ตรวจเส้นทาง ‘แบนติ๊กต็อก’ เป็นไปได้แค่ไหน
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติเห็นชอบกฎหมายกำหนดให้บริษัทแม่ของติ๊กต็อกต้องขายกิจการ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูกห้ามให้บริการในสหรัฐ หรือเรียกง่ายๆ ว่ากฎหมายแบนติ๊กต็อก จะเป็นไปได้จริงแค่ไหน กรุงเทพธุรกิจพาไปตรวจสอบ
- รู้จักร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อก
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงาน ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า กฎหมายปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันควบคุมโดยศัตรูต่างชาติ เสนอโดยคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ก่อน ผ่านสภาเมื่อวันพุธ (13 มี.ค.67) ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 352 ต่อ 65 เสียง
ในบรรดาชาวอเมริกันผู้ใช้ติ๊กต็อก 170 ล้านคน กังวลว่าการห้ามใช้ติ๊กต็อกจะเสียหายมาก เพราะนี่เป็นยิ่งกว่าแพลตฟอร์ม คนหนุ่มสาวสามารถติดตามข่าวสารล่าสุด เชื่อมต่อกับเพื่อนฝูง หาความบันเทิง หาข้อมูล กระทั่งหารายได้เลี้ยงตัวผู้ใช้บางคนถึงกับโทรศัพท์ไปหา สส. ขอให้โหวต “โน” หลังแอปเตือนผู้ใช้ว่า อาจถูกแบนจริงๆ แล้วยัง
มีอีกหลายแพลตฟอร์มให้ติ๊กต็อกเกอร์ได้เลือกใช้ บริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่แทบทุกรายล้วนพัฒนาฟีเจอร์คล้ายคลึงติ๊กต็อก ทั้งวิดีโอสั้นและอัลกอริธึมแนะนำอันทรงพลังให้ผู้ใช้ไถหน้าจอเพลินๆ แต่การดึงความภักดีของผู้ใช้จากแพลตฟอร์มหนึ่งไปสู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่งพูดง่ายกว่าทำเสมอ
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ติ๊กต็อกยังไม่หายไปจากโทรศัพท์ของชาวอเมริกันในเร็วๆ นี้ ร่างกฎหมายแบนต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกมากมายกว่าจะได้ลงนามเป็นกฎหมาย และถ้าผ่านมาได้จริงอาจถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล และถ้าไบต์แดนซ์ยินดีขายกิจการจริง ยังมีคำถามว่า ผู้ซื้อชาวอเมริกันจะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ได้หรือไม่
- วัดโอกาสร่างฯ กลายเป็นกฎหมาย
ตอนนี้ร่างผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วเข้าสู่วุฒิสภาที่อาจเจอความไม่แน่นอนมากขึ้น อุปสรรคใหญ่อันหนึ่งคือ ร่างนี้ไม่ถูกใจผู้ใช้ติ๊กต็อก หลายคนเป็นโหวตเตอร์หนุ่มสาวที่อาจพลิกผลการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่ง สว.ต้องตระหนักอย่างมาก
ก่อน สส.ลงมติกันในวันพุธ ผู้ใช้หลายคนโพสต์คลิปเรียกร้อง สส.ห้ามโหวตผ่าน ใครโหวตผ่านพวกเขาจะเลือก สส.คนอื่น หลัง สส.ลงมติโฆษกติ๊กต็อกแถลงเรียกร้องให้วุฒิสภา “คำนึงถึงข้อเท็จจริง รับฟังประชาชนในเขตเลือกตั้ง และตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดเล็ก 7 ล้านราย และชาวอเมริกันอีก 170 ล้านคน ที่ใช้บริการของเรา”
หากร่างฉบับนี้ผ่านวุฒิสภามาได้ และได้รับการลงนามเป็นกฎหมาย ติ๊กต็อกส่งสัญญาณว่าจะฟ้องร้อง อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกฎหมายระดับรัฐที่มอนแทนาที่ต้องระงับไปหลังติ๊กต็อกฟ้องร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ
