก็บน้ำ และนา สำหรับทำนา แต่ด้วยภูมิทัศน์ที่เป็นภูเขาและดินมีลักษณะเป็นดินแดง ให้ความรู้สึกแห้งแล้ง หลายคนอาจเกิดคำถามว่าจังหวัดนี้ทำการเกษตรอะไรได้บ้าง
ก่อนไปเยี่ยมชมที่ดินชุมชนต้นแบบ เจ้าหน้าที่ได้พาคณะสำรวจฐานเรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่ 1.ฐานกสิกรรมธรรมชาติ เป็นการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ยาดม ยาหม่อง รวมถึงการแปรรูปอ้อยเป็นน้ำอ้อยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน 2.ฐานคนมีไฟ เป็นการแปรรูปกล้วยเป็นกล้วยตาก ที่ไม่ใช้แค่กล้วยตากแดดธรรมดา แต่ตากโดยใช้ตู้อบแสงอาทิตย์ หรือพาราโบลาโดม ชุมชนเรียกผลิตภัณฑ์นี้ว่า “กล้วยกู้โลก” 3.ฐานพระแม่โพสพ สาธิตการฝัดข้าว และการตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง 4.ฐานคันนาทองคำ เยี่ยมชมพืชผักสวนครัว และข้างทางมีคลองไส้ไก่ที่เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
จากนั้นเจ้าหน้าที่พานั่งรถรางเยี่ยมชมที่ดินชุมชนต้นแบบ ซึ่งคณะทูตได้เห็นว่าคนในชุมชนแบ่งที่ดินทำกินเป็นบล็อกขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป บางบล็อกมีการสร้างบ้านพร้อมทำสวน เช่น สวนผักปลอดสารพิษ บางบล็อกมีเพียงสวนและบ่อน้ำ ปลูกทั้งผักและผลไม้ บางบล็อกมีบ้านเพียงหลังเดียว ทำธุรกิจโฮมสเตย์
การเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าดินแดงที่ดูเหมือนแห้งแล้งนั้น ยังสามารถทำการเกษตรได้หลายอย่าง ทั้งยัังแสดงให้เห็นว่าโครงการพัฒนาชุมชนโคก หนอง นา ช่วยคนท้องถิ่นประยุกต์ที่ดินทำกินได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย
ในช่วงบ่ายคณะทูตไปเยือนชุมชนบ้านร่องบอน เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ป่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและภาคเอกชน โดยเงินทุนในการปลูกป่ามาจากภาคเอกชน ส่วนมูลนิธิฯเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชน ซึ่งนอกจากผืนป่าจะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตให้กับภาคเอกชนแล้ว ยังทำให้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชนเช่นกัน โดยชาวบ้านสามารถเก็บหน่อไม้และเห็ดจากป่าได้
ในวันที่ 2 ของทริป คณะทูตได้ไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้บรรยายถึงที่มาโครงการ ว่า ดอยตุงเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาในหลายด้าน จากเดิมที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้น มียาเสพติดแพร่ระบาด และมีความขัดแย้งในกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เต็มไปด้วยพืชพรรณป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจมากมาย นอกจากคืนสมดุลให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้ความรู้ต่อยอดทำการเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและอยู่รอดได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ดอยตุงยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนจะได้สัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วย
ดอยตุงมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่สร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมูลนิธิฯได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และส่งออกไปยังตลาดต่างๆ นอกจากกาแฟดอยตุงแล้ว ยังมีงานฝีมือจากชุมชน เช่น เสื้อผ้า เซรามิก และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่เป็นของใช้ เช่น กระเป๋าผ้า นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดอยตุงยังได้ร่วมธุรกิจกับแบรนด์ต่างประเทศ อาทิ บริการกาแฟดอยตุงในสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และโอนิสึกะ ไทเกอร์ แบรนด์รองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นออกคอลเลกชันรองเท้าลายผ้าไทยจากดอยตุง
หลังจากฟังบรรยาย คณะทูตได้ทำกิจกรรมเพ้นท์เซรามิกดอยตุง และสมุดกระดาษสา เพื่อเก็บไว้เป็นของที่ระลึก
