เป็นไปได้? ‘ฮ่องกง’ ซ้ำรอย ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ต้นตอจากปัจจัยลบ ‘เศรษฐกิจจีน’
เผยความเสี่ยงด้านสุขภาพของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจก่อให้เกิด “วิกฤติการเงินในฮ่องกง” คล้าย “วิกฤติต้มยำกุ้งไทย” เมื่อครั้งปี 2540 โอกาสเกิดวิกฤติเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและฮ่องกงอยู่ที่จุดไหนในเวลานี้
Key Points
- นักลงทุนในจีนกำลังหาสินทรัพย์นอกตลาดที่มีมูลค่าส่วนลด 30-60% ซึ่งต่างจากในสหรัฐและยุโรปที่มองหาส่วนลดราว 15% สะท้อนว่านักลงทุนมองสินทรัพย์ในจีนที่สถานะเสี่ยงกว่า
- ตลาดหุ้นฮ่องกง หากนับที่จุดสูงสุดของดัชนีหลังปี 2562 ที่พบการระบาดโควิด-19 ครั้งแรกในจีน จะพบว่า จุดสูงสุดของดัชนีอยู่ในปี 2564 ที่ราว 31,180 และในปัจจุบัน ดัชนีอยู่ที่ 15,703.45 หรือนับเป็นการร่วงลงกว่า 49.6%
- ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งไทย หลังธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจาก “คงที่” เป็นอัตรา “ลอยตัว” ส่งผลให้ดัชนี SET ไทย จาก 696.22 จุด ลงแรงมาถึง 204.59 จุด ซึ่งนับเป็นการร่วงลงถึงราว 70.6%
ท่ามกลาง “ตลาดหุ้นฮ่องกง” ที่ถูกแรงขายถล่มลงมา จนทำสถิติ “ตลาดหุ้นแย่ที่สุดในโลก” อีกทั้งหุ้น Evergrande (เอเวอร์แกรนด์) ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีนยังถูกระงับซื้อขายในฮ่องกงด้วย หลังศาลมีคำสั่งปิดกิจการ นักลงทุนหลายคนจึงมองว่า เศรษฐกิจฮ่องกงจะซ้ำรอย “วิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง” ของไทยเมื่อปี 2540 หรือไม่ เพราะหลายครั้งก่อนเกิดวิกฤติ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มวิ่งนำหน้าข่าวก่อน แล้วรายงานข่าววิกฤติค่อยตามมาทีหลัง
ที่น่าแปลกคือ ถึงแม้ว่าบรรดานักลงทุนรู้ว่าหุ้นจีนมีมูลค่าถูกมากเมื่อเทียบกับผลประกอบการ แต่ทำไมจนถึงขณะนี้กลับไม่ค่อยมีแรงซื้อเข้ามา กลับมีแต่แรงขายออกไป
หนึ่งในผู้ที่มองว่าตลาดฮ่องกงอาจซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งของไทย คือ ซูหลี่ เหริน (Shuli Ren) คอลัมนิสต์ของสำนักข่าว Bloomberg, อดีตวาณิชธนากร และมีคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพการเงินและการลงทุนระดับสากล (CFA) เธอมองว่า “ฮ่องกง” อาจกลายเป็นศูนย์กลางวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ โดยมีต้นตอมาจาก “จีน”
- โรครุมเร้าในจีน เสี่ยงซ้ำรอยวิกฤติ ปี 40 ในฮ่องกง?