- กฎหมายฉบับนี้ทำงานอย่างไร
หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ติ๊กต็อกมีเวลาราวห้าเดือนแยกตัวออกจากไบต์แดนซ์ ไม่เช่นนั้นแล้วแอปสโตร์ในสหรัฐจะไม่มีแอปติ๊กต็อกให้ดาวน์โหลด แอปสโตร์ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับคิดจากจำนวนผู้ใช้แอปที่ถูกแบน คนละ 5,000 ดอลลาร์ ในกรณีของติ๊กต็อก แอปเปิ้ลและกูเกิลอาจถูกปรับรายละ 8.5 แสนล้านดอลลาร์
ยังไม่แน่ชัดว่าไบต์แดนซ์จะยินยอมขายหรือแตกกิจการติ๊กต็อกหรือไม่ ถ้าจะขายบริษัทก็ต้องดิ้นรนหาบริษัทอเมริกันที่ยินดีจ่ายเงิน แม้แอปติ๊กต็อกได้รับความนิยมมาก็ตาม
แดน อีฟส์ นักวิเคราะห์จากเวดบุช ประเมินมูลค่าติ๊กต็อกไว้ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ และบริษัทเทครายใหญ่ของสหรัฐโดนตรวจสอบเข้มงวดไปเรียบร้อยแล้ว นั่นอาจทำให้พวกเขาไม่อยากซื้อกิจการใหญ่แบบนี้อีก และแม้กฎหมายห้ามแอปสโตร์สหรัฐไม่ให้บริการโหลดติ๊กต็อก การย้ายแอปที่โหลดไปแล้วในโทรศัพท์นั้นยากยิ่งกว่า ยิ่งไปกว่านั้นเครือข่าย VPN อาจทำให้ผู้ใช้ในสหรัฐเล่นติ๊กต็อกได้ โดยทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น
- ทางเลือกแทนติ๊กต็อก
ผู้ใช้ไม่มีวันอับจนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เปิดให้โพสต์คลิปวิดีโอสั้น ทั้งยูทูบ สแนปแช็ต อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และ X ต่างก็มีฟีเจอร์วิดีโอคล้ายๆ ติ๊กต็อกแม้ผู้ใช้หลายคนกล่าวว่า อัลกอริธึมแนะนำคลิปบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่เร้าใจเท่าติ๊กต็อกก็ตาม
ผู้ใช้หลายคนกล่าวด้วยว่า การย้ายผู้ชมจำนวนมหาศาลจากติ๊กต็อกไปสู่แพลตฟอร์มอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต่างแพลตฟอร์มก็มีวิธีทำเงินแตกต่างกัน จึงเป็นความท้าทายสำหรับครีเอเตอร์หากจะสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ ถ้าพวกเขาจำเป็นต้องย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น
กระนั้น ดูเหมือนติ๊กต็อกเกอร์บางรายกำลังเตรียมตัวรับมือสถานการณ์เลวร้าย บางคนโพสต์ว่าเตรียมย้ายตามครีเอเตอร์คนโปรดไปแพลตฟอร์มอื่น บางคนโพสต์คลิปร่ำลาหากแอปนี้ถูกแบน
จีนพร้อมใช้ทุกมาตรการปกป้องผลประโยชน์
ล่าสุด นายเหอ ย่าตง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน แถลงเมื่อช่วงบ่าย
“สหรัฐควรเคารพหลักการของเศรษฐกิจระบบตลาด และการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเสียที หยุดกดขี่บริษัทต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรมได้แล้วรัฐบาลวอชิงตันควรสร้างบรรยากาศเปิดกว้าง เป็นธรรม ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน และดำเนินธุรกิจในสหรัฐ" โฆษกระบุพร้อมย้ำ
“จีนจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นทุกอย่างปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์อันชอบธรรม”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์