จับตาอนาคต"ติ๊กต็อก"ในวันที่ "ไบเดน" เตรียมลงดาบเชือด
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (8 มี.ค.) ว่า จะลงนามในกฎหมายที่ให้เวลาบริษัทไบแนนซ์ของจีนเป็นเวลา 6 เดือนในการขายกิจการติ๊กต็อก ซึ่งเป็นแอปวิดีโอสั้นยอดนิยม
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐวางแผนโหวตร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อกในวันอังคาร(12มี.ค.)หรือวันพุธ(13 มี.ค.)หน้า หลังจากคณะกรรมการสภาอนุมัติมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันพฤหัสบดี โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการอนุมัติหากได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสส.สหรัฐ
ปธน.ไบเดนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “หากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติ ผมก็จะลงนาม”
อย่างไรก็ตาม ผลการโหวตในวุฒิสภาไม่มีความแน่นอน เนื่องจากสว.บางคนต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
ด้านนายทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งกำลังหาทางกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.ปีนี้ แสดงท่าทีคัดค้านการแบนติ๊กต็อก โดยระบุในโซเชียลมีเดียว่า “ถ้าคุณกำจัดติ๊กต็อกออกไป เฟซบุ๊กก็จะหาเงินได้มากขึ้น ซึ่งผมไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น”
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์เมตา แพลตฟอร์มส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กที่เพิกถอนเขาจากการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม หลังจากได้ทำการลบโพสต์ของเขา 2 โพสต์ในช่วงเกิดเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 และต่อมาบัญชีของเขาสามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้งในเดือนก.พ. 2566
สาเหตุที่สหรัฐพยายามแบนติ๊กต็อก เพราะตามกฎหมายของจีนบังคับให้บริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศจีน ต้องส่งข้อมูลที่มีให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนตามที่ร้องขอ ทำให้สหรัฐกังวลว่าจีนจะบังคับเอาข้อมูลคนสหรัฐกว่า 170 ล้านผู้ใช้ไปสอดแนมและครอบงำความคิดของคนอเมริกัน
ที่ผ่านมา ติ๊กต็อก พยายามแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ เช่น ย้ายข้อมูลของผู้ใช้ ติ๊กต็อกในสหรัฐที่กระจายอยู่ในศูนย์ข้อมูลทั่วโลก มาอยู่ในแผ่นดินสหรัฐ พร้อมทั้งว่าจ้างบริษัทสหรัฐอย่างออราเคิลมาดูแล เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนอเมริกัน แต่ดูจะไม่เป็นผลต่อความเชื่อมั่นมากนัก
ที่สำคัญการเข้ามาของติ๊กต็อกสามารถแย่งชิงเวลาจากผู้ใช้ในแพลตฟอร์มโซเชียลสหรัฐอย่าง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรมและยูทูบได้จนแพลตฟอร์มเหล่านั้นต้องทำฟีเจอร์วิดีโอสั้นตาม