วาเลนไทน์ไทย VS สหรัฐ เม็ดเงินมูลค่าเศรษฐกิจ I กันต์ เอี่ยมอินทรา
วาเลนไทน์ หนึ่งในเทศกาลที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจของประเทศ หากเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคเอกชนมาก และในปีนี้วาเทนไลน์ไทย คาดมีเงินสะพัดกว่า 2,500 ล้านบาท ขณะที่สหรัฐอาจมีเงินสะพัดกว่า 5 แสนล้านบาท
หากใช้แว่นขยายหรือมองจากมุมของเศรษฐกิจแล้ว ทุกกิจกรรมหรือเทศกาลนอกจากจะมีเหตุผลทางใจ ตามคตินิยมหรือวัฒนธรรมประเพณีแล้ว เทศกาลหรืองานรื่นเริงต่างๆล้วนสามารถวัดค่า สามารถนับเม็ดเงินได้ทั้งสิ้น
แม้กระทั่งคอนเสิร์ตใหญ่ หรือการเฉลิมฉลองต่างๆ อาทิ งานเดินขบวน Pride หรืองานฉลองวิวาห์ของราชวงศ์ ทั้งหมดทั้งมวลหากมองให้ถ่องแท้แล้วนั้นถือเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจล้วนทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ
วาเลนไทน์ก็เป็นหนึ่งในเทศกาลนั้น ซึ่งปีนี้มีการประมาณเม็ดเงินจากมหาวิทยาลัยหอการค้า ว่าไทยเราน่าจะมีเงินสะพัดกว่า 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นนิดหน่อยจากปีก่อนที่ประมาณการเม็ดเงินสะพัดในไทยกว่า 2,400 ล้านบาท รายงานยังระบุว่า การใช้จ่ายกับเทศกาลนี้ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ การออกไปทานข้าวนอกบ้าน ของขวัญนั้นมีค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,125 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1,847 บาท
หากมองที่ตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และผู้บริโภคมีแนวโน้มในการใช้จ่ายในเทศกาลนี้อย่างมาก สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐ (National Retail Federation - NRF) ประมาณการเม็ดเงินที่จะสะพัดในสหรัฐในช่วงเทศกาลนี้กว่า 14,200 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยสูงถึง 513,103 ล้านบาท หรือ 241 เท่าของเม็ดเงินที่จะหมุนในไทย
โดยคนอเมริกันมีแนวโน้มเฉลี่ยใช้จ่ายในเทศกาลนี้ที่ 6,700 บาทต่อคนซึ่งสูงกว่าคนไทยประมาณ 3 เท่า และเม็ดเงินเหล่านี้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมช็อคโกแลต ลูกกวาด รวมไปถึงดอกไม้ และของขวัญต่างๆ ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความนิยมในการมอบช็อคโกแลตในช่วงเทศกาลนี้ยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการใช้เงินเป็นสัดส่วนถึง 57% ของค่าใช้จ่ายในเทศกาล
รายงานยังระบุว่า จากการประมาณการคนอเมริกันเกินครึ่งประเทศจะแนวโน้วจะเฉลิมฉลองเทศกาลวาเลนไทน์และครึ่งหนึ่งของคนที่ฉลองนั้นจะมีการตระเตรียมการ อาทิ การซื้อของ จองร้านอาหารไว้ล่วงหน้า และนี่คือเหตุว่าทำไมเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงเทศกาลนี้ของสหรัฐจึงสูงลิ่วเกินกว่าไทยเป็นร้อยๆเท่า
ยังมีตัวเลขอื่นๆที่น่าสนใจของตลาดสหรัฐ อาทิ จำนวนช็อคโกแลตที่ 58 ล้านปอนด์ ดอกกุหลาบ 250 ล้านดอก คนอเมริกัน 60 ล้านคนจะออกไปทานข้าวนอกบ้านในวันที่ 14 ก.พ. ขณะที่อีก 40 ล้านคนจะสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน
ตัดภาพกลับมาที่เมืองไทย (จากงานวิจัยของม.หอการค้าไทย)จะพบว่าคนไทยโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z (ช่วงอายุ 13-23 ปี) นั้นให้ความสำคัญกับเทศกาลวาเลนไทน์มากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะเน้นการใช้จ่ายไปที่การซื้อของขวัญ การทานข้าวหรือดูหนังนอกบ้าน และการซื้อดอกไม้ ซึ่งยอดเงินค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้นเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ
เม็ดเงินที่เพิ่มมากขึ้นถือเป็นเครื่องยืนยันการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเทศกาลนี้ หลังจากที่ปีก่อนถือเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงวาเลนไทน์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังเกิดเหตุการณ์โควิดและสงครามการค้า และการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงนี้จากปีก่อน อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี
ความเข้าใจต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและความชัดเจนละเอียดของตัวเลขไม่เพียงแต่จะช่วยบอกสถานะที่แท้จริงของเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถใช้เป็นทิศทางทั้งต่อภาครัฐและเอกชนในการทำแคมเปญประชาสัมพันธ์และการตลาดเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าองค์กร และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลดีขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อไป