คอนเสิร์ต ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ไทยเสียโอกาส? ใครรับผิดชอบ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
แม้ทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ และกำลังซื้อของคนไทย มีความสามารถดึงดูดงานใหญ่ ๆ เข้ามาจัดในประเทศได้ และไม่ได้ด้อยไปกว่าสิงคโปร์ แต่สิ่งที่ไทยไม่มี หรือเรียกได้ว่า “แย่” คือการเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชน เนื่องจากการเดินทางไปยังงานใหญ่ ๆ ยังคงยากลำบาก
จากกรณีที่นายกฯ สิงคโปร์ ออกมาตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ป๊อปสตาร์สาวชื่อดังระดับโลก และ “ข้อตกลงพิเศษ” ที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำกับเทย์เลอร์
ข้อตกลงพิเศษนั้นมีขึ้นเพื่อให้เทย์เลอร์จัดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์เพียงที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคนไทยก็อาจทราบมาสักพักจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และยิ่งชัดเจนแจ่มแจ้งอีกครั้งเมื่อ สส.ฟิลิปปินส์ ส่งเสียงไม่พอใจ
จริงๆ เรื่องนี้ถ้ามองแบบชาวบ้าน หรือมองแบบคนที่ไม่ใช่นักธุรกิจ ก็ต้องบอกว่าควรจะเจ็บช้ำและโกรธ แต่ในโลกของความเป็นจริงที่มีการแข่งขันสูง ก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ นั้นเรียกได้ว่า เป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ
ผมเคยเขียนถึงเม็ดเงินที่คอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ ดึงดูดเข้าระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจสูงถึง 4,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 164,400 ล้านบาท) และยอดเม็ดเงินเฉลี่ยที่คนมาดูคอนเสิร์ตใช้งานในงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ที่พัก อาหาร ของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งการอยู่เที่ยวต่อในเมืองที่จัดคอนเสิร์ตนั้นๆ ที่มีตัวเลขสูงถึง 47,000 บาทต่อหัว
และเมื่อคอนเสิร์ตจัดขึ้นในสิงคโปร์ ก็มีการประมาณการว่าอาจจะมีเม็ดเงินสะพัดในประเทศสูงถึง 14,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก หากพูดภาษาชาวบ้านก็คงต้องเปรียบเทียบได้กับมหกรรมน้องๆ สงกรานต์ เพราะสงกรานต์ของไทยนั้นทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในไทยกว่า 18,000 ล้านบาท
มีเหตุผลหลายประการที่ทำไมทีมผู้จัดคอนเสิร์ตเลือกสิงคโปร์ เพราะทั้งกำลังซื้อของคนสิงคโปร์ ทั้งทำเลที่ตั้ง การคมนาคมขนส่งที่สะดวก แต่ทั้งหมดทั้งมวลไทยเราก็ใช่ว่าจะแพ้ราบคาบ เพราะทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้แย่ กำลังซื้อเราถึงแม้จะไม่เท่าสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ได้แย่ เพราะจำนวนประชากรเราเยอะกว่าสิงคโปร์มาก
ดังนั้น คนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อจึงไม่ได้น้อยไปกว่าสิงคโปร์ และกรุงเทพฯ ก็ถือเป็นศูนย์กลางของการเดินทางโดยเครื่องบินของภูมิภาคเช่นเดียวกัน เพื่อนบ้านเราชอบมาคอนเสิร์ตที่ไทยมากกว่า เพราะถูกกว่าและที่สำคัญสนุกกว่า เพราะกรุงเทพฯ นั้นเรียกได้ว่าครบเครื่อง ไม่น่าเบื่อ
แต่สิ่งที่เราไม่มี หรือเรียกได้ว่า “แย่” คือการเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชน การจัดงานใหญ่ไม่ว่าจะเป็นที่งานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต ตามสนามกีฬาหรือศูนย์ประชุม แต่เราไม่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับเลย ที่จอดรถแน่น รถติด รถสาธารณะหายาก มีการโก่งราคา ปฏิเสธรับผู้โดยสาร คนไทยเองเวลาจะไปคอนเสิร์ตแต่ละครั้งยังต้องคิดแล้วคิดอีก นี่คือปัญหา
อีกสิ่งที่เราอาจยังไม่มีคือ “วิธีคิด” แบบหน่วยงานของสิงคโปร์ ไม่ใช่เพราะสิงคโปร์มีเงินสนับสนุนงบประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อผูกขาดคอนเสิร์ตและเราไม่มี อันที่จริง ไทยเราก็มีงบประมาณในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการประชุมมากมาย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยตรงก็มาก
แต่ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น ถ้าเราไม่มีวิสัยทัศน์ไกลพอที่จะมองเห็นผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากคอนเสิร์ตนี้ล่วงหน้า เราก็ไร้ความสามารถในการพูดคุยดึงดูดผู้จัดงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ก็แย่พอกัน
ยอดตั๋วที่ขายได้กว่า 300,000 ใบ ยอดจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 30% และยอดเงินรวมที่อาจจะสูงถึง 14,000 ล้านบาท เพียงพอหรือยังที่จะทำให้รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ เห็นถึงเม็ดเงินและโอกาสที่สูญหายไป สมควรพิจารณาความสามารถ/ไร้สามารถ ของหน่วยงานตนเองเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดี ใช้คอนเสิร์ตนี้เป็นบทเรียน เพื่อพัฒนาสิ่งที่ไทยขาด
หรือจะเติบโตอย่างสบายๆ ค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม เพราะประเทศเราดีที่สุด ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอยู่แล้ว หรือต้องรอกระทั่งประเทศอื่นวิ่งแซงหน้าไปจนหมด?