สหภาพยุโรป (European Union) : ประวัติศาสตร์ พัฒนาการ และความสำเร็จ

สหภาพยุโรป (European Union) : ประวัติศาสตร์ พัฒนาการ และความสำเร็จ

สหภาพยุโรป (European Union) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญและน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมระหว่างประเทศและทางด้านกฎหมาย

ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสหภาพยุโรปเป็น 1 ใน 3 ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก เป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP ใหญ่ที่สุดและมีกำลังซื้อมากที่สุด

ด้านสังคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดสันติภาพในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 2012

ทางด้านกฎหมาย การรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีลักษณะเป็น องค์กรเหนือรัฐ (Supranational Organization) ถือเป็นองค์กรเหนือรัฐที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุด 

จากความเป็น "องค์กรเหนือรัฐ" ดังกล่าว ทำให้สหภาพยุโรปมีอำนาจในการออกกฎหมายผ่านสถาบันหลักของตนเอง มีอำนาจการบังคับให้เป็นกฎหมายผ่านองค์กรตุลาการของตนเอง รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายสหภาพยุโรปยังมีความก้าวหน้า 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนากฎหมายของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย

ทั้งหมดทำให้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการจัดตั้งองค์กรอันเชื่อมโยงกับการพัฒนาเป็นสหภาพยุโรป โครงสร้างองค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการแยกต่างหากจากชาติสมาชิก ตลอดจนภารกิจที่สหภาพยุโรปมุ่งมั่นในการผลักดันมีความน่าสนใจและเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำความรู้จัก เรียนรู้และข้าใจสหภาพยุโรปมากขึ้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939-1945) ทวีปยุโรปได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเป็นสมรภูมิของสงคราม ยุโรปประสบความพินาศย่อยยับอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ผู้นำประเทศต่างๆในยุโรปตระหนักร่วมกันว่าอนาคตของยุโรปจะดำรงต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีสันติภาพที่ถาวรในดินแดนของทวีป  จึงมีแนวความคิดในการรวมยุโรปเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะไม่ต้องการให้เกิดสงครามอีก (NO MORE WAR)

 โดยสันติภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หากประเทศผู้นำความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นคือฝรั่งเศสและเยอรมนีกลับมาร่วมมือกันได้อีกครั้งทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง 

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1950 นายโรแบร์ ชูมาน (Robert Schumann) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง             การต่างประเทศของฝรั่งเศสจึงได้เสนอ “แถลงการณ์ชูมาน” (Schumann Declaration) ออกสู่ประชาคมยุโรป แถลงการณ์ดังกล่าวมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมืองในการควบคุมปัจจัยการผลิต    ที่อาจนำไปสู่การฟื้นตัวของสงคราม

นั่นคือการควบคุมถ่านหินและเหล็กกล้า โดยแถลงการณ์ซูมานเสนอให้มีการนำถ่านหินและเหล็กกล้ามาร่วมบริหารโดยองค์การเหนือรัฐ  (Supranational Organization)

กล่าวคือ รัฐที่เข้าร่วมในองค์การเหนือรัฐนี้ จะต้องยินยอมที่จะมอบอำนาจอธิปไตยในส่วนของการบริหารจัดการถ่านหินและเหล็กกล้าให้องค์กรดังกล่าว ทำให้องค์กรนี้ที่มีอำนาจอิสระและสามารถใช้อำนาจเหนือรัฐสมาชิก          ทำหน้าที่บริหารงานและตัดสินใจที่มีผลผูกพันรัฐสมาชิกให้ต้องปฏิบัติตามภายใต้ขอบอำนาจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ร่วมกัน 

เมื่อเกิดข้อพิพาทก็จะมาทำความตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทร่วมกันโดยองค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการภายใต้องค์การเหนือรัฐดังกล่าว การรวมตัวเป็นองค์กรเหนือรัฐจึงแตกต่างจากการรวมตัวในลักษณะขององค์การระหว่างประเทศโดยทั่วไปซึ่งจะมีลักษณะเป็นองค์การร่วมระหว่างรัฐบาล (The Intergovernmental Organization) 

จากจุดตั้งต้นในการรวมกันของประเทศสมาชิกตั้งต้น 6 ประเทศ โดยเริ่มจากการก่อตั้งความร่วมมือในรูปแบบขององค์การเหนือรัฐ มีการวางโครงสร้างองค์กรหลัก วางระบบกฎหมาย อย่างเป็นลำดับและเป็นระบบ ทำให้กระบวนการถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประเทศสมาชิกไปสู่การเป็นองค์การเหนือรัฐของสหภาพยุโรปมีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและประสบผลสำเร็จ

หลังจากความสำเร็จในการก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า (European Coal and Steel Community- ECSC) ในปี ค.ศ. 1951 รัฐสมาชิกได้ขยายการรวมกลุ่มครอบคลุมภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ            

ในปี ค.ศ. 1957 มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community-EEC) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community-Euratom) ขึ้นภายใต้สนธิสัญญาโรม และสามารถจัดตั้งตลาดร่วมยุโรป (Common Market) ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกสามารถทำได้โดยเสรี

ต่อมามีการรวมองค์กรบริหารของทั้งสามประชาคมเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการ พัฒนาไปเป็นประชาคมยุโรป (European Community-EC) ในปี ค.ศ. 1967

ในปี ค.ศ. 1990 หลังสงครามเย็น ฝรั่งเศสและเยอรมนีเสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพการเมืองของยุโรป เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน นับเป็นการขยายความร่วมมือและมอบอำนาจให้องค์กรเหนือรัฐดังกล่าวสามารถดำเนินนโยบายอื่นๆนอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ

นำไปสู่       การลงนามในสนธิสัญญามาสทริชท์ (Treaty of Maastricht) เพื่อจัดตั้งสหภาพยุโรป (European Union – EU) ขึ้นในปี ค.ศ.1992

ความร่วมมือของสหภาพยุโรปได้พัฒนาไปถึงการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินโดยมีการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน เพื่อยกเลิกอุปสรรคทางการค้าและมุ่งสู่การมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก 

โดยนโยบายทางการเงินร่วมกันนี้ จะอยู่ภายการควบคุมของธนาคารกลางยุโรป อันเป็นองค์กรภายในสหภาพยุโรป ในทางการเมืองสหภาพยุโรปได้พัฒนาไปถึงการสถาปนาสถานะพลเมืองยุโรป (European Citizenship) มอบสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายสหภาพยุโรปให้แก่ชาติสมาชิก

ปัจจุบันสหภาพยุโรปซึ่งมีรัฐสมาชิก 27 ประเทศ ถือว่าเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก

บนพื้นฐานของการเป็นองค์กรเหนือชาติทำให้พัฒนาการและบูรณาการในหลายๆด้านเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ช่วยพลิกฟื้นภูมิภาคจากการล่มสลายจากผลของสงครามให้ยุโรปกลายเป็นภูมิภาคที่เป็นผู้นำทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความสำเร็จของรูปแบบการบูรณาการของสหภาพยุโรป ที่สอดคล้องกับประสบการณ์และปัจจัยในภูมิภาคของตน เป็นตัวอย่างและต้นแบบที่มีคุณค่าแก่การศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อความสำเร็จในการรวมกลุ่มในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป