เปิดสาเหตุสำคัญ ! ทำผู้หญิงเกาหลีใต้ ‘ไม่อยากมีลูก’
เปิดสาเหตุ ทำผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากมีลูก ! พบผู้หญิงเกาหลียุคใหม่มองว่าการมีลูกทำเสียโอกาสในหน้าที่การงาน เสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสูง ขณะที่วัฒนธรรมครอบครัวเกาหลียังคงให้ผู้หญิงออกจากงานเลี้ยงลูกและทำงานบ้านเพียงคนเดียว
KEY
POINTS
- สาวเกาหลีใต้วัย 28 ปี ที่ประกอบอาชีพพนักงานฝ่ายบุคคลให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เธอได้เห็นผู้คนที่ต้องลาออกจากงาน หรือไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หลังลาคลอดบุตร ซึ่งปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เธอไม่เคยคิดอยากมีลูก
- การส่งลูกเรียนพิเศษเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างแพร่หลาย จนสังคมมองว่า การไม่ส่งลูกเรียนพิเศษถือเป็นต้นเหตุให้บุตรหลานล้มเหลว แนวคิดนี้จึงทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรมากที่สุดในโลก
- ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเกาหลีเติบโตรวดเร็วมาก ผลักดันผู้หญิงให้มีการศึกษาและหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และเพิ่มความทะเยอทะยานในด้านต่างๆ แต่บทบาทหน้าที่ภรรยาและแม่ไม่ได้พัฒนาตาม
เมื่อวันพุธ (27 ก.พ.) รัฐบาลเกาหลีใต้รายงานตัวเลขจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงสู่ระดับ 230,000 คน ในปีก่อน จากราว 249,000 คนในปี 2565 และมีอัตราเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อสตรี 1 คน ร่วงสู่ระดับต่ำสุด 0.72 คน ในปี 2566
ตัวเลขดังกล่าวสร้างความกดดันต่อรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างหนักในการหาแนวทางกระตุ้นอัตราการเกิดในประเทศ แต่ดูเหมือนว่านโยบายบางส่วนที่ดำเนินการยังไม่สามารถบรรเทาปัญหาเด็กเกิดใหม่ต่ำได้ดีพอ เพราะผู้หญิงเกาหลีใต้หลายคน “ตัดสินใจเลือกเองที่จะไม่มีลูก”
ชีวิตติดหล่มวงจรทำงาน
เยจิน โปรดิวซ์เซอร์สาวชาวเกาหลีวัย 30 ปี เผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เธอเลือกให้ความสำคัญกับการทำงานด้านโทรทัศน์ จึงทำให้เธอไม่มีเวลามากพอที่จะเลี้ยงดูลูก เพราะเกาหลีใต้ “มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมาก” โดยงานของเยจินเข้า 9.00 น. เลิก 18.00 น. ตามเวลาทำงานทั่วไป แต่จริงๆแล้วเธอไม่ได้ออกจากออฟฟิศจนถึง 20.00 น. หรือมากกว่านั้น และเมื่อถึงบ้านเธอมีเวลาเหลือแค่ทำความสะอาดบ้าน หรือออกกำลังกายก่อนนอนเท่านั้น
“ฉันรักงานของฉัน งานเติมเต็มชีวิตฉัน แต่การทำงานในเกาหลีหนักมาก ชีวิตติดอยู่ในวงจรการทำงานไม่มีที่สิ้นสุด” เยจิน กล่าว
นอกจากนี้ สังคมเกาหลีใต้ยังมีความกดดันในการเรียน เพื่อให้ได้งานดี ๆ โดยเยจินเล่าว่า คนเกาหลีมีความคิดที่ว่า ถ้าไม่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และกลายเป็นผู้ล้มเหลว จึงทำให้คนเกาหลีทำงานหนักเป็นสองเท่า
เยจินยังได้เผยถึงความกังวลเหมือนกับผู้หญิงเกาหลีคนอื่น ๆ ว่า ถ้าเธอมีลูกเธอคงไม่สามารถกลับมาทำงานได้
“เราได้รับแรงกดดันเป็นนัย ๆ จากที่ทำงานว่า หากเรามีลูก เราต้องลาออกจากงาน” เยจินกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับพี่สาวของเธอและผู้ประกาศข่าวสองคนที่เธอชื่นชอบ
เลี้ยงลูกเสียโอกาสการทำงาน
สาวเกาหลีใต้วัย 28 ปี ที่ประกอบอาชีพพนักงานฝ่ายบุคคลให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เธอได้เห็นผู้คนที่ต้องลาออกจากงาน หรือไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หลังลาคลอดบุตร ซึ่งปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เธอไม่เคยคิดอยากมีลูก
บีบีซีระบุว่า ชาวเกาหลีใต้มีสิทธิลางานได้รวม ๆ 1 ปี ในช่วงที่ลูก ๆ อายุไม่เกิน 8 ปี แต่ในปี 2565 มีพ่อชาวเกาหลีเพียง 7% เท่านั้นที่ใช้สิทธิลานี้ ซึ่งน้อยกว่าคุณแม่มือใหม่ 70% ที่ใช้สิทธิลาดังกล่าว
ในบรรดาสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี หญิงเกาหลีใต้เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงสุด แต่ประเทศนี้มีช่องว่างด้านค่าจ้างระหว่างเพศมาก ทั้งยังมีสัดส่วนผู้หญิงตกงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับผู้ชาย
ข้อมูลดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับความกดดันให้เลือกเส้นทางอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการงานหรือครอบครัว และผู้หญิงเกาหลีใต้ก็เลือกงานมากขึ้น
ด้านสเตลลา ชิน ครูสอนภาษาอังกฤษเด็กเล็กวัย 39 ปี ที่แต่งงานมาแล้ว 6 ปี เผยว่า เธอและสามีอยากมีลูก แต่ทั้งสองคนงานยุ่งมากและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจนเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ตอนนี้เธอยอมรับว่า ไลฟ์สไตล์ของเธอไม่มีทางที่จะมีลูกได้
“คนเป็นแม่ต้องออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกแบบเต็มที่ในช่วง 2 ปีแรก ซึ่งอาจทำให้ฉันเครียดมาก ฉันรักงานของฉัน และฉันดูแลตัวเองได้” สเตลลา กล่าว
เมื่อถามว่าเธอจะแบ่งวันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกกับสามีหรือไม่ สเตลลาบอกว่า แค่ขอให้เขาล้างจาน บางครั้งสามีก็ไม่ยอมล้าง เธอคงพึ่งเขาไม่ได้ และถึงแม้ว่าเธออยากจะลาออกจากงาน หรือทิ้งครอบครัวและอาชีพการงานไปมากเพียงใด แต่เธอไม่สามารถทำได้เพราะค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยสูงมาก
สเตลลาและสามีเลือกอาศัยอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปยังจังหวัดชานเมืองและทั้งคู่ยังไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้
ต้นทุนเลี้ยงดูบุตรสูง
นอกจากชาวเกาหลีใต้เผชิญแรงกดดันด้านที่อยู่อาศัยแล้ว เมื่อมีลูกพวกเขาก็จะมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตามมา
ในเกาหลีใต้ เด็กอายุประมาณ 4 ขวบจะถูกส่งไปเรียนพิเศษนอกหลักสูตรราคาแพงมากมาย ตั้งแต่คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ จนถึงการเรียนดนตรีและเทควันโด
การส่งลูกเรียนพิเศษเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างแพร่หลาย จนสังคมมองว่า การไม่ส่งลูกเรียนพิเศษถือเป็นต้นเหตุให้บุตรหลานล้มเหลว แนวคิดนี้จึงทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรมากที่สุดในโลก
สเตลลาเข้าใจดีถึงภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง เพราะในฐานะครู เธอเห็นพ่อแม่ใช้จ่ายเงินค่าเรียนพิเศษลูกสูงถึง 890 ดอลลาร์ต่อคนต่อเดือน หรือประมาณ 32,000 บาท และหลายคนไม่สามารถจ่ายไหว
“แต่ถ้าลูกไม่ได้เรียนพิเศษ เด็กๆ จะตามไม่ทัน เมื่อฉันอยู่ท่ามกลางเด็ก ๆ ฉันก็อยากมีลูกนะ แต่ฉันรู้ดีว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง” สเตลลา ย้ำ
ขณะที่มินจี สาวเกาหลีใต้จากจังหวัดปูซาน วัย 32 ปี เผยว่าเธอไม่มีความสุขในช่วงชีวิตในวัยเด็กและวัย 20 เนื่องจากเธอต้องเรียนอย่างหนัก อย่างแรกคือ เพื่อให้เธอได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ จากนั้นสมัครสอบราชการหลายที่
ในวัยเด็กเธอจำได้ว่าต้องเรียนคณิตศาสตร์จนถึงค่ำ ซึ่งเป็นวิชาที่เธอไม่ชอบและทำคะแนนได้ไม่ดี และจริง ๆ แล้วเธอมีความฝันอยากเป็นศิลปินมากกว่า
ด้วยวัย 32 ตอนนี้ มินจีรู้สึกเป็นอิสระและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว เธอรักในการท่องเที่ยวและกำลังเรียนดำน้ำ
และสาเหตุทำให้มินจีไม่อยากมีลูกก็เป็นเพราะเธอไม่ต้องการให้ลูกมาเจอความยากลำบากในการแข่งขันในสังคมแบบที่เธอประสบมา
“เกาหลีใต้ ไม่ใช่ประเทศที่เด็กจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข” มินจี กล่าว
สังคม ‘ปิตาธิปไตย’ โยนภาระให้ผู้หญิงเกาหลีใต้?
