'Nippon Steel' เดินหน้าซื้อ 'U.S. Steel' ชี้ช่วยเสริมแกร่งศก.สหรัฐสู้กับจีน
"Nippon Steel" ยันเดินหน้าดีลเทคโอเวอร์ "U.S. Steel" ต่อไป ถึงแม้ "โจ ไบเดน" แสดงความกังวล ยันหากบรรลุข้อตกลงได้ จะช่วยเสริมแกร่งให้ซัพพลายเชนและเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อรับมือกับจีน
KEY
POINTS
- ปธน.โจ ไบเดน แสดงความกังวลต่อข้อเสนอซื้อกิจการยูเอส สตีลของนิปปอน สตีล เพราะอยากให้ยูเอส สตีลยังเป็นของทุนอเมริกันต่อไป
- นิปปอน สตีล ยืนยันจะเดินหน้าเข้าซื้อกิจการยูเอส สตีลต่อไป และดีลเทคโอเวอร์นี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนและเศรษฐกิจของสหรัฐในการต่อสู้กับจีนด้วย
- ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นให้คำมั่นจะอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติม 1,400 ล้านดอลลาร์ และจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานหรือปิดโรงงาน ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2569 เป็นอย่างน้อย
อนาคตธุรกิจของ “U.S. Steel” หรือบริษัทยูไนเต็ด สเตทส์ สตีล คอร์ป (ยูเอส สตีล) ผู้ผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของสหรัฐยังไม่มีความแน่นอน ถึงแม้ “Nippon Steel” หรือบริษัทนิปปอน สตีล คอร์ป ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่นเสนอซื้อกิจการมูลค่า 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ดูเหมือนรัฐบาลของ “โจ ไบเดน” ไม่ต้องการให้ธุรกิจอเมริกันตกเป็นของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม นิปปอน สตีล ออกแถลงการณ์ล่าสุดในวันนี้ (15 มี.ค.) ว่า บริษัทจะเดินหน้าเข้าซื้อกิจการยูเอส สตีลต่อไป และดีลเทคโอเวอร์นี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนและเศรษฐกิจของสหรัฐในการต่อสู้กับจีนด้วย
“ไม่มีบริษัทเหล็กสหรัฐรายใดที่สามารถรับมือความท้าทายนี้ (แข่งขันกับจีน) ได้ด้วยตัวเอง ไปพร้อมกับการทำตามข้อกำหนดต่อต้านการผูกขาดการค้า” นิปปอน สตีลระบุ “บริษัทฯ ถือเป็นพันธมิตรที่เหมาะสม ในการรับประกันว่ายูเอส สตีลจะประสบความสำเร็จไปอีกหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นบริษัทอเมริกันระดับตำนาน”
แถลงการณ์ของนิปปอน สตีล มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ แสดงความกังวลเมื่อวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) ว่า เขาปรารถนาให้ยูเอส สตีลยังเป็นของทุนอเมริกันต่อไป
นอกจากนี้ นิปปอน สตีลยังให้คำมั่นว่า บริษัทยืนยันข้อเสนอก่อนหน้านี้ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติม 1,400 ล้านดอลลาร์ และให้คำมั่นต่อสหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐ (USW) ว่าจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานหรือปิดโรงงาน ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2569 เป็นอย่างน้อย
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แม้ว่าผู้นำสหรัฐไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าเขาจะขัดขวางการเทคโอเวอร์ดังกล่าว แต่ความเห็นของเขาเมื่อวานนี้นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะเข้ามาแทรกแซงข้อตกลงทางธุรกิจ เว้นแต่จะเป็นช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่านิปปอน สตีลจะยืนยันหนักแน่นในการควบรวมกิจการกับยูเอส สตีล แต่ความเสี่ยงที่จะเผชิญการต่อต้านจากทำเนียบขาวอาจทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกัน สหรัฐยังเสี่ยงที่จะบั่นทอนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรรายสำคัญอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น มีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดกับปธน.ไบเดน ณ กรุงวอชิงตันในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ซึ่งจะมีประเด็นด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นวาระสำคัญในการประชุม แต่ปัญหาเรื่องดีลซื้อกิจการยูเอส สตีล อาจทำลายบรรยากาศในการประชุมไม่มากก็น้อย
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเลี่ยงแสดงความคิดเห็นต่อถ้อยแถลงของปธน.ไบเดน พร้อมระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นในปัจจุบันเหนียวแน่นกว่าที่เคย
“ผมจะงดให้ความเห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแบบเฉพาะเจาะจง แต่ความเป็นพันธมิตรสหรัฐ-ญี่ปุ่นนั้นแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา และทั้งสองประเทศจะยังคงร่วมมือกันเพื่อการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิกที่ยั่งยืนและครอบคลุม” โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงในวันนี้
ขณะที่ความเป็นไปได้ที่คู่แข่งในประเทศรายสำคัญอย่าง “คลีฟแลนด์-คลิฟส์ อิงค์” (Cleveland-Cliffs Inc.) จะเข้าซื้อกิจการของยูเอส สตีลนั้น ลอเรนโก กอนซาลเวส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทกล่าวเมื่อวานนี้ว่า เขาจะพิจารณายื่นข้อเสนอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน ถึงแม้จะมีราคาต่ำกว่าข้อเสนอของนิปปอน สตีลอย่างมากก็ตาม
ทั้งนี้ ยูเอส สตีลได้ปฏิเสธข้อเสนอรอบก่อนหน้านี้ของคลีฟแลนด์-คลิฟส์ไปแล้ว