ยักษ์น้ำมัน‘ซาอุดีอารามโค’ กำไรปี 66 ร่วง 24.7%
ซาอุดีอารามโค (Saudi Aramco) รายงานกำไรปี 2566 ลดลง 24.7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ผลจากราคาน้ำมันลดและหั่นกำลังการผลิต
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน บริษัทน้ำมันรายใหญ่จากซาอุดีอาระเบียแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ซาอุดีฯว่า ในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ จาก 1.61 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 ผลจากราคาน้ำมันดิบลดลง ปริมาณการขายต่ำลง กำไรจากการกลั่นและเคมีภัณฑ์ลดลง
ก่อนหน้านี้ตอนที่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ.2565 กระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงกว่า 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อารามโครายงานกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนั้น ส่งผลซาอุดีอาระเบียเกินดุลงบประมาณครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี
นายอามิน เอช นัสเซอร์ ซีอีโออารามโคแถลง “ในปี2566 เราบรรลุรายได้สุทธิสูงสุดเป็นอันดับสอง ความยืดหยุ่นและปรับตัวของเราทำให้มีกระแสเงินสดดี ความสามารถในการทำกำไรสูง แม้เจอปัญหาทางเศรษฐกิจ ในปี 2566 เรายังจ่ายปันผลรวมให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 30% เมื่อเทียบเป็นรายปี”
ทั้งนี้ ในปี 2566 ราคาน้ำมันลดลงมาอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรเมื่อเทียบเป็นรายปีลดลง 23% ในไตรมาสสาม, 38% ในไตรมาสสอง และ 19.5% ในไตรมาสแรก
- ลดกำลังการผลิตต่อ
ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา จัดวาอินเวสต์เมนต์ ที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงริยาดเผยแพร่รายงาน คาดว่าปี 2567 ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 88 ดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส และอาจทะลุ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ภายในสิ้นปีนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ซาอุดีฯ ต้องการให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพื่อรักษาสมดุลงบประมาณ แต่อาจไม่เป็นไปตามนั้นหากลดกำลังการผลิตและรัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น
ในวันอาทิตย์สัปดาห์ก่อน (3 มี.ค.) ผู้ส่งออกน้ำมันดิบใหญ่สุดของโลกรายนี้กล่าวว่า กำลังขยายการลดอุปทานน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงเดือน มิ.ย.
รัฐบาลริยาดประกาศสมัครใจลดกำลังการผลิตครั้งแรกหลังการประชุมโอเปคพลัสในเดือน มิ.ย.2566 ตามผลการประชุมในเดือน เม.ย.ปีเดียวกันที่หลายประเทศโอเปคพลัสตัดสินใจลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจลงวันละกว่าหนึ่งล้านบาร์เรล ความเคลื่อนไหวที่ไม่มีใครคาดคิดนี้ช่วยหนุนราคาได้เพียงช่วงสั้นๆ แต่ไม่อาจฟื้นตัวได้ยาวนาน
ปัจจุบันซาอุดีฯ ผลิตน้ำมันวันละราว 9 ล้านบาร์เรล ต่ำมากเมื่อเทียบกับศักยภาพวันละ 12 ล้านบาร์เรล
ซาอุดีอาระเบียภายใต้มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัย พยายามเปิดเศรษฐกิจและสร้างความหลากหลายนอกเหนือจากพึ่งพาน้ำมัน ทั้งยังทุ่มทำโครงการใหญ่ อาทิ นีออม (NEOM) เมืองแห่งอนาคต อารามโคถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับวิสัยทัศน์ 2030แผนปฏิรูปเศรษฐกิจสำคัญของพระองค์
เมื่อวันพฤหัสบดี (7 มี.ค.) ซาอุดีอาระเบียแถลงว่า ได้โอนหุ้นในอารามโคเพิ่มเติมอีก 8% ให้กับหลายบริษัทของกองทุนการลงทุนแห่งชาติ (พีไอเอฟ) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เท่ากับว่าไอพีเอฟและบริษัทลูกถือหุ้นอารามโค 16% มูลค่าราว 1.64 แสนล้านดอลลาร์ตามมูลค่าตลาดในปัจจุบัน