ในวันสุดท้าย คณะทูตได้ไปเยี่ยมชมมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 หรือ “ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023” งานนี้จัดขึ้นเพื่อโปรโมตศิลปะร่วมสมัยให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รู้จักวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของไทย ปีนี้มาในธีม “เปิดโลก” โดยกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานศิลปะร่วมสมัย ได้จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติหลายชิ้น ซึ่งมีศิลปินต่างชาติบางคนเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชียงราย เพื่อสร้างผลงานมาจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ
ไทยแลนด์เบียนนาเล่จัดแสดงในหลายพื้นที่ของจ.เชียงราย สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เม.ย. 2567 หากใครชื่นชอบงานศิลปะอาจต้องลางานหลายวันเพื่อดื่มด่ำกับศิลปะสุดอลังการให้ครบถ้วนทุกชิ้น แม้บางผลงานจัดแสดงถาวรในเชียงราย แต่บางผลงานจัดแสดงเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ทริปทัศนศึกษาจ.เชียงรายของคณะทูตนั้น แสดงให้เห็นว่า เชียงรายไม่ใช่แค่จังหวัดท่องเที่ยวธรรมดาแต่เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์สำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนา ที่ช่วยยกระดับความกินดีอยู่ดีของคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
‘เชียงราย’ ต้นแบบการพัฒนาที่คณะทูตประทับใจ
บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เผยถึงความสำคัญของการจัดทริปทัศนศึกษาแก่คณะทูตประจำประเทศไทยว่า เป็นกิจกรรมประจำปีที่จัดมานาน เพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมความเข้าใจอันดีแก่คณะทูต และให้คณะทูตได้ศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการพัฒนาในจังหวัดต่าง ๆ ของไทย
สำหรับเหตุผลที่เลือกเชียงรายในปีนี้ เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค.2567 และเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีโครงการพระราชดำริมากกว่า 200 โครงการ ที่ส่งเสริมความเข้าใจในการพัฒนาชุมชนและความกินดีอยู่ดีของประชาชน ทั้งยังเป็นศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งหนึ่งในไทย โดยเฉพาะงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่เปิดให้คนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรม และช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น
คิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยา ประจำประเทศไทย เผยว่า ประทับใจดอยตุงที่พัฒนาที่ดินจนกลายเป็นไร่ปลูกกาแฟ มีผลิตภัณฑ์คุณภาพส่งออกมากมาย และแน่นอนว่าดอยตุงเป็นโครงการที่ทูตเคนยารู้สึกชื่นชมและสนใจมาก เพราะขณะนี้เคนยามีพื้นที่ที่ประสบปัญหาการค้ายาเสพติด จึงอยากทำโครงการที่เสริมสร้างความเข้าใจและผลกระทบจากยาเสพติดในเคนยาเหมือนกับโครงการพัฒนาดอยตุง และย้ำว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาในเคนยาแต่เป็นปัญหาระดับโลก
ขณะที่เปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกประทับใจทุกที่ที่ได้ไปเยือนในประเทศไทย สำหรับเชียงราย ทูตอิตาลีประทับใจที่ได้เห็นผู้คนทุ่มเทการทำงานให้กับภารกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน และคาดว่าจะกลับไปเที่ยวดอยตุงกับครอบครัวอีกครั้ง เพราะประทับใจที่ดอยตุงได้สอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคนและพื้นที่ให้ดีขึ้น
ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย เผยว่า ตนเคยมาเที่ยวเชียงรายแล้ว แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านมา ทริปนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโคก หนอง นา โมเดล และโครงการพัฒนาดอยตุง ทูตมาเลเซียรู้สึกประทับใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาที่สามารถช่วยชุมชนและคนในท้องถิ่นให้รอดพ้นจากความอดยาก ทั้งยังสร้างงาน สร้างโอกาส โดยเฉพาะการสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้แก่คนรุ่นใหม่