‘เยอรมนี’ เสาหลัก EU เสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจถดถอย!

‘เยอรมนี’ เสาหลัก EU เสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจถดถอย!

เปิดความเสี่ยง “เศรษฐกิจเยอรมนี” ซึ่งเป็นศูนย์กลางยุโรป ส่อเผชิญ “เศรษฐกิจถดถอย”ตามรอยญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรก่อนหน้า

KEY

POINTS

  • อังเดร คาซิมีร์ (André Kasimir) เจ้าของบริษัทด้านการก่อสร้าง Kasimir Bauunternehmung กล่าวว่า เยอรมนีกำลังเข้าสู่เส้นทาง “คนป่วยแห่งยุโรป”
  • “เยอรมนี” เป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทยประจำปี 2566 ด้วยมูลค่าการค้า 369,460 ล้านบาท
  • รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของเยอรมนีได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2567 จากเดิมที่เติบโต 1.3% เป็น 0.2% แทน และกล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก

หลังจาก “ญี่ปุ่น” กับ “สหราชอาณาจักร” เข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยแล้ว “เยอรมนี” เป็นอีกประเทศที่สุ่มเสี่ยงเผชิญ “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ” เช่นกัน เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั้งปี 2566 ติดลบ 0.3% จากปีก่อนหน้า

ที่สำคัญ เยอรมนีถือเป็น “เสาหลัก” เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หากประเทศแห่งเบียร์นี้เผชิญภาวะถดถอย ก็สะเทือนทั่วทั้งยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเป็นคู่ค้า “อันดับที่ 15 ของไทย” ประจำปี 2566 ด้วยมูลค่าการค้า 369,460 ล้านบาทตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์  

ธนาคารกลางเยอรมันเตือนว่า ในไตรมาส 1 ของปีนี้ เศรษฐกิจเยอรมนี มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค อันเกิดจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอ ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และผลพวงจากดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง

ถ้าดูเงินเฟ้อปีต่อปีของเยอรมนี จะพบว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2566 เคยขึ้นแตะระดับ 8.7% จนธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นเรื่อย ๆ สู่ระดับ 4.5% แม้ว่าจะทำให้เงินเฟ้อประเทศปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.9% ในเดือน ม.ค. 2567 แล้ว แต่สิ่งที่แลกมาคือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่อาจถึงขั้นถดถอย 

ไม่เพียงเท่านั้น โรเบิร์ต ฮาเบ็ค (Robert Habeck) รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของเยอรมนีได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2567 จากเดิมที่เติบโต 1.3% เป็น 0.2% แทน และกล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก

ฮาเบ็คกล่าวต่อว่า รายได้เยอรมนีพึ่งพาการส่งออกไม่น้อย จึงชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเผชิญต้นทุนพลังงานสูงขึ้น จากการลดพึ่งพาพลังงานราคาถูกของรัสเซีย และหันมาใช้พลังงานจากแหล่งอื่นแทน

ขณะที่ อังเดร คาซิมีร์ (André Kasimir) เจ้าของบริษัทด้านการก่อสร้าง Kasimir Bauunternehmung กล่าวว่า เยอรมนีกำลังเข้าสู่เส้นทาง “คนป่วยแห่งยุโรป”

กระตุ้นเศรษฐกิจยาก เพราะการเมืองเข้าสู่ “ทางตัน”

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว รัฐบาลเยอรมนีพยายามผลักดันงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยฮาเบ็คร่างกฎหมายลดความยุ่งยากทางโครงสร้างราชการ พร้อมมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจด้วยมูลค่ารวมหลายพันล้านยูโร

แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ของเยอรมนีแล้ว แต่ไม่ผ่านสภาสูง อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งในฝั่งรัฐบาลผสมด้วย เมื่อฮาเบ็คต้องการปลดล็อกกฎหมายเพดานหนี้ เพื่อเพิ่มวงเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่รัฐมนตรีฝ่ายการเงินซึ่งเป็นคนละพรรคกังวลประเด็นภาระหนี้ และมองว่าประเทศควรใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจแทน การชักเย่อเช่นนี้ ทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

นี่ยังไม่นับรวมเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันตัดสินว่า การจัดสรรเงิน 60,000 ล้านยูโรของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและอุดหนุนโครงการพลังงานหมุนเวียน เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินคล้ายช่วงโควิด-19

กรณีเยอรมนี ส่อกระทบไทยอย่างไร

เนื่องจาก “เยอรมนี” เป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทยประจำปี 2566 ด้วยมูลค่าการค้า 369,460 ล้านบาท ดังนั้น ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจย่อมทำให้ยอดส่งออกไทยไปเยอรมนีชะลอตัวลงด้วย โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไป “เยอรมนี” มากที่สุด 5 อันดับแรก ประจำปี 2566 ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้

1. แผงวงจรไฟฟ้า 21,888.01 ล้านบาท

2. อัญมณีและเครื่องประดับ 17,867.51 ล้านบาท

3. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 15,418.37 ล้านบาท

4. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6,982.11 ล้านบาท

5. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 6,823.04 ล้านบาท

เรื่องราวความขัดแย้งในการเมืองเยอรมนี รวมถึงเศรษฐกิจที่หดตัวลง ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนรวมถึงนักธุรกิจที่ค้าขายกับเยอรมนีและยุโรป ควรติดตามอย่างใกล้ชิด และหากประเทศศูนย์กลางการค้ายุโรปนี้เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น ก็น่าติดตามต่อว่าจะก่อให้เกิด “โดมิโนวิกฤติเศรษฐกิจไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีกหรือไม่

อ้างอิง: profitdestatisbbcreuterseuronews