ราคาน้ำมันโลก WTI ปรับตัวลง 92 เซนต์ หลังดีดตัวเหนือ 79 ดอลล์ในช่วงแรก
ราคาน้ำมันโลก ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดวันศุกร์(8มี.ค.)ปรับตัวลง 92 เซนต์ หลังดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 79 ดอลลาร์ในช่วงแรก
ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 92 เซนต์ ปิดที่ 78.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้าน เบรนท์ทะเลเหนือ ลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 88 เซนต์ ปิดที่ 82.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลก WTI ปรับตัวขึ้นในช่วงแรก ขานรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน ยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นลดลงมากกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในตลาด
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดีดตัวขานรับรายงานที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติขยายการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจไปจนถึงไตรมาส 2/2567 เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด
ทั้งนี้ โอเปกพลัส มีมติปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงไตรมาส 2/2567 โดยซาอุดีอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่รัสเซียจะปรับลดการผลิตและการส่งออกน้ำมันรวม 471,000 บาร์เรล/วัน
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ตำแหน่ง
อัตราการว่างงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 229,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.5%