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเกาหลีเติบโตรวดเร็วมาก ผลักดันผู้หญิงให้มีการศึกษาและหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และเพิ่มความทะเยอทะยานในด้านต่างๆ แต่บทบาทหน้าที่ภรรยาและแม่ไม่ได้พัฒนาตาม
จองยอน ชุน หญิงเกาหลีใต้ที่มีลูกสองคนเผยว่า เธอไม่ได้คิดว่าการมีลูกเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เธอคิดเพียงว่าตนเองจะสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว แต่แล้วเธอก็พบว่าตนเองเหมือนใช้ชีวิตแต่งงานโดยมีบทบาทเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว
ชุนเล่าว่าหลังจากรับลูกชายและลูกสาวที่โรงเรียน เธอต้องพาลูกเล่นสนามเด็กเล่นใกล้ ๆ โรงเรียนอยู่หลายชั่วโมง จนกว่าสามีจะเลิกงาน ขณะที่สามีของเธอแทบไม่ได้ช่วยเลี้ยงลูกและทำงานบ้านเลย
“ฉันโกรธมากนะ ฉันได้รับการศึกษามาอย่างดี และได้รับการสอนมาว่าผู้หญิงก็มีสิทธิเท่าเทียม ฉันจึงรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ในช่วงแรก ๆ”
หลังจากนั้นจองยอน นักเขียนจากเว็บตูน ได้เริ่มเล่าประสบการณ์ของเธอผ่านการ์ตูน The stories were pouring out of me ซึ่งเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะผู้หญิงทั่วประเทศก็ประสบแบบเดียวกับเธอ และตอนนี้จองยอนกลายเป็นนักเขียนที่ได้จำหน่ายหนังสือของตัวแล้ว 3 เล่ม
อย่างไรก็ตาม เธอสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความโกรธและความเสียใจได้แล้ว
“ฉันหวังว่าตัวเองจะรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของการเลี้ยงลูกมากขึ้น และรู้ว่าบทบาทแม่มีอะไรต้องทำมากขนาดไหน ส่วนสาเหตุที่ผู้หญิงไม่อยากมีลูกในยุคนี้ เพราะพวกเขากล้าที่จะพูดปัญหาที่ไม่อยากมีลูกมากขึ้น”
ขณะที่บีบีซีถามเยจินและเพื่อน ๆ ของเธอว่าอะไรที่สามารถเปลี่ยนใจให้พวกเธอมีลูก ด้านมินซอง หญิงชาวเกาหลีวัย 27 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนเยจิน ตอบอย่างเซอร์ไพรส์ว่า
“ฉันรักเด็ก และอยากมีลูกสัก 10 คน ถ้าทำได้ แต่ฉันเป็นไบเซ็กชวล และมีแฟนเป็นเพศเดียวกัน”
ทั้งนี้ ในเกาหลีใต้ การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานไม่อนุญาตให้ใช้สเปิร์มที่บริจาคเพื่อตั้งครรภ์ได้
“ฉันหวังว่าวันหนึ่งสังคมจะเปลี่ยนแปลง และฉันจะสามารถแต่งงานและมีลูกกับคนที่ฉันรักได้” มินซอง กล่าว