สหรัฐเล็งลงทุนฟิลิปปินส์ หนุนเพิ่มโรงงานชิป 2 เท่า แก้ปัญหาอุปทานกระจุกตัว
สหรัฐฯ กังวลเรื่องห่วงโซ่อุปทานชิป และต้องการควบคุมเทคโนโลยีของจีน โดยต้องการเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน และลดการพึ่งพาไต้หวันและเกาหลีใต้ บริษัทในสหรัฐฯ เตรียมลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในฟิลิปปินส์
KEY
POINTS
- สหรัฐฯ กังวลเรื่องห่วงโซ่อุปทานชิป และต้องการควบคุมเทคโนโลยีของจีน
- สหรัฐฯ ต้องการเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน และลดการพึ่งพาไต้หวันและเกาหลีใต้
- บริษัทในสหรัฐฯ เตรียมลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในฟิลิปปินส์
- ตอนนี้ฟิลิปปินส์มีโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 13 แห่ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึง กีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กังวลว่าห่วงโซ่อุปทานชิปโลกที่ตอนนี้พึ่งพาประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ จึงต้องการช่วยฟิลิปปินส์เพิ่มโรงงานเซมิคอนดักเตอร์เป็นสองเท่า เพื่อเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญในฟิลิปปินส์ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน และการลดการพึ่งพาไต้หวันและเกาหลีใต้
นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐเตรียมประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางการค้าของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งนำโดยไรมอนโด จึงต้องการกระจายความเสี่ยงโดยสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ลงทุนในโรงงานผลิตชิป
ด้านแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองก็พยายามสนับสนุนประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ลงทุนเกี่ยวกับการผลิตชิปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นในไต้หวันและเกาหลีใต้
ไรมอนโดกล่าวว่า "บริษัทในสหรัฐฯ ตระหนักดีว่าห่วงโซ่อุปทานชิปของเรากระจุกตัวมากเกินไปในบางประเทศในโลก ทำไมสหรัฐจึงต้องซื้อชิปจำนวนมากจากหนึ่งหรือสองประเทศ? นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องกระจายความเสี่ยง สหรัฐฯ จะ 'ทำทุกอย่างที่จำเป็น' เพื่อควบคุมเทคโนโลยีของจีน"
ในตอนนี้ฟิลิปปินส์มีโรงงานประกอบ ทดสอบ และบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ 13 แห่ง ซึ่งสหรัฐเตรียมสนับสนุนเพื่อสร้างโรงงานชิปเพิ่มเป็นสองเท่า
อย่างไรก็ตามไรมอนโดไม่ได้ระบุเจาะจงว่าสหรัฐฯ จะทำอน่างไรให้เรื่องราวเหล่านั้นบรรลุผล นอกเหนือจากการประกาศว่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆในสหรัฐมีจุดหมายปลายทางที่ต้องการลงทุนในฟิลิปปินส์
พร้อมเสริมว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ ซึ่งธุรกิจต่างๆ กำลังมองหาโอกาสในระดับโลกเพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานของตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งฟิลิปปินส์อยู่ในรายชื่ออันดับต้นๆ
อ้างอิง Bloomberg