'อังกฤษ-ญี่ปุ่น' เศรษฐกิจถดถอย ส่อกระทบไทยอย่างไร?
เปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจถดถอยของ “ญี่ปุ่น” กับ “สหราชอาณาจักร” ว่ามีต้นเหตุที่แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงภาวะถดถอยของ 2 ประเทศนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยใดบ้าง
Key Points
- ญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐ) ด้วยมูลค่าการค้า 1,937,090 ล้านบาท ส่วนสหราชอาณาจักร เป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 233,356 ล้านบาท
- ในปี 2566 สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมากที่สุด คือ “รถยนต์” ด้วยมูลค่า 1.51 ล้านล้านเยน
- เงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ระดับ 4% ในปัจจุบัน ห่างจากเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% นี่จึงเป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25% จนกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หลังผ่านพ้นปีใหม่ 2567 ไปไม่นาน สัญญาณ “เศรษฐกิจถดถอย” ก็เข้ามาเยือน เมื่อ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “สหราชอาณาจักร” ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น อีกทั้งสองประเทศยังอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ด้วย เรียกได้ว่า เปิดนำก่อนหน้าสหรัฐที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้
สำคัญกว่านั้น คือ “ญี่ปุ่น” กับ “สหราชอาณาจักร” ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐ) ด้วยมูลค่าการค้า 1,937,090 ล้านบาท ส่วนสหราชอาณาจักร เป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 233,356 ล้านบาท ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ประจำปี 2566
ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศย่ำแย่ อุตสาหกรรมไทยที่ค้าขายกับทั้งสองประเทศนี้ในสัดส่วนที่สูง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ
ภาวะเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศนี้ ถูกเรียกว่า “เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค” (Technical Recession) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ดังนี้
ญี่ปุ่น ไตรมาส 4/2566 GDP ติดลบ 0.4% และ ไตรมาส 3/2566 GDP ติดลบ 3.3% จนเสียตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนีไปแทน
- GDP ญี่ปุ่นพลิกติดลบติดต่อ 2 ไตรมาสติดเป็นครั้งแรก (เครดิต: tradingeconomics) -
ส่วนสหราชอาณาจักร ไตรมาส 4/2566 GDP ติดลบ 0.3% และไตรมาส 3/2566 GDP ติดลบ 0.1%
- GDP ของสหราชอาณาจักรที่ผ่านมา (เครดิต: Office for National Statistics) -
- ทำไมทั้งสองประเทศถึงเผชิญเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับ “ญี่ปุ่น” ข้อมูลจาก The Observatory of Economic Complexity (OEC) ซึ่งวิจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ระบุไว้ว่า ในปี 2566 สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมากที่สุด คือ “รถยนต์” ด้วยมูลค่า 1.51 ล้านล้านเยน และประเทศคู่ค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปมากที่สุด คือ สหรัฐ ด้วยมูลค่า 1.81 ล้านล้านเยน และจีน ด้วยมูลค่า 1.6 ล้านล้านเยน
ด้วยเหตุนี้ เมื่ออุตสาหกรรมรถญี่ปุ่นชะลอตัวลง และถูกท้าทายจากรถยนต์จีนที่ขึ้นมาชิงส่วนแบ่งตลาด รวมถึงเศรษฐกิจมังกร คู่ค้าใหญ่ของญี่ปุ่นก็เติบโตน้อยกว่าคาด และกำลังเผชิญวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ จึงกลายเป็นปัจจัยกดดัน GDP ของแดนปลาดิบนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังเผชิญปัญหาทางโครงสร้างประชากร โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) สูงถึง 29.1% ของประชากร และราว 1 ใน 10 คน มีอายุ 80 ขึ้นไป ซึ่งเหล่าผู้สูงวัยมีแนวโน้มบริโภคสินค้า ท่องเที่ยว และใช้บริการต่าง ๆ น้อยกว่าวัยหนุ่มสาว