สำหรับฮ่องกงนั้น ถือเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโลกการเงินระหว่าง “จีนแผ่นดินใหญ่” กับ “ต่างประเทศ” ซึ่งเหรินระบุความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่อาจก่อให้เกิดวิกฤติในฮ่องกงไว้ดังนี้
1. เศรษฐกิจจีนอยู่ในสภาวะซบเซา และสินทรัพย์ต่าง ๆ ถูกลดมูลค่าลงเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดย BlackRock (แบล็กร็อก) บริษัทจัดการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งบริหารสินทรัพย์มากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังเตรียมขายอสังหาริมทรัพย์อย่างคอมเพล็กซ์สำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ในราคาส่วนลด 30% จากราคาเดิมที่เคยซื้อเมื่อปี 2561
และไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนในจีนกำลังหาสินทรัพย์นอกตลาดที่มีมูลค่าส่วนลด 30-60% ซึ่งต่างจากในสหรัฐและยุโรปที่มองหาส่วนลดราว 15% สะท้อนว่านักลงทุนมองสินทรัพย์ในจีนที่สถานะเสี่ยงกว่า
2. วิกฤติหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีน โดยในช่วงเดือน พ.ย. 2566 หนี้ที่ไม่ได้รวมส่วนของสถาบันการเงินได้พุ่งแตะระดับ 294% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากราว 160% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
3. ความเสี่ยงด้านสุขภาพธนาคารพาณิชย์จีน จากกรณีธนาคารกลางจีนตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีหลัง จนทำให้ในช่วงเดือน ก.ย. 2566 ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin หรือ NIM) หรือเป็นตัวบ่งชี้กําไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือเพียง 1.73% จาก 1.8% ที่เป็นระดับจำเป็นสำหรับการสร้างผลกำไรอย่างเหมาะสม นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางจีนไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในครั้งล่าสุด
ที่ผ่านมา จีนพยายามจัดการวิกฤติด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 5 ล้านล้านบาทเมื่อเดือน ต.ค. 2566 เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงล่าสุดก็เตรียมเงินสูงถึง 2 ล้านล้านหยวนหรือราว 10 ล้านล้านบาทเพื่อช้อนซื้อหุ้นจีนให้ราคากลับมา
- ความเสี่ยง “ฮ่องกง” อยู่ขั้นไหนเมื่อเทียบไทยช่วง 40
ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งไทยเวลานั้น ในเดือน ก.ค. 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจาก “คงที่” เป็นอัตรา “ลอยตัว” เพราะสู้สงครามการเงินกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่กำลังตีค่าเงินบาทไม่ไหว ส่งผลให้ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย จาก 696.22 จุด ลงแรงมาแตะที่ระดับ 204.59 จุดในเดือน ก.ย. 2541 ซึ่งนับเป็นการร่วงลงถึงกว่า 70.614% ก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในเวลาต่อมา
- ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย (เครดิต: TradingView) -
ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง (HSI) หากนับที่จุดสูงสุดของดัชนีหลังปี 2562 ที่พบการระบาดโควิด-19 ครั้งแรกในจีน จะพบว่า จุดสูงสุดของดัชนีอยู่ในปี 2564 ที่ราว 31,180 และในปัจจุบัน (ช่วงปิดตลาดของวันที่ 30 ม.ค. 2567) ดัชนีอยู่ที่ 15,703.45 หรือร่วงลงราว 49.6% จากระดับสูงสุด
- ดัชนีฮั่งเส็ง (เครดิต: TradingView) -
ส่วนการล้มของภาคอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน หลังจากเกิดวิกฤติการเงิน 2540 ในไทย รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 58 แห่ง และมีธนาคารพาณิชย์ที่ล้มหายไป 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ธนาคารศรีนคร ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร และธนาคารนครหลวงไทย
ขณะที่จีน นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติอสังหาริมทรัพย์เป็นต้นมา บริษัทสำคัญที่มีปัญหาได้แก่
Country Garden (คันทรี การ์เดน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ผิดนัดชำระดอกเบี้ยพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์จำนวน 15.4 ล้านดอลลาร์ หรือราว 545 ล้านบาท ในช่วงเดือน ต.ค. 2566
ธนาคารเงา “จงจื่อ” ได้ยื่นล้มละลายในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2567 หลังจากที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยธนาคารมีหนี้สินราว 4.2 - 4.6 แสนล้านหยวน หรือราว 2.1 - 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ 2 แสนล้านหยวน หรือราว 1 ล้านล้านบาท
และล่าสุด Evergrande ที่มีหนี้สินรวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10.5 ล้านล้านบาท ถูกศาลฮ่องกงสั่งให้ขายสินทรัพย์มาชำระหนี้และเลิกกิจการ
ดังนั้น เป็นที่ติดตามต่อว่า รัฐบาลจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์หนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ให้เกิดกรณีอย่าง Evergrande ซ้ำสองหรือซ้ำสาม จนลุกลามกลายเป็นโดมิโนได้หรือไม่ เพื่อเร่งเสริมเกราะทางการเงิน และป้องกันการฉวยโอกาสจากกองทุนต่างชาติที่อาจเข้าโจมตีค่าเงินหยวนในช่วงนี้
แน่นอนว่า การโจมตีค่าเงินจีนไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะจากข้อมูลของธนาคารประชาชนจีน (ธนาคารกลางจีน) ระบุไว้ว่า ในเดือน ธ.ค. 2566 จีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 3.238 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 114.4 ล้านล้านบาท แต่ด้วยปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่ดูจะทำให้ศึกนี้ยืดเยื้อยาว รวมถึงเหล่านักลงทุนต่างทยอยถอนเงินจากตลาดหุ้นจีน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อาจประมาทได้ และควรเร่งฟื้นความเชื่อมั่นอย่างเร็วที่สุด
อ้างอิง: bloomberg, trading, setinvest, bangkok, bbc, bot