โทชิฮิโร นากาฮามะ (Toshihiro Nagahama) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัย Dai-ichi Life คาดการณ์ว่า ถ้ารวมปัจจัยพิเศษอย่าง เหตุการณ์แผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะ ปี 2567 และการชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจประเทศอาจหดตัวอีก กลายเป็น GDP ติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส
ขณะที่ใน “สหราชอาณาจักร” สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ระบุว่า เหตุผลที่เศรษฐกิจช่วงปลายปีที่แล้วหดตัว เป็นเพราะการบริโภคของผู้คนน้อยลง และภาคธุรกิจการแพทย์ได้รับผลกระทบจากการที่เหล่าแพทย์จบใหม่ประท้วงหยุดงาน โดยต้องการค่าจ้างเพิ่มอีก 35% และเสริมอีกว่า ค่าแรงสำหรับแพทย์จบใหม่ที่ 15 ปอนด์/ชั่วโมง ถือว่าไม่ยุติธรรม
การประท้วงนี้เกิดขึ้นหลายครั้งและยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2565 อีกทั้งที่ผ่านมา ได้ทำให้การนัดหมายแพทย์ 1.2 ล้านรายการถูกยกเลิก
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจาก สำนักงานสถิติฯ (ไม่ประสงค์เอ่ยนาม) กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า ไม่น่าประหลาดใจที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะเติบโตต่ำหรือไม่ได้เติบโต เพราะช่วง 3 เดือนของปีที่แล้ว ภาคอุตสาหกรรมหลักอย่างการก่อสร้างและการผลิตได้ชะลอตัวลง
อีกปัจจัยกดดันที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ ที่ผ่านมาเงินเฟ้อของประเทศยังคงแข็ง อยู่ที่ระดับ 4% ในปัจจุบัน ห่างจากเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% และถ้าดูที่เงินเฟ้อพื้นฐานปัจจุบัน อยู่ที่ 5.1% ซึ่งนับว่าสูงมาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25% นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว และผลข้างเคียงของนโยบายนี้ได้กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เจเรมี ฮันท์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ กล่าวว่า “เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง เพื่อดึงเงินเฟ้อลง การที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ”
- ญี่ปุ่น-สหราชอาณาจักร เศรษฐกิจถดถอย ส่อกระทบไทยอย่างไร
โลกใบนี้ถูกเชื่อมโยงด้วยโลกาภิวัตน์ หากเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งแย่ ประเทศอื่น ๆ ที่มีการค้าด้วยก็เลี่ยงไม่ได้จากผลกระทบนี้ ยกเว้นประเทศที่เป็นหมู่เกาะและไม่ค้าขายกับประเทศใด ฉันใดก็ฉันนั้น “ญี่ปุ่น” กับ “สหราชอาณาจักร” และ “ไทย” ก็เช่นกัน
เมื่อทั้งสองประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย อุตสาหกรรมไทยที่ค้าขายกับสองประเทศนี้มากที่สุด ก็อาจมีรายได้และกำไรหดตัวลง
สินค้าที่ไทยส่งออกไป “ญี่ปุ่น” มากที่สุด 5 อันดับแรก ประจำปี 2566 ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้
1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 70,869.56 ล้านบาท
2. ไก่แปรรูป 47,295.12 ล้านบาท
3. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 36,570.85 ล้านบาท
4. แผงวงจรไฟฟ้า 35,731.59 ล้านบาท
5. เคมีภัณฑ์ 34,590.51 ล้านบาท
สินค้าที่ไทยส่งออกไป “สหราชอาณาจักร” มากที่สุด 5 อันดับแรก ประจำปี 2566 ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้
1. ไก่แปรรูป 24,027.17 ล้านบาท
2. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 14,765.53 ล้านบาท
3. อัญมณีและเครื่องประดับ 14,431.78 ล้านบาท
4. รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 10,264.47 ล้านบาท
5. อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ 8,037.88 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อมูลแบบคร่าว ๆ ซึ่งผู้ประกอบการและนักลงทุนอาจจำเป็นต้องอ่านเพิ่มเติมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) ของบริษัทว่ามี “สัดส่วนรายได้” จากทั้งสองประเทศนี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ามีสัดส่วนที่สูง ก็อาจกระทบผลประกอบการโดยรวมของบริษัทได้
อ้างอิง: bbc, bbc(2), bbc(3), cnn, oec, news